นำร่องวันสต๊อปฯส.ค.นี้

นำร่องวันสต๊อปฯส.ค.นี้

สกพอ.กัน "อีอีซี วันสต๊อป เซอร์วิส" ใช้อำนาจกฎหมาย 8 ฉบับ ปฏิรูประบบขอใบอนุญาตธุรกิจ พัฒนาแอพพิเคชั่นอำนวยความสะดวก ลดเวลาจากเดิม 157 วัน เหลือเพียง 45 วัน เล็งทดสอบใช้ระบบในเดือน ส.ค.นี้

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกอพ.อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service (EEC-OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการขอรับการอนุมัติและใบอนุญาต

ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มาตรา 43 ที่ให้อำนาจเลขาธิการ สกพอ.มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตในกฎหมาย 8 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 2.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 3.กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร

นำร่องวันสต๊อปฯส.ค.นี้

4.กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 5.กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร 6.กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ 7.กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 8.กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากเลขาธิการหรือได้จดทะเบียนแล้ว ให้ถือว่าผู้ดําเนินการหรือผู้กระทําการนั้นได้รับอนุมัติ ออกใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นแล้ว
รวมทั้งหลังจากที่ EEC-OSS ได้อนุมัติ หรือออกใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องแจ้งหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายที่เป็นเจ้าของกฎหมายทั้ง 8 หน่วยงาน รวมทั้งสามารถเสนอความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงการอนุมัติ การออกใบอนุญาตให้มีประสิทธิภาพต่อหน่อยงานเจ้าของกฎหมายได้

สำหรับการให้บริการออกใบอนุญาตทั้ง 8 เรื่องนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตทั้งการเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานที่จะตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ และเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในขณะนี้มีทั้งหมด 21 แห่ง และจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต

ยื่นใบอนุญาตผ่านแอพ

รวมทั้งผ่านระบบออนไลน์ผ่านแอพพิเคชั่นที่ สกพอ.กำลังจัดทำ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ควบคุมกฎหมายเหล่านี้ทั้ง 8 หน่วยงาน เป็นผู้พิจารณา โดย สกพอ.ได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน และขั้นตอนการทำงานทำให้ลดระยะเวลาดำเนินงานจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 157 วัน มีเอกสารประกอบการมากกว่า 87 รายการ จะลดเวลาลงเหลือเพียง 45 วัน ใช้เอกสารประกอบการเพียง 56 รายการ

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปรับเปลี่ยนกรอบเวลาการทำงานให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ระบุไว้ในกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ รวมทั้ง สกพอ.จะจัดเก็บและนำส่งไปยังหน่วยงานเจ้าของกฎหมายตามเดิม

ลดเวลาเหลือ1ใน3

ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตจะกำหนดขั้นตอนและกรอบเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนหากยื่นเอกสารต่างๆ ถูกต้อง ก็จะต้องเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ประกอบการนำเอกสารชุดเดียวมายื่นก็จะขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 หน่วยงานได้หมด เหมือนกับระบบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มีวันสต็อปเซอร์วิสออกใบอนุญาตตามกฎหมาย 6 หน่วยงาน จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกสบาย และลดต้นทุนในการดำเนินงาน

“EEC-OSS สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนงานให้บริการใช้ระยะเวลาเพียง 1 ใน 3 ของกระบวนงานเดิม อำนวยความสะดวกในการให้บริการ ณ จุดเดียว รวดเร็ว ปลอดภัย และมีความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐในการขอใบอนุญาต”

ดันบริการภาครัฐสมัยใหม่

นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาระบบนำร่องให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS โดยจะผนึกพลังความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อมุ่งสู่ยุค Thailand 4.0 ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่

โดยจะทำการพัฒนาระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS บนโครงสร้างพื้นฐานระบบแบบเดียวกัน Biz Portal ที่ กพร. พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และทำการติดตั้ง ใช้งานฟังก์ชันต่างๆ รวมทั้งระบบการให้บริการของเจ้าหน้าที่ดูแลระบบ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้บริการผ่านช่องทาง Biz-Portal หรือ จะเข้าใช้งานผ่านระบบ EEC-OSS โดยตรงก็ได้

“คาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS ได้ในเดือนส.ค.นี้ โดยกำลังเร่งจัดทำการอบรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการ และจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC-OSS”

นางสาวทัศนีย์ กล่าวว่า สกพอ. มีแผนพัฒนาขีดความสามารถระบบ EEC-OSS โดยเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐอย่างสมบูรณ์ เพื่อยกระดับการให้บริการภาครัฐไปสู่ยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ระบบ EEC-OSS จะต้องยื่นสมัคร จากนั้นจะได้รับคู่มือการใช้งานระบบและรายละเอียดในการแนบเอกสารในการยื่นเรื่องขออนุญาต รวมทั้งจะกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อให้โปร่งใส จากนั้นจะได้รับรหัสผ่านเพื่อใช้ระบบ เพื่อเข้าสู่ระบบกรอบข้อมูลรายละเอียดของบริษัท ซึ่งผู้ประกอบการใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

รองรับลงทุน3กลุ่ม

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า กลุ่มผู้ใช้บริการ EEC-OSS จะมี 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 2.นักลงทุนในอีอีซี 3.ผู้พัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ ได้พยากรณ์ความต้องการใช้บริการผู้ประกอบพาณิชกรรมและอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขตส่งเสริมพิเศษ ดังนี้ 1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 3 แห่ง ประกอบด้วยเมืองการบินอู่ตะเภา (EECa) 6,500 ไร่ มีผู้ประกอบการ 10 ราย
เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศรีราชา 700 ไร่ มีผู้ประกอบการ 150 ราย และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 3,000 ไร่ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ 200 ราย

2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 21 แห่ง มีผู้ประกอบการใช้พื้นที่แล้ว 3,545 ราย 3.พื้นที่ว่างคงเหลือ 30,000 ไร่ อัตราส่วนการใช้พื้นที่อุตสาหกรรม 20 ไร่ ต่อ 1 รายคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเพิ่ม 1500 ราย