‘ร.ฟ.ท.’เพิ่มมูลค่าใช้งาน'รางรถไฟ'

‘ร.ฟ.ท.’เพิ่มมูลค่าใช้งาน'รางรถไฟ'

ร.ฟ.ท.เล็งเปิดพีพีพีดึงเอกชนร่วมเดินรถขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า หวังบริหารจัดการสล็อตใช้รางอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้ - ลดภาระการลงทุน ด้านกรมการขนส่งทางราง จ้างทีดีอาร์ไอศึกษาแผนการใช้ประโยชน์จากราง

 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายที่จะเร่งรัดพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ ให้มีการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟที่มีอยู่ของ ร.ฟ.ท.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งยังเป็นการเร่งลดต้นทุนการขนส่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอกชนไทย และลดภาระการลงทุนของ ร.ฟ.ท. ที่ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด

 

ขณะนี้ ร.ฟ.ท.จึงมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเดินรถขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า ในรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยให้เอกชนจัดหาขบวนรถเข้ามาร่วมให้บริการขนส่ง ผ่านการเช่ารางรถไฟจาก ร.ฟ.ท. เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟให้มากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันความสามารถในการใช้รางรถไฟ หรือ สล็อต (slot) ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่

 

“ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมว่าจะเปิดพีพีพีรูปแบบใด แต่รัฐจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และการรถไฟฯ ไม่เคยทำมาก่อนจึงต้องศึกษาข้อมูลด้วยความละเอียดรอบคอบ”

 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ ขร.ทำการศึกษาวิจัย และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคู่ขนานไปกับการศึกษาของ ร.ฟ.ท.โดยมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการให้บริการใหม่ๆ รวมทั้งยังเป็นการหารายได้ให้กับ ร.ฟ.ท.โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

 

ซึ่งล่าสุด ขร.ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางรถไฟมาที่สนใจจะเข้ามาเดินรถเข้ามาหารือ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางในระยะสั้น เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม โดยเบื้องต้นมีแนวทางการสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถในระยะสั้น คือ 1.รวบรวมสล็อตที่เหลืออยู่ของ ร.ฟ.ท.ในขณะนี้ นำมาเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

 

2.ระหว่างที่ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้ ร.ฟ.ท. ต้องดำเนินการปรับปรุงแบบการให้บริการ โดยส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงการจัดหาขบวนรถ เพื่อประกอบการในลักษณะการจ้างวิ่งในรูปแบบ PPP Gross Cost ทดแทนการลงทุนจาก ร.ฟ.ท. ด้วยตนเองในเส้นทางที่มีศักยภาพ และ 3. เร่งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ รฟท. เพื่อให้เอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สามารถเข้ามาเดินรถเพื่อขนส่งสินค้า

 

“กรมฯ ได้ให้ทีดีอาร์ไอ ช่วยศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง เพื่อจัดทำข้อมูลและร่างกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง รวมได้หารือเรื่องการใช้ประโยชน์จากรางร่วมกับการรถไฟฯ แล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดพีพีพี และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ”