ลุยจัดหาหินก่อสร้างอีอีซี 5 ปีต้องการ 100 ล้านตัน

ลุยจัดหาหินก่อสร้างอีอีซี 5 ปีต้องการ 100 ล้านตัน

เล็งศึกษาความต้องการหินอุตสาหกรรมในอีอีซี หวังจัดหาหินป้อนการลงทุนรัฐ-เอกชนระยะยาว คาด 5 ปี โครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการ ต้องการหินก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพร.อยู่ระหว่างการประเมินแหล่งแร่หินก่อสร้าง เพื่อรองรับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวม 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และการพัฒนาเมืองใหม่

ลุยจัดหาหินก่อสร้างอีอีซี 5 ปีต้องการ 100 ล้านตัน

ทั้งนี้ ในปี 2563 ได้เตรียมที่จะเสนอของบประมาณในการศึกษาความต้องการหินก่อสร้างอย่างละเอียดในพื้นที่ อีอีซี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี โดยผลการศึกษานี้จะระบุชัดเจนว่าแต่ละโครงการจะใช้หินก่อสร้าง และหินปูนปริมาณเท่าไร หินก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงเขตก่อสร้างมีเพียงพอหรือไม่ และต้องการใช้หินก่อสร้างที่มีคุณภาพ และมาตรฐานใดบ้างตามสเปคของแต่ละโครงการ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องใช้หินเกรดพิเศษ เช่น หินบะซอล หินแกรนิตที่มีความแข็งแกร่งสูง

แหล่งหินเพียงพอระยะสั้น

“ผลการสำรวจในขณะนี้มีเพียงความต้องการหินก่อสร้างเบื้องต้นในโครงการขนาดใหญ่ ยังไม่รวมการก่อสร้างเมืองใหม่ และการขยายเมืองต่างๆ ดังนั้นจึงต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ปริมาณอย่างละเอียดว่าในพื้นที่ อีอีซี ต้องการหินก่อสร้างแต่ละชนิดกี่ตัน หากพบว่าไม่พอจะจัดหาจากที่ไหนเพิ่ม เพื่อไปกำหนดเขตแหล่งแร่ในการให้อาชญาบัตรสำรวจ และประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองหิน เพื่อให้เพียงพอต่อทุกโครงการในอีอีซี”

นอกจากนี้ จากการประเมินเบื้องต้น มั่นใจว่าหินก่อสร้างยังเพียงพอต่อการรองรับโครงการอีอีซีในระยะสั้น และจะหาแหล่งหินก่อสร้างให้เพียงพอในระยะยาว โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดใน อีอีซี ยังคงมีแหล่งหินก่อสร้างที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้

ส่วนความคืบหน้าโครงการเมืองแร่โปรแตชที่คืบหน้ามากที่สุด คือ เหมืองโปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่ขอพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ 9,000 ไร่ ได้พัฒนาเจาะอุโมงค์ทำระบบรองรับคืบหน้ามากและจะเปิดได้เร็วๆนี้

ขณะที่โครงการเหมืองโปแตชของ บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ ได้อนุญาตไปตั้งแต่ปี 2558 ขณะนี้ชะลอไปเพราะมีปัญหาเงินทุน ส่วนโครงการของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่ 26,400 ไร่ กำลังขอประทานบัตร

ต้องการหินก่อสร้างเพิ่มทุกปี

นายนคร ศรีมงคล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุดิบอุตสาหกรรม กพร.กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นใน 4 โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางถนน 90 โครงการ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง 9 โครงการ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น ท่าเรือต่างๆ 19 โครงการ และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และระบบโลจิสติกส์ มีมูลค่ารวม 9.47 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้หินก่อสร้างทุกชนิดรวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี (2560-2565) หรือใช้หินก่อสร้างเพิ่มประมาณปีละ 20 ล้านตัน จากในภาวะปกติที่ในพื้นที่ อีอีซี จะมีการใช้หินก่อสร้างประมาณ 24-25 ล้านตัน หรือรวมแล้วในช่วง 5 ปีนี้ จะใช้หินก่อสร้างปีละ 45-50 ล้านตัน

โดยเมื่อเทียบกับแหล่งเหมืองหินที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมั่นใจว่ามีเพียงพอต่อความต้องการในช่วง 10 ปีนี้ ทั้งหินปูน หินผสมคอนกรีต หินโรยทางรถไฟ หินคลุก หินผสมยางมะตอย หินเรียงท่าเรือชายฝั่ง

หาแหล่งใหม่รัศมี100กม. 

ส่วนในระยะยาวจะต้องหาแหล่งหินก่อสร้างเพิ่ม โดยในปัจจุบันมีคำขอต่ออายุประทานบัตรแร่หินก่อสร้าง การขอประทานบัตรใหม่ การขออาชญาบัตรสำรวจ รวมทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ของ กพร. ออกไปสำรวจแหล่งหินก่อสร้างในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้นอีก 3 แหล่ง ซึ่งเป็นหินแกรนนิตเกรดที่ใช้กับโครงการรถไฟ และรถไฟความเร็วสูงจะรองรับความต้องการก่อสร้างในภาวะปกติได้อีก 20 ปี

“แหล่งแร่หินก่อสร้างในปัจจุบันมีเพียงพอต่อความต้องการของ อีอีซี ในช่วง 5 ปีนี้อย่างแน่นอน และสามารถรองรับได้ถึง 10 ปี หรือภายในปี 2570 แต่จะต้องไม่มีโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ กพร. ยังได้ไปสำรวจแหล่งแร่หินก่อสร้างเพิ่มเติม รวมทั้งในจังหวัดที่ติดกับ อีอีซี โดยรอบก็ยังคงมีแหล่งแร่หินก่อสร้างอยู่ ซึ่งหากอยู่ในระยะขนส่งไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากจุดก่อสร้าง ก็ยังถือว่ามีความคุ้มทุน จึงมั่นใจว่าในระยะยาวยังคงมีหินก่อสร้างเพียงพอต่อความต้องการของ อีอีซี”

เล็งเตรียมหินถมทะเล

ทั้งนี้ จากการที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังศึกษาโครงการถมทะเลบริเวณแหลมฉบัง 3,000 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นการบ้านที่ กพร. จะต้องไปศึกษาว่าจะต้องใช้หินก่อสร้างเพื่อถมทะเลอีกจำนวนเท่าไร ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเลขที่คำนวณไว้ว่าจะเพียงพอในช่วง 10 ปี อาจจะต้องปรับเปลี่ยนลดลงเล็กน้อย และจะต้องไปจัดหาแหล่งหินเข้ามาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ แบบอย่างการถมทะเลในประเทศต่างๆ ไม่ได้ใช้หินในการถมทะเลทั้งหมด เช่น ในตะวันออกกลางใช้ทรายมาถมทะเล ในญี่ปุ่น สิงคโปร์ นำขยะมาอัดใช้ถมทะเลร่วมกับหิน แต่ทั้งนี้แม้ว่าจะมีโครงการนี้เข้ามาเพิ่มก็ยังคงมั่นใจว่าจะจัดหาแหล่งหินเข้ามารองรับได้ ซึ่งหากการสำรวจแหล่งแร่หินอุตสาหกรรมใหม่ทั้ง 3 แห่ง เสร็จสมบูรณ์ ก็จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดพื้นที่แหล่งแร่หินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการก็ประกาศเป็นแหล่งแร่หินอุตสาหกรรมได้ จากนั้นก็เปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจ และขอประทานบัตรต่อไป