‘วรรณกรรมลาว’ ความหวังยังไม่สิ้น

‘วรรณกรรมลาว’ ความหวังยังไม่สิ้น

ภายใต้ยุคออนไลน์ แวดวงวรรณกรรมและนักเขียนลาวเป็นอย่างไร ฟังจากปากคำของประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว ที่เปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจไกลถึงประเทศคาซัคสถาน

ไทย-ลาว เป็นเพื่อนบ้านอาเซียนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรมอันหนึ่งคือภาษา  คนลาวและคนไทยต่างใช้ภาษาของตนเอง แต่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอาศัยภาษากลาง แม้แต่ตัวอักษรต่างฝ่ายก็ต่างพอจะอ่านกันได้ว่าหมายถึงอะไร และคงจะดีกว่านี้ถ้าไทย-ลาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นในแง่ของวรรณกรรม 

เนื่องในโอกาสที่ประเทศคาซัคสถานได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักเขีนเอเชียขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงนูร์สุลต่านเมื่อสัปดาห์ก่อน ตัวแทนจาก 38 ประเทศเอเชียมารวมตัวกันที่นี่ รวมทั้งทองใบ โพทิสานอธิบดีกรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว ที่ได้เล่าถึงบรรยากาศงานเขียนและนักเขียนลาวกับกรุงเทพธุรกิจ

“ปัจจุบันเรื่องการขีดเขียนของลาวมีการขยายตัวสูง มีนักเขียนเกิดขึ้นมาก บทประพันธ์ได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนกิจกรรมหลักๆ ที่สมาคมฯ ทำก็คือส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ ให้มีเวทีแสดงผลงานออกสู่สังคมอย่างหลากหลาย ทั้งจัดสัมมนา ฝึกอบรม มอบรางวัลผลงานประพันธ์ดีเด่น” 

ทองใบเล่าต่อว่า รางวัลใหญ่สุดด้านวรรณกรรมของลาวชื่อว่า รางวัลสินไชย แต่ได้ระงับการมอบรางวัลลง 1 ปี เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ จึงขาดแคลนงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังหารือกันเรื่องรื้อฟื้นและเพิ่มเงินรางวัลให้มากกว่าเก่า ส่วนระดับนานาชาติมีรางวัลซีไรต์ และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (ประกวดกันในกลุ่ม 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม) 

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีก้าวหน้ามาก วัยรุ่นทุกประเทศห่างหายจากหนังสือไปสู่หน้าจอสมาร์ทโฟน แล้ววัยรุ่นลาวยังสนใจอ่านหนังสือกันอีกหรือไม่ ประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว เล่าว่า จำนวนนักอ่านลาวในปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 10-20 ปีก่อนลดลง แต่เนื่องจากลาวยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาเด็กในเมืองตัวเลขการอ่านอาจจะลดลง ขณะที่เด็กในชนบทยังอ่านหนังสือกันอยู่มาก 

“แต่ว่าราคาปื้ม (หนังสือ) บ้านเรายังแพงเมื่อเทียบกับระดับเศรษฐกิจ เนื่องจากจำนวนพิมพ์น้อยเพราะพลเมืองลาวน้อย ราคาจึงสูง ทำให้เด็กในชนบทส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านปื้มดีๆ จะต้องมีมูลนิธิหรือองค์การมาช่วยเหลือซื้อปื้มไปแจกจ่ายโรงเรียนในชนบท ที่เข้าถึงสื่อออนไลน์น้อยกว่าเด็กในเมือง” 

ส่วนหนังสือที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านลาวเป็นอย่างดีในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “ความฮัก” ตามกระแสหนุ่มสาว

"ไม่ใช่วรรณคดีที่เน้นแนวหนักหน่วง ผิดกับเมื่อก่อนที่เป็นวรรณคดีปฏิวัติ ซึ่งเป็นเรื่องเกินสมัยของวัยรุ่นในปัจจุบัน แต่วรรณคดีปฏิวัติก็ยังได้รับการพิมพ์เผยแพร่มาก ด้วยทุนสนับสนุนของรัฐบาล แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมของหนุ่มสาวทั่วไปจะได้รับการพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ด้วยทุนของตนเอง"

