กสทช.เอาแน่ปักธง 5จี ปลายปี 63

กสทช.เอาแน่ปักธง 5จี ปลายปี 63

เตรียมเคาะข้อสรุปส่งรัฐบาลช่วยหาทางออก

เลขากสทช.ยืนยันสร้างความมั่นใจเอกชนลงทุนพัฒนา 5จี หลังเชิญผู้รับใบอนุญาตทุกราย-เวนเดอร์ร่วมหาทางออก ระบุ รัฐบาลต้อการให้เกิด 5จีปลายปีหน้า พร้อมหาทางออกร่วมกันชี้เอกชนต้องอยู่รอดประกอบธุรกิจได้ ยาหอมอยากให้มั่นใจรัฐไม่เอาเปรียบขูดค่าไลเซ่นแพง ด้านโอเปอเรเตอร์คำนวณตัวเลขหากต้องการใหัเกิด 5จีอาจต้องลงทุนอีกกว่า 2 แสนล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เชิญผู้รับใบอนุญาตจากสำนักกสทช.ทุกประเภทคือทั้งแบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองและไม่มีโครงข่ายเป็นของต้วเอง ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงผู้นำเข้าและผลิตอุปกรณ์ไอทีทุกรายเข้าหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยในปลายปี 2563

ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นผู้ประกอบการทุกราย เห็นตรงกันว่าหากรัฐบาลและกสทช.อยากให้ 5จี เกิดขึ้นในประเทศไทยตามกรอบเวลาที่รัฐบาลก่อนกำหนดไว้ เอกชนแต่ละรายอาจจจะต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล เพื่อการเปลี่ยนผ่านจาก 4จีไปสู่ 5จีเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากการเปลี่ยนเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจาก 3จี ไปเป็น 4จี โดยผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมด ผู้ประกอบการแต่ละรายคาดว่าจะต้องลงทุนเดียวงเงินงบประมาณรายละไม่ต่ำกว่า 200,000 -300,000 ล้านบาท ไม่รวมมูลค่าคลื่นความถี่ที่ต้องประมูล การลงทุนเพื่อให้บริการ 5จีจึงต้องมองถึงความอยู่รอดของบริษัท

ดังนั้น หากต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมากขนาดนั้น เทคโนโลยี 5จีเป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับโครงสร้างการผลิต ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ต่อเมื่อมีการผลิตอุปกรณ์เครื่องลูกข่ายแล้วซึ่งน่าจะพร้อมอย่างเร็วสุดกลางปี 2563 นี้

“การเปลี่ยน 2จีเป็น3จีคือการเปลี่ยนอะนาล็อกสู่ดิจิทัล เปลี่ยนจาก3จีเป็น4จีคือการต่อยอด แต่ในครั้งนี้เปลี่ยนจาก4จีเป็น5จีจะเกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ซึ่งต้องลงทุนมหาศาลเพราะคือโลกใหม่ของการสื่อสารและการเชื่อมต่อของทุกอย่างโดยแท้จริง ดังนั้น สิ่งที่กสทช.ต้องทำคือรับฟังทุกคน เพื่อให้เอกชนทุกรายอยู่รอด และรัฐไม่เสียประโยชน์”เลขาธิการกสทช.กล่าว

นายฐากร กล่าวอีกว่า การสร้างความมั่นใจในขณะนี้คือการทำให้ภาคเอกชนมั่นใจว่ารัฐต้องสนับสนุนให้เกิด5จี ผู้ให้บริการสามารถมีความมั่นใจที่จะได้ผลตอบรับที่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยกสทช.จะช่วยแก้ไขปัญหาทีละจุด โดยทำความเข้าใจกับโอเปอเรเตอร์ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ 5จีเกิดขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายจะร่วมกันจะจัดการเสวนาระดมความเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนา 5จีอีกครั้ง เพื่อให้ได้แนวทางที่จะเป็นทางออกของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งกสทช.จะรายงานผลการระดมความเห็นไปยังรัฐบาลต่อไป

สำหรับความคืบหน้าในการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดราคาคลื่นความถี่คาดว่าผลการศึกษาที่กสทช.ได้ให้สถาบันการศึกษา 3 แห่ง จะได้ข้อสรุปในช่วงต้นเดือนต.ค.นี้ จากนั้นกสทช.จะกำหนดเงื่อนไขและวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะจัดการประมูลคลื่นแบบมัลติแบนด์ ซึ่งล่าสุดในการประมูล 5จี กสทช.กำหนดไว้ว่าจะมีการประมูล 2 รอบๆแรกจะประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์คู่กับ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ในปลายปีนี้ และรอบสองคือคลื่น 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ที่ล่าสุดได้หนังสือเรียกคืนจากบมจ.ไทยคม นำมาประมูลคู่กับคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์กลางปีหน้าเช่นกัน