พลิกปูม ‘กรณ์-ชัชชาติ’ คนเคยอกหักจากพรรคใหญ่?

พลิกปูม ‘กรณ์-ชัชชาติ’ คนเคยอกหักจากพรรคใหญ่?

แม้ว่าทั้ง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรมว.คมนาคม และ "กรณ์ จาติกวณิช" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า กำลังซุ่มจับมือกันตั้งพรรคใหม่และเตรียมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ

แต่ที่ผ่านมาหลังอกหักจากตำแหน่งสำคัญในพรรคตัวเอง ก็มีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของทั้งคู่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในวันนี้ (17 ก.ย.) กรณ์ ได้โพสต์ปฏิเสธข่าวนี้ผ่านโซเชียลมีเดียทั้งบนเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ของตนว่า "วันนี้มี ข่าว ผมจะตั้งพรรคกับคุณชัชชาติ ผมต้องขอโทษเพื่อนๆ สื่อมวลชนที่พยายามติดต่อเข้ามาสอบถาม ผมขอชี้แจงทางนี้สั้นๆนะครับว่า.. ผมเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และตราบใดที่ยังอยู่ในสถานะนี้ ผมจะทำหน้าที่ในสภาฯ อย่างเต็มที่ และยังไม่มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่กับใครครับ"

ด้าน ชัชชาติ ก็ออกมาชี้แจงทั้งบนเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ของตนเช่นกันว่า "ที่มีข่าวว่าผมจะตั้งพรรคใหม่นั้นไม่จริงนะครับ ผมไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย ตอนนี้คิดแต่จะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาของคนกรุงเทพได้ดีที่สุดครับ"

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งคู่ซึ่งต่างมีประวัติและดีกรีทางการเมืองไม่แพ้กัน ก็ตกเป็นข่าวเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของตนอยู่บ่อยครั้ง

ย้อนไปช่วงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์ เมื่อเดือน พ.ค. กรณ์ลงสมัครเป็น 1 ใน 4 ผู้ท้าชิงตำแหน่งนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าเขาได้คะแนนเสียงจากสมาชิกพรรคเป็นอันดับ 3 เพียง 8.4% เทียบกับผู้ชนะอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ได้คะแนนถึง 50.5%

ในการตอบคำถามก่อนลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนั้น กรณ์บอกว่า ที่ตัดสินใจลงสมัครเพราะอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงและกลับมาเป็น “ที่พึ่งหวังของประชาชน” อีกครั้ง แต่จากผลที่ออกมาก็ชัดเจนว่า อดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คน คือ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สนับสนุนจุรินทร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ของพรรคไม่ได้มองโจทย์ของพรรคตรงกับกรณ์ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงพรรคต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในเดือน มิ.ย. หลังจากมีการจัดคณะรัฐมนตรีและเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เกิดเครื่องหมายคำถามอีกครั้ง เพราะไม่ปรากฏชื่ออดีตขุนคลังยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งในคณะรัฐมนตรีโควตาประชาธิปัตย์ และทีมเศรษฐกิจของพรรคเองซึ่งสุดท้ายตั้ง ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานคณะทำงาน

หลังเจอเหตุการณ์เหล่านี้ เมื่อถูกสื่อถามถึงอนาคตกับพรรคประชาธิปัตย์ กรณ์ได้พูดแบบมีนัยว่า "จะตอบให้โลกสวยก็ได้ว่าจะอยู่กับ ปชป.ตลอดไป แต่ในความเป็นจริงต้องดูว่า อุดมการณ์ แนวทางการเมืองของพรรคในอนาคตจะเป็นอย่างไร คือถ้าไม่ตรงกัน หรือ พรรคไม่ต้องการเราก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะเราคิดว่าเรายังสามารถทำงานได้ เรายังสามารถทำงานให้ประเทศชาติได้มากกว่านี้ ถ้าเราอยู่ที่อื่นอันนี้ก็ต้องพิจารณา เพราะตอนนี้อายุ 55 ปี คงมีเวลาทำงานอีกอย่างน้อย 10 ปี"