ประธานสมาคมฯ เล่าว่า หนังสือยอดนิยมในลาวยอดพิมพ์สูงสุดอยู่ที่ 3,000 เล่ม  รองลงมาก็ 2,000 เล่ม หนังสือทั่วไปยอดพิมพ์อยู่ที่ 1,000 เล่ม  แต่สิ่งที่ประธานสมาคมนักประพันธ์ลาวเป็นห่วง ไม่ได้อยู่ที่เรื่องยอดขาย 

“ห่วงเรื่องกระแสการพิมพ์ปื้ม แม้จะมีมากแต่คุณภาพของเรื่องยังไม่สูง คุณค่าทางวรรณกรรมไม่สูง หมายความว่าคุณภาพนักเขียนในปัจจุบันไม่ทันกับเหตุการณ์ ไม่เหมือนนักเขียนสมัยก่อนที่มีปากกาแหลมคม มีอุดมการณ์ นักเขียนทุกวันนี้เขียนไปตามอารมณ์ เขียนตามกระแสคนอ่าน ขาดเนื้อหาสาระ” 

เรียกง่ายๆ ว่า นักเขียนลาวปัจจุบันเขียน “เอาใจตลาด” ซึ่งทองใบในฐานะประธานสมาคมนักประพันธ์แนะนำว่า สิ่งที่ดีที่สุดคิือให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้กับนักประพันธ์รุ่นอาวุโส ที่มีผลงานดี มีปากกาแหลมคม จะช่วยให้พัฒนาตนเองได้ มีการรับรู้มากขึ้น ประการต่อมาคือให้มีการจัดประกวดผลงานมอบรางวัลกันเรื่อยๆ จะช่วยพัฒนากระแสนิยมวรรณกรรมให้สูงขึ้น เนื้อหาสาระมากขึ้น 

ตอนนี้นักประพันธ์ลาวระดับ “ชั้นครู” ที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ทองใบบอกว่า มีอยู่ราว 50 คน ที่อยู่ในระดับมาตรฐาน สวนนักเขียนรุ่นใหม่มาแรงมีราว 15-20 คน ส่วนใหญ่ยังเป็นนักศึกษาที่เรียนในสาขาวรรณกรรม  แต่สิ่งที่ทองใบต้องการที่สุดในตอนนี้คือ 

“การสนับสนุนการจัดพิมพ์ผลงาน เพราะนักเขียนหนุ่มยังไม่มีทุนรอนชีวิต เวลาเขียนหนังสือมาแล้วก็อยากพิมพ์ แต่จะพิมพ์ต้องมีทุน จึงควรมีทุนสนับสนุนจากภาครัฐหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน เพราะถ้าเขียนไปแล้วผลงานไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก็ไม่มีความหมาย”  

การได้มาร่วมงานประชุมนักเขียนเอเชียที่คาซัคสถาน แน่นอนว่าเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตร ทองใบยอมรับว่า ได้แรงบันดาลใจกลับมาหลายเรื่อง

“สิ่งที่อยากจะทำคือความร่วมมือในขอบเขตงานวรรณกรรม เห็นได้ว่างานเขียนและแปลวรรณกรรมของคาซัคสถานกว้างขวางมาก เนื่องจากประเทศในแถบนี้ใช้ภาษาใกล้เคียงกัน งานได้รับการแปลเป็นหลายภาษา นักเขียนคาซัคสถานก็มีระดับ การมาร่วมงานถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ได้รับบทเรียนจากการสัมมนา”

ในฐานะประธานสมาคมนักประพันธ์และอธิบดีกรมมรดก ทองใบยังมีความหวังอยู่กับงานวรรณกรรมลาว ถึงแม้กระแสเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์มาแรงในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ววรรณกรรมยังเป็นอีกงานหนึ่งที่ประเทศลาวให้การสนับสนุนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

“แม้พัฒนาไม่ไวเท่าเขตเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ก็จำเป็น เพราะวรรณกรรมคืออาหารสมองของคนในสังคม ก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี” ทองใบกล่าวอย่างไม่สิ้นหวังกับวรรณกรรมลาว