20 ปีทอง ‘อาลีบาบา’ ถึงเวลา ‘แจ็ค หม่า’ ส่งไม้ต่อ

20 ปีทอง ‘อาลีบาบา’ ถึงเวลา ‘แจ็ค หม่า’ ส่งไม้ต่อ

รายงาน: แจ็ค หม่า ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาร่วมกับเพื่อนอีก 18 คนในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่เมืองหางโจว เมื่อปี 2542 หลังจากนั้น 20 ปี บริษัทมีพนักงานประจำ 6.6 หมื่นคนและมูลค่าตลาดราว 4.2 แสนล้านดอลลาร์

“แจ็ค หม่า” เตรียมอำลาตำแหน่งประธานบริหารบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ในวันนี้ (10 ก.ย.) แต่หลายฝ่ายคาดว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่เขาสร้างขึ้นมาจนกลายเป็นมหายักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์ในปัจจุบัน จะยังเติบโตก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ต่อไปได้ดี อานิสงส์จากวัฒนธรรมบริษัทที่เน้นเรื่องนวัตกรรม ซึ่งตัวเขามีส่วนปลุกปั้นมาตลอด 20 ปี

หม่า อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ มักแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ขี้เล่นร่าเริง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพเหมารวมของบรรดาผู้บริหารชาวจีนในความเข้าใจของคนทั่วไปที่ต้องเคร่งขรึม

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาประกาศอย่างแน่วแน่ว่า ในวันที่ 10 ก.ย. 2562 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 55 ปี เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานอย่างเป็นทางการ

หม่าวางแผนจะนำเอาทรัพย์สมบัติที่มีมากมายมหาศาลของตน ซึ่งเว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส ระบุว่า เขามีทรัพย์สินราว 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (นับถึงวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา ติดทำเนียบอภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 21 ของโลกและหนึ่งในผู้มั่งคั่งที่สุดของจีน) ไปทำโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทางด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็น “รักแรก” ของเขา นับเป็นการเดินตามรอยเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เขามักยกย่องอย่าง บิล เกตส์ (ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์)

ปกติแล้ว การที่ผู้ก่อตั้งมากบารมีถอนตัวออกไปจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มักสร้างความวิตกกังวลและสั่นคลอนต่อราคาหุ้น แต่ไม่ใช่สำหรับอาลีบาบา

2-3 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานของกลุ่มอาลีบาบาอยู่ในมือของทีมผู้บริหารซึ่งได้รับความนับถือและทำให้อีคอมเมิร์ซของยักษ์ใหญ่รายนี้ยังมีความล้ำสมัยอยู่ตลอด

เจฟฟรีย์ ทาวสัน นักลงทุนด้านหลักทรัพย์และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า การถ่ายโอนอำนาจบริหารอาลีบาบาไปให้แก่บุคคลอย่าง “แดเนียล จาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และ “โจเซฟ ไช่” ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานบริหาร ซึ่งประกาศออกมาเมื่อปีที่แล้ว น่าจะเป็นการสร้าง “มาตรฐานทองคำ” ให้แก่การเปลี่ยนผ่านอำนาจของบริษัทเทคโนโลยี

“เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ สตีฟ จ็อบส์ (ผู้ร่วมก่อตั้งแอ๊ปเปิ้ล), บิล เกตส์ และ เจอร์รี หยาง (ผู้ร่วมก่อตั้งยาฮู) ต่างล้มเหลวมาแล้ว ซึ่งก็คือการทำให้บริษัทยังเติบโตขึ้นแม้ไม่มีพวกเขาแล้ว” ทาวสันให้ความเห็น

หม่าอยู่ในฐานะเป็นเถ้าแก่ชาวจีนที่ขาดแคลนเงินสดคนหนึ่ง เมื่อตอนที่เขาพยายามโน้มน้าวให้เพื่อน ๆ ยอมควักเงินทุนราว 6 หมื่นดอลลาร์ให้เขาเพื่อเปิดบริษัทอาลีบาบาขึ้นในเมืองหางโจวทางภาคตะวันออกของจีน เมื่อปี 2542

10540589626509

ด้วยจำนวนผู้ใช้งานประจำกว่า 750 ล้านรายต่อเดือนในปัจจุบัน อาลีบาบาจึงมีส่วนช่วยปลดล็อกอำนาจผู้บริโภคอันมหาศาลของจีน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลแดนมังกรในเวลานี้ ขณะที่กำลังหาทางกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการค้าต่างประเทศซึ่งปั่นป่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์ม เถาเป่า และ ทีมอลล์ ของอาลีบาบา ได้ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนนับไม่ถ้วนเติบโตต่อเนื่อง

อาลีบาบายังคงขยายอีโคซิสเต็มของตนไปเรื่อย ๆ โดยเดินหน้าเข้าสู่กิจการระบบประมวลผลคลาวด์ นันทนาการ และแนวคิด “ค้าปลีกแบบใหม่” ตัวอย่างเช่น การรวมเอากิจการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ เข้ากับร้านค้าจริง ๆ ที่ลูกค้าเข้าไปเลือกดูซื้อหาสินค้า

ขณะเดียวกัน “อาลีเพย์” หน่วยงานด้านการเงินของกลุ่มบริษัทนี้ ก็บุกเบิกเรื่องการชำระเงินดิจิทัลที่ไม่ต้องใช้เงินสดในแดนมังกร

ถึงแม้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก็ทำท่ารุนแรงยิ่งขึ้นและยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ แต่เท่าที่ผ่านมารายรับของอาลีบาบายังคงแข็งแรง

รายได้รายปีของอาลีบาบาเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้ยักษ์ใหญ่จีนจะเติบโต 36% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินนี้เนื่องจากธุรกิจคลาวด์ ค้าปลีกดั้งเดิม และอื่น ๆ เริ่มไปได้สวย