ที่ผ่านมา กรณ์เคยเป็นทั้งรองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค แต่ปัจจุบันเขาเหลือเพียงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเจ้าตัวประกาศไว้แล้วว่าจะทำหน้าที่ ส.ส.เพียงอย่างเดียวในขณะที่พรรคเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพร้อมสนับสนุนการทำงานของทีมเศรษฐกิจของพรรคเต็มที่

10585556938201

ขณะที่ชัชชาติ ผู้ที่ชาวเน็ตตั้งฉายาว่า “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” แสดงความพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งโดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คช่วงก่อนสิ้นปีที่แล้วว่า "วันนี้ (หมายถึงวันที่ 28 ธันวาคม ที่โพสต์ข้อความ) เป็นวันสุดท้ายที่ผมทำงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ครบวาระหลังจากทำงานมา 4 ปีเต็ม ขอบคุณอดีต สำหรับทุกๆ บทเรียน / สวัสดีอนาคต ผมพร้อมแล้ว"

แต่หลังจากนั้นก่อนถึงการเลือกตั้ง 1 เดือน เกิดการพลิกโผขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปรากฏว่าไม่มีชื่อของชัชชาติรวมอยู่ด้วย โดยพรรคให้เหตุผลว่า เจ้าตัวประสงค์จะช่วยงานบริหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ชัชชาติยังคงเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติศิริ อดีต รมว.ยุติธรรม

ทว่าเมื่อถึงเวลารวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยรวมเสียงข้างมากไม่สำเร็จแม้มีส.ส.มากที่สุด จึงต้องเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ และพันธมิตรรวมถึงพรรคเสรีรวมไทย

จากนั้น พรรคเพื่อไทยกลับตัดสินใจไม่เสนอชื่อแคนดิเดตของตน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือชัชชาติ แล้วหันไปสนับสนุน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นแคนดิเดตนายกฯของฝ่ายค้าน เพื่อแข่งขันกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และส.ว.อีก 250 เสียงถ้วน ระหว่างการลงมติเลือกตั้งนายกฯ ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาดคือ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสียงสนุนขาดลอย

การเดินหมากครั้งนั้นของเพื่อไทย นอกจากทำให้ชัชชาติพลาดหวังเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังทำให้เขาไม่มีทั้งที่นั่งและที่ยืนในสภาเลย

หลังจากนั้น ชัชชาติยังเคลื่อนไหวในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในปีหน้า ล่าสุด ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกกลุ่ม “กรุงเทพที่ดีกว่าเดิม” เผยว่า กลุ่มฯให้การสนับสนุนชัชชาติ ที่ตัดสินใจจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ เพราะต้องการร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วน ให้ทุกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน โดยจะทำงานอย่างอิสระจริง ๆ ไม่มีพรรคอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าท่าทีล่าสุดจากพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ชัดเจน หลังจาก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค เผยวันนี้ว่า ต้องรอความชัดเจนเรื่องช่วงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่นจากรัฐบาล จึงยังไม่มีการพิจารณาตัวผู้สมัครในนามพรรคและส่วนตัวก็ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับชัชชาติ

หากประเมิน ..หน้าม่านการเมือง "ชัชชาติ" ยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย และไม่แสดงตัวเป็นเป็นคู่ขัดแย้งกับพรรคฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน ในขณะที่ "กรณ์" มีหมวกส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่บทบาทในพรรคเก่าแก่ดูไม่สดใส แต่ก็พยายามเสนอทัศนะผ่านเวทีสภาและสื่อโชเชียลเป็นระยะ เสมือนสร้างพื้นที่ให้ตัวเองเพื่อทางเลือกในอนาคต

แน่นอนว่า "หลังม่านการเมือง" ความเคลื่อนไหวทั้ง "ชัชชาติ-กรณ์" คนเคยเป็นดาวรุ่งของ 2 พรรคใหญ่ เคยเป็นแคนดิเดตผู้นำแต่กลับต้องอกหัก! เพราะสถานการณ์ภายในพรรคไม่เป็นใจ ดังนั้น "การพูดคุยหรือเสนอทางเลือก" จึงมีร่องรอยของคนใกล้ชิดขยับก้าวของ "พรรคพวกทางเลือกใหม่" อย่างน่าสนใจยิ่ง!!