อินโดฯ วอล์คเอาท์เห็นต่างประเด็น ‘โรฮิงญา’

อินโดฯ วอล์คเอาท์เห็นต่างประเด็น ‘โรฮิงญา’

เกียรติชี้ ผู้แทนอินโดนีเซีย ทำตัวไม่เหมาะสมขู่วอล์คเอาท์ เพียงเพราะ 9 ชาติอาเซียนไม่เห็นด้วยกับร่างแนวทางการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์โรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมียนมา ชี้สถานการณ์ได้รับการแก้ไขมาไกลมากจากที่อินโดนีเซียเสนอ

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ไอป้า) ครั้งที่ 40 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เปิดเผยว่า ประเด็นปัญหาโรฮิงญาได้มีการหยิบยกขึ้นพูดในที่ประชุมไอป้า ภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการการเมืองของไอป้า แต่ไม่สามารถหารือบรรลุข้อตกลงตามกฎบัตรไอป้าที่ต้องให้ประเทศสมาชิก 10 ประเทศเห็นชอบร่วมกันทั้งหมด เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียไม่ยินยอมตามแนวทางกฎบัตรไอป้า

แหล่งข่าวระดับสูงไอป้า เปิดเผยว่า อินโดนีเซียได้เสนอเอกสารร่างแนวทางการแก้ไขเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์โรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการเมืองของไอป้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากการสู้รบและความไม่สงบในพื้นที่ อาจส่งผลทำให้คำจำกัดความปัญหาโรฮิงญา

มีรายงานว่า ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ อย่างไทยได้เสนอเรื่องการทูตรัฐสภา มาเลเซียเสนอเรื่องการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่ฟิลิปปินส์เสนอการริเริ่มทางกฎหมายร่วมกันในการปราบปรามคอรัปชั่น ต่อเวทีคณะกรรมาธิการการเมืองไอป้า ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองโดยตรง

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานกรรมาธิการด้านการเมืองไอป้า ชี้แจงว่าการประชุมกรรมาธิการด้านการเมือง ไม่สามารถจัดการประชุมเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากตัวแทนของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาอินโดนีเซีย ได้ยื่นคำแถลงการณ์ต่อประเด็นเรื่องของโรฮิงญาให้กับที่ประชุม พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าหากที่ประชุมไม่รับแถลงการณ์จะไม่ยอมรับข้อตกลงที่เสนอมาทั้งหมด 

มีรายงานว่า นายเกียรติพยายามพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ตัวแทนของประเทศอินโดนีเซียแสดงความไม่พอใจ และไม่ยอมรับกับข้อเสนออื่นๆ โดยอินโดนีเซียระบุว่า หากไม่รับข้อเสนอจะวอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุม และท้ายที่สุดอินโดนีเซียก็วอล์คเอาท์ออกไป

“พฤติกรรมของตัวแทนประเทศอินโดนีเซียถือว่า ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องต่อแนวทางไอป้าที่ต้องการผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของ 10 ชาติอาเซียน เพราะฝ่ายอินโดนีเซียเอาเงื่อนไขของตัวเองเป็นที่ตั้ง และนำข้อเสนอของประเทศอื่นเป็นตัวประกัน ซึ่งไม่มีใครทำแบบนั้น ขณะที่ประเด็นซึ่งเตรียมเสนอต่อที่ประชุมอีก 7 ข้อ อาทิ การต่อต้านก่อการร้ายข้ามชาติ การต่อต้านการติดสินบนและการป้องกันการทุจริต ไม่สามารถพิจารณาและไม่เกิดเป็นประเด็นที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ” นายเกียรติ กล่าว

นายเกียรติ กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาโรฮิงญาอย่างเมียนมา ไทย มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนอย่างออสเตรเลีย กลับมีความเห็นที่ตรงกันและไม่ขัดแย้งกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาที่มีอยู่ตอนนี้ โดยตนก็พยายามกล่าวย้ำกับอินโดนีเซียว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาโรฮิงญารุดหน้าและไปไกลกว่ามากจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ไม่มีการลงข้อมติที่จะเป็นผลของการประชุมคณะกรรมาธิการการเมืองของไอป้า เพราะจำเป็นต้องหยุดพักไป  เช่นเดียวกับการประชุมคณะกรรมาธิการการเมืองของไอป้าที่สิงคโปร์ในปีที่แล้ว ซึ่งติดขัดในเรื่องเดียวกัน เพราะอินโดนีเซียเสนอประเด็นโรฮิงญาในกรอบความร่วมมือการเมือง ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆได้