โรคหัวใจแต่กำเนิดรักษาได้

โรคหัวใจแต่กำเนิดรักษาได้

ประเทศไทยมีทารกแรกเกิด7แสนรายต่อปี 1 % หรือประมาณ7,000 รายต่อปี จะมีความผิดปกติที่โครงสร้างหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหัวใจแต่กำเนิด 1 ใน 4 ของกลุ่มที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดจะต้องการผ่าตัดหรือรักษาด้วยการสวนหัวใจ

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล(มม) จึงได้เปิดตัวโครงการ “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดครั้งที่ 2” ภายใต้แนวคิด“Blooming the Blue Babies” หัวใจใสใส..ไม่สิ้นสุด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมทางฝัน ที่ก่อตั้งโดย บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)ไปเมื่อวานนี้(18ก.ย.) 

พญ.อลิสา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มม กล่าวว่า “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2 ”นี้ ทีมแพทย์ที่มีความพร้อมทำงานร่วมกัน ตั้งแต่สูติแพทย์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก วิสัญญีแพทย์และทีมดูแลผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงอายุรแพทย์โรคหัวใจที่มีความชำนาญในการรักษาผ่านท่อสวนหัวใจ รวมทั้งมีทีมแพทย์ที่สามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดผ่านท่อสายสวนหัวใจในตำแหน่งของหัวใจทั้ง 4 ลิ้น เป็นสถาบันแรกและสถาบันเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล เพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดของทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่แรกคลอด จนถึงวัยเด็กและเจริญเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่

โดยค่ายดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโรคหัวใจและการปฎิบัติที่ถูกต้อง ให้แก่เด็กที่เป็นโรคหัวใจ และผู้ปกครอง โดยทีมแพทย์จะเป็นผู้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมแก่เด็ก พร้อมได้ออกแบบสมุดบันทึกหรือเรียกว่า health passport สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด เพื่อเป็นการบันทึกประวัติผู้ป่วยส่วนตัว ดังนั้น อยากให้ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ที่ชั้น 9 อาคารเรียนรวมและปฎิบัติการทางการแพทย์และโรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขณะนี้สามารถตรวจพบโรคหัวใจแต่กำเนิดได้ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ 17-20 สัปดาห์ โดยฟังเสียงหัวใจจากการอัลตราซาวด์ในครรภ์ และทำการรักษาเมื่อเด็กคลอดออกมา แต่ถ้าอาการของเด็กในครรภ์มีความผิดปกติมากจนมีโอกาสเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้ยุติการตั้งครรภ์ จะแนะนำให้พ่อแม่ยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ยุติการตั้งครรภ์ก็จะดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์ไปจนคลอด และเติบโต เป็นผู้ใหญ่ เพราะการรักษาดูแลของแพทย์นั้นต้องมุ่งรักษาคนไข้ให้มีอายุยืนยาว และสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

โดยมีแพทย์โรคหัวใจเด็กทั้งประเทศ ประมาณ 100 คน แพทย์ผ่าตัดโรคหัวใจเด็ก 20 คน และในแต่ละปีมีเด็กที่ต้องผ่าตัดเกี่ยวกับโรคหัวใจ 3,500 คน การสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดต้องใช้ทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมต้องสร้างกิจกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองอันนำไปสู่การปฎิบัติตัว และการเตรียมพร้อมให้แก่เด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด

Heart-picture

“ทารกแรกเกิดที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด จะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจและการทำงานของหัวใจ ซึ่งเด็กจะมีอาการเหนื่อยง่าย ทานนมไม่ได้ และมีภาวะตัวเขียว โดยสามารถแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภาวะหัวใจเขียว ซึ่งถือว่ามีความซับซ้อน และกลุ่มโรคหัวใจไม่เขียว การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด โดยเฉพาะเด็กต้องรักษาดูแลแบบองค์รวม ทีมแพทย์ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งการผ่าตัดและสวนหัวใจในวัยเด็กและคนไข้ส่วนหนึ่งต้องรักษาต่อเนื่องอาจจะมีการผ่าตัดหลายครั้ง และเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็ต้องดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง จนโตเป็นผู้ใหญ่ต้องได้รับการติดตาม ดูแล เพื่อให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”พญ.อลิสา กล่าว

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นการนำกำไรจากการขายโครงการบ้านร่วมทางฝัน 3 จำนวน 40 ล้านบาท มอบให้โรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดอย่างครอบคลุมตั้งแต่โครงการสนับสนุนแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมประชุมนานาชาติ

รวมถึงการจัดค่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด เพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคหัวใจแก่ผู้ป่วยที่เป็น และการปฎิบัติเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจและการดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีหลายกรณีผ่าตัด เช่นการผ่าตัดใหญ่เปิดแผลที่กลางหน้าอก เพื่อปิดผนังที่รั่วหรือซ่อมลิ้นหัวใจที่รั่วใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือด มีอุปกรณ์พิเศษเข้าไปปิดผนังรั่วโดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ การเปลี่ยนหัวใจเทียมทำได้โดยเปิดแผลกลางออกแล้วตัดลิ้นหัวใจเดิมออก เปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่ใส่เข้าไป

นอกจากนี้ยังมีวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยการเปิดแผลบริเวณหลอดเลือดที่เชื่อมกับลิ้นหัวใจ จากนั้นเอาใส่เข้าไปในหลอดเลือด นำขดลวดเข้าไปบริเวณลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจล่างขวาและปอด ก็สามารถทำงานได้ตามปกติ รวมทั้งการใส่ลิ้นหัวใจเทียมโดยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดซึ่งช่วยลดความเสี่ยงได้ดี ฟื้นตัวได้เร็ว