อย.ชงออกกฎหมายปลดล็อกชาวบ้านปลูก 'กัญชง' ได้

อย.ชงออกกฎหมายปลดล็อกชาวบ้านปลูก 'กัญชง' ได้

อย.ชงออกกฎหมายปลดล็อก “กัญชง” ออกจากพืชยาเสพติด เปิดทางชาวบ้านปลูกได้เร็วขึ้น จากเดิมต้องรอถึงธ.ค.63 พร้อมแก้กฎหมายอีก 2 ฉบับ นำกัญชงมาใช้ประโยชน์ เสร็จในเดือนส.ค.นี้

เล็งกำหนดปลูกกัญชงที่มีปริมาณ“สารทีเอชซี”ต่ำเท่าองค์การอนามัยโลกกำหนด หวังปูทางสู่การส่งออก เร่งศึกษาการใช้สารสำคัญกัญชงผสมในอาหาร-เครื่องสำอาง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะมีการเสนอให้ปลดล็อกกัญชงออกจากพืชยาเสพติด ทั้งแผนงาน โครงการ และแนