‘ปากีสถาน’แหล่งสืบทอดตำนานพุทธศาสน์

‘ปากีสถาน’แหล่งสืบทอดตำนานพุทธศาสน์

ขึ้นชื่อว่าเป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ 99.99% ต้องรู้จัก “มิลินทปัญหา” การสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) กษัตริย์เชื้อสายกรีกกับพระนาคเสน แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า ฉากการสนทนาอยู่ที่ “ปากีสถาน”

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังสารคดี “ชายจากคันธาระ” (The man of Ghandara) ส่วนหนึ่งของสารคดีเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อเดือน ก.ค. เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปยังปากีสถาน 4 ครั้ง ในงาน Discover Pakistan From the Buddhist Trails to the Scenic Mountains เมื่อวันก่อน ให้คนไทยได้รู้จักกับประเทศนี้ในอีกมุมที่ไม่เคยสัมผัสกันมาก่อน

“หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องไปถ่ายทำสารคดีที่ปากีสถาน ประเทศนี้มีสถานที่มรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และยังรักษาไว้ได้อย่างดี”

ระหว่างถ่ายทำสารคดีสุดแดนได้เดินทางไปที่ตักศิลา เปชวาร์ และหุบเขาสวัต ทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่สำคัญของอาณาจักรคันธาระ แต่ชื่อที่คนไทยคุ้นมากที่สุดคือตักศิลา เมืองหลวงของอาณาจักร ในนิทานหรือตำนานไทยกษัตริย์หรือเจ้าชายต้องไปเล่าเรียนที่ตักศิลา ที่นี่เป็นแหล่งความรู้สำคัญช่วงต้นพุทธกาล ผู้จบจากตักศิลาที่คนไทยคุ้นเคยมีทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศล ชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์คนสำคัญในสมัยพระพุทธเจ้า และองคุลีมาล

เปชวาร์ หรือ ชื่อในภาษาสันสกฤต “บุรุษปุระ” เป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญของอาณาจักรคันธาระ ตั้งอยู่ชายแดนอัฟกานิสถาน บนเส้นทางช่องเขาไคเบอร์ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพเข้ามาพิชิตดินแดนแถบนี้ เปชวาร์เป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดำรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนหุบเขาสวัตแม้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่คนไทย แต่ที่นี่มีความสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ 1) เป็นดินแดนของชาวปาทาน กลุ่มชาติพันธุ์สำคัญของปากีสถาน ในประเทศไทยมีชาวปาทานอาศัยอยู่มากพอสมควร 2) เป็นพื้นที่ที่มีมรดกวัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

ภิกษุจีนที่เคยแสวงบุญมาที่หุบเขาสวัตไม่ว่าจะเป็นพระถังซำจั๋งหรือพระฟาเหียน เคยบรรยายไว้ว่า ที่นี่มีพระสงฆ์หลายพันรูป ลุ่มน้ำสวัตมีอารามทางพุทธศาสนาหลายพันแห่ง ปัจจุบันยังมีหลักฐานเหล่านี้หลงเหลือให้เห็น

ความสำคัญของคันธาระอีกประการหนึ่งคือ ในสมัยของพระเจ้าเมนันเดอร์ได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน เป็นที่มาของ “มิลินทปัญหา” คัมภีร์ทางศาสนาฉบับสำคัญ การสนทนาธรรมครั้งนี้ทำให้พระเจ้าเมนันเดอร์ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

“และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นี่คือการเผชิญหน้ากันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก ความคิดตะวันตกของกรีกและโรมันนั้นเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นตัวตนของคน ขณะที่ความคิดตะวันออกของพระนาคเสนเชื่อเรื่องการละตัวตน” สุดแดนกล่าวพร้อมเสริมว่า การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธรูปคันธาระ พระพุทธเจ้าปรากฏเป็นรูปเคารพครั้งแรกในโลก จากนั้นเผยแพร่ไปในจีน ญี่ปุ่น

เหล่านี้คือความสำคัญของคันธาระที่คนไทยควรไปเรียนรู้จากปากีสถาน ที่สามารถรักษามรดกวัฒนธรรมพุทธไว้ได้เป็นอย่างดี

แม้วันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปากีสถานดูไม่คุ้นเคยกันนัก แต่ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนปากีสถาน เป็นการเยือนครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งในปี 2565 จะครบรอบ 60 ปีการเสด็จเยือน ช่วง 3 ปีที่จะถึงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนไทยกับชาวปากีสถานจะได้เดินทางแลกเปลี่ยนและรู้จักกันมากขึ้น

สำหรับสุดแดนนั้น การได้ไปปากีสถานทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เห็นความสำคัญของปากีสถานมากขึ้นว่า คนที่สนใจมรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาจะพลาดไม่ได้เลย พุทธศาสนาลงหลักปักฐานมั่นคงในปากีสถาน ส่งต่อไปยังเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก นี่คือเส้นทางสำคัญของพุทธศาสนา

นักวิชาการรายนี้ย้ำว่า การจะสนใจปากีสถานไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยที่มีพื้นฐานสนใจศาสนาพุทธอยู่แล้ว

“ปากีสถานเป็นพื้นที่ก่อกำเนิดเรื่องราวในชาดกด้วย เช่น แม่เสือตัวหนึ่งกำลังหิวจัดและกำลังจะฆ่าลูกกินเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์ (ชาติก่อนของพระพุทธเจ้า) ทราบเรื่องเข้าจึงกระโดดจากภูเขาฆ่าตัวตายเพื่อให้แม่เสือได้กินเนื้อพระโพธิสัตว์เป็นอาหารแทน หรือพระพุทธเจ้าเฉือนเนื้อให้เป็นอาหารเหยี่ยว เพื่อเหยี่ยวจะได้ไม่ต้องกินเนื้อนกพิราบ เชื่อกันว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในปากีสถาน”

แม้ว่าปัจจุบันมีชาวพุทธเหลืออยู่ในปากีสถานน้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับสุดแดนคือ แม้โบราณสถานพุทธศาสนาอยู่ในพื้นที่ของชาวมุสลิม แต่ไม่ได้ถูกทำลาย ชาวมุสลิมอยู่กับโบราณสถานทางพุทธได้โดยรัฐบาลก็ดูแลเป็นอย่างดี แง่มุมเหล่านี้ล้วนเป็นการเปิดภาพใหม่ของปากีสถานในด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา