‘อีไอซี’ห่วงแนวโน้ม‘ส่งออก’ทรุดเกินคาด

‘อีไอซี’ห่วงแนวโน้ม‘ส่งออก’ทรุดเกินคาด

ส่งออกเดือน ส.ค. กลับมาหดตัว -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย “อีไอซี” คาดทั้งปี 2019 การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ที่ -2.0%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเดือน ส.ค. 2019 พลิกกลับมาหดตัวที่ -4.0% จากการหดตัวของสินค้ารถยนต์ คอมพิวเตอร์ ข้าว และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

สินค้านำเข้าหดตัวที่ -14.6% เป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยการหดตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า

สงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ การประท้วงในฮ่องกง และความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกไม่รวมทองคำที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกปี 2019 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ที่ -2.0%

Key points

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ส.ค. 2019 โดยรวมหดตัวที่ -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YOY) แต่หากหักทองคำ การส่งออกหดตัวถึง -9.8%YOY สำหรับในช่วง 8 เดือนของปี 2019 มูลค่าการส่งออก (หักมูลค่าการส่งกลับอาวุธในเดือนกุมภาพันธ์) หดตัวที่ -3.3%YOY และหากหักทองคำจะหดตัวที่ -5.3%YOY

หลายสินค้าส่งออกสำคัญยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง และหดตัวในเกือบทุกตลาด

  • สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-12.6%YOY) ข้าว (-44.7%YOY) เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-10.5%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-6.9%YOY) แผงวงจรไฟฟ้า (-14.3%YOY) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (-40.0%YOY) เม็ดพลาสติก (-18.3%YOY) และเคมีภัณฑ์ (-22.2%YOY) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2019 หดตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (ประมาณ -20%)
  • ตลาดส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ อาเซียน-5 (-24.6%YOY) CLMV (-22.7%YOY) อินเดีย (-18.0%YOY) EU15 (-6.2%YOY) จีน (-2.7%YOY) ฮ่องกง (-6.5%YOY) ญี่ปุ่น (-1.2%YOY) เกาหลีใต้ (-6.5%YOY) อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ที่ 5.8%YOY

สินค้านำเข้าหดตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2018 ขยายตัวมากถึง 22.2%YOY จึงเป็นฐานที่สูงเมื่อเทียบกับมูลค่านำเข้าในเดือน ส.ค. ปีนี้ ซึ่งหดตัวมากถึง -14.6% นับเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีการหดตัวมากที่สุด

ที่ -27.7%YOY ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวรองลงมาที่ -7.9%YOY ในส่วนของสินค้าหมวดอื่น ๆ ได้แก่ เชื้อเพลิง อุปโภคบริโภค และยานพาหนะ หดตัวที่ -0.8%YOY -0.9%YOY และ -0.4%YOY ตามลำดับ

Implication

จากตัวเลขการส่งออกล่าสุด (ไม่รวมทองคำ) ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับหลายปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย ทำให้อีไอซีคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ -2.0% เล็กน้อย โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะหดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นเดือน ก.ย. ที่มูลค่าส่งออกอาจพลิกกลับมาเป็นบวกได้เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน (ติดตามผลประมาณการเศรษฐกิจอย่างละเอียดของอีไอซีได้ใน Outlook ณ ไตรมาส 4 ที่จะเผยแพร่ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2019 นี้) ทั้งนี้ปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป มีดังนี้

1) ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีทีท่ายืดเยื้อ จากสถานการณ์ล่าสุด สหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพิ่มเติมของสินค้าจีนมูลค่า 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 10% เป็น 15% ในวันที่ 1 ก.ย. 2019 ที่ผ่านมา และยังมีแผนปรับเพิ่มภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนอีก 2 ช่วง คือวันที่ 15 ต.ค. 2019 จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 25% เป็น 30% และวันที่ 15 ธ.ค. 2019 จะเพิ่มภาษีสินค้าจีนมูลค่า 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 10% เป็น 15% โดยยังต้องติดตามผลการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2019 ว่าจะมีทิศทางอย่างไร แต่ในเบื้องต้นทางอีไอซีคาดว่าจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งกันได้จากการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้การปรับขึ้นภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตจีนไปยังสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัว -15.1% 8M/YTD) แผงวงจรไฟฟ้า (หดตัว -28.3% 8M/YTD) เคมีภัณฑ์ (หดตัว -30.4% 8M/YTD) ยางพารา (หดตัว -13.1% 8M/YTD) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (หดตัว -22.4% 8M/YTD)

2) เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่อาจทำให้การส่งออกไทยไปฮ่องกงได้รับผลกระทบ โดยการประท้วงที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2019 ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวที่ -0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับผลทางฤดูกาล (QoQ_sa) และล่าสุดการประท้วงยังคงยืดเยื้อต่อไป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในฮ่องกงเดือน ส.ค. 2019 หดตัวกว่า -40%YOY ซึ่งการท่องเที่ยวของฮ่องกงนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีสัดส่วนถึง 19.2% ต่อ GDP ดังนั้นจึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะได้รับผลกระทบจากการประท้วงต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของไทย อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกสินค้าไทยไปยังฮ่องกง โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังฮ่องกง 5 อันแรกได้รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์และพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง

3) ประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่นำมาสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ โดยความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการพึ่งพาระหว่างกันค่อนข้างมาก (เกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกอันดับสามของญี่ปุ่นโดยมีสัดส่วน 7.1% ของมูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของเกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วน 5.1% ของมูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ทั้งหมด) ทั้งนี้ในส่วนของไทย ทั้งสองประเทศนับเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้นการที่เศรษฐกิจของทั้งคู่มีแนวโน้มชะลอลงจากความขัดแย้ง จึงอาจทำให้การส่งออกของไทยไปทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบไปด้วยในระยะต่อไป

ในส่วนของเหตุการณ์โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดีอาระเบียที่อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

มีแนวโน้มส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยบางส่วนไปยังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จากการศึกษาของอีไอซี พบว่าการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับทิศทางราคาน้ำมัน  (รูปที่ 3) โดยมูลค่าส่งออกไปยังคู่ค้าของไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนประมาณ 10% ต่อการส่งออกทั้งหมด และมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ทิศทางการส่งออกไปยังคู่ค้าที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันที่มีสัดส่วนถึง 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

อีไอซีไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับทิศทางราคาน้ำมัน ดังนั้น หากราคาน้ำมันมีการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ในซาอุดีอาระเบีย ก็อาจส่งผลดีเพิ่มเติมบางส่วนต่อการส่งออกไปประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันในระยะต่อไป