ชงสร้างเพิ่ม6อ่างน้ำ สทนช.ลงพื้นที่ตะวันออก ฟังความเห็นทำแผน

ชงสร้างเพิ่ม6อ่างน้ำ สทนช.ลงพื้นที่ตะวันออก ฟังความเห็นทำแผน

เผยแผนผังบริหารน้ำ สร้างอ่างใหม่ 6 แห่ง หนุนตั้งโรงประปาใหม่ 3 แห่ง รับเมืองใหม่ฉะเชิงเทรา-ระยอง ด้าน สทนช.เตรียมลงพื้นที่ภาคตะวันออก รับฟังความเห็นศึกษาแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ คาดเพียงพอใช้ถึงปี 2580 ยืนยันไม่ต้องผันน้ำจากสตรึมนัม 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือน ส.ค.นี้ กำหนดผังการใช้ประโยชน์น้ำ เพื่อการบริการรองรับความต้องการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและได้มาตรฐาน และพัฒนาระบบระบายน้ำป้องกันและบรรเทาอุทกภัย แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ 

1.เพิ่มปริมาณน้าต้นทุนมากขึ้น โดยปี 2560 มีการใช้น้ำ 2,405 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพิ่มเป็น 2,980 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในปี 2580 โดยมีแนวทางดำเนินการ คือ เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่ม สร้างระบบสูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ และเพิ่มศักยภาพโครงข่ายน้ำเชื่อมแหล่งน้ำอีอีซีและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งใช้นวัตกรรมการผลิตน้ำบาดาล

ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิม 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง

ชงสร้างเพิ่ม6อ่างน้ำ สทนช.ลงพื้นที่ตะวันออก ฟังความเห็นทำแผน

ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองกะพง อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำคลองกระแส จ.ชลบุรี อ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง

ปรับปรุงคลองส่งน้ำดิบเพื่อผันน้ำจากคลองชลประทานพานทองลงอ่างเก็บน้ำบางพระ 1 แห่ง และก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ 1 โครงการ

เพิ่มกำลังการผลิตประปา

2.เพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปา จากเดิม 1.11 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เป็น 2.88 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน รองรับการขยายตัวของเมืองมีพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 4,073 ตารางกิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการประปาเทศบาล เพื่อบริการเขตเมือง และขยายกำลังผลิตโรงผลิตน้ำประปา กปภ.และประปาเทศบาล 42 แห่ง

รวมทั้งก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาใหม่ของ กปภ. 2 แห่ง ได้แก่ โรงผลิตน้ำประปาท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา โรงผลิตน้ำประปาหนองปลาไหล จ.ระยอง และโรงผลิตน้ำประปา เทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง

ป้องกันน้ำท่วม39ชุมชน

3.ลดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจสำคัญ หรือพื้นที่ส่วนขยายตามแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตไม่น้อยกว่า 39 ชุมชน เช่น เมืองพัทยา เทศบาลเมืองหนองปรือ เทศบาลตำบลหนองปลาไหล และเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลนครระยอง จ.ระยอง

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ การสร้างคลองหรืออุโมงค์ผันน้ำ การสร้างพื้นที่ปิดล้อมชุมชน การใช้พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นแก้มลิงชะลอน้ำ และปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 แห่ง ที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

ก่อสร้างพื้นที่ปิดล้อมชุมชน 10 แห่ง ที่ จ.ฉะเชิงเทรา 9 แห่ง และ จ.ชลบุรี 1 แห่ง รวมทั้งก่อสร้างคันกันน้ำท่วมใน จ.ระยอง 3 แห่ง ปรับปรุงคลองระบายน้ำ 5 แห่ง สร้างท่อหรืออุโมงค์ผันน้ำ 1 แห่ง ในเทศบาลนครระยอง และเทศบาลตาบลเนินพระ และสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เมืองพัทยาและชุมชนต่อเนื่อง และพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นแก้มลิง 1 แห่ง ในเขตอ.บางคล้า อ.ราชลาส์น อ.พนมสารคาม

สทนช.ลงพื้นที่ฟังความเห็น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าวันที่ 30 ส.ค.นี้ สทนช.จะลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา รับฟังความเห็นจากโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก โดยจะรับฟังความเห็น 4 ครั้ง เพื่อประกอบทำแผนพัฒนาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

สำหรับแผนดังกล่าวจะครอบคลุมการใช้น้ำอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำในอีอีซี โดยวิเคราะห์ศักยภาพทรัพยากรน้ำช่วง 20 ปี (2560-2580) รองรับประชาการในปี 2580 ที่จะมี 6 ล้านคน จากปัจจุบัน 4 ล้านคน

ทั้งนี้ สทนช.ใช้ข้อมูลปี 2560 เป็นปีฐานในการประเมิน พบว่าภาคตะวันออกมีน้ำต้นทุนอยู่ที่ 2,680 ล้าน ลบ.ม. จากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปัญหาการขาดแคลนน้ำไม่รุงแรง เนื่องจากมีการบริหารจัดการ อ่างเก็บน้ำและระบบผันน้ำ เพื่อส่งน้ำมาเพิ่มให้แก่ พื้นที่จ.ชลบุรีและระยอง ทำให้ที่ผ่านมาไม่ประสบ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกในปี พ.ศ.2570 จากการศึกษาได้คาดการณ์ ว่าจะมีความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออก 5,274 ล้าน ลบ.ม. และผลจาการวิเคราะห์สมดุลน้ำ ปีนี้น้ำเฉลี่ยมีการขาดแคลนน้ำ 159 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนปีน้ำน้อย มีการขาดแคลนน้ำ 307 ล้าน ลบ.ม.จึงเตรียมแผนแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำปี 2560-2570 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 2,405 ล้าน ลบ.ม. โดยจำแนกออกเป็น 3 แผนงาน คือ แผนงานอีอีซีช่วยเพิ่มน้ำต้นทุน 362 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ สร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 4 แห่ง ในลุ่มน้ำวังโตนด ปรับปรุงอ่างเดิม 7 แห่ง สร้างระบบผันน้ำ 3 ระบบ ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ

ยืนยันไม่ผันน้ำสตรึงนัม

แผนงานที่หน่วยงานดำเนินงานปี 2560-2570 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 1,978 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 82 แห่ง แยกเป็น ลุ่มน้ำบางปะกง 15 แห่ง ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก 37 แห่ง ลุ่มน้ำโตนเลสาป 30 แห่ง ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิม 3 แห่ง แก้มลิงธรรมชาติ 1 แห่ง พัฒนำพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นแก้มลิง 1 แห่ง Well Field เขตอุตสาหกรรม จ.ระยอง สระน้ำเอกชน

แผนงานที่เสนอเพิ่มเติมปี 2570-2580 ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุน 80 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ใช้น้ำจากคลองผันน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ก่อสร้างท่อผันน้ำวังโตนดเส้นที่ 2 ระบบผันน้ำอ่างคลองโพล้ อ่างประแสร์ และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือ Desalination

ทั้งหมดนี้ สทนช.คาดว่าเพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคตะวันออกระยะ 20 ปี จึงไม่มีแผนผันน้ำสตรึมนัมจากกัมพูชาซึ่งเป็นเรื่องอนาคตที่ภาครัฐและเอกชนจะพิจารณา