หุ่นยนต์ฝึกเดิน เทคโนโลยีล่าสุดที่ รพ.ประสาทเชียงใหม่ 

หุ่นยนต์ฝึกเดิน เทคโนโลยีล่าสุดที่ รพ.ประสาทเชียงใหม่ 

กรมการแพทย์นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขสันหลังบาดเจ็บ เด็กสมองพิการ เป็นต้น ทำให้กลับมาเดินได้เองมากกว่ากายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียวและการยืนการทรงตัวของผู้ป่วยดีขึ้น

        ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการเจ็บป่วยจากโรคทางระบบประสาท  ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในเขตภาคเหนือมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองสูงเป็นอันดับ 1 จาก 5 อันดับของโรคทางระบบประสาทและเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการแพทย์มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทางระบบประสาท จึงมอบนโยบายให้กรมการแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์มาปฏิรูประบบการทำงานของโรงพยาบาล โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI) ช่วยในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค สร้างเครือข่ายการรักษาและให้บริการเฉพาะด้านครบวงจรให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างเท่าเทียม ลดภาระการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและลดความแออัดในโรงพยาบาล

                  นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากนโยบายที่ได้รับมอบหมายกรมการแพทย์โดยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดิน (Robotic Gait Training) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องแรกในภาคเหนือ ช่วยในการฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่มีการอ่อนแรงของแขน ขา ยืน เดิน เคลื่อนไหวลำบาก  เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก โรคไขสันหลังบาดเจ็บระดับเอว หรือกรณีไขสันหลังบาดเจ็บระดับคอ ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เป็นต้น 

หลักการทำงานของหุ่นยนต์ฝึกเดินจะเน้นการเคลื่อนไหวของขาโดยการเดินและควบคุมกล้ามเนื้อในรูปแบบที่ให้ทำซ้ำ ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจเกิดการเรียนรู้ การก้าวเดินของขาทั้ง 2 ข้าง จะเป็นไปในรูปแบบที่ถูกต้องคล้ายธรรมชาติ  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยฝึกเดินได้นานขึ้นเมื่อเทียบกับการฝึกเดินแบบปกติ ทั้งนี้การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดินร่วมกับการฝึกทางกายภาพบำบัด มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับมาเดินได้เองมากกว่าการฝึกทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียวและทำให้การทรงตัวดีขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ มีผลทำให้การทรงตัวในการยืนและการย้ายตัวของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งกรมการแพทย์โดยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและรับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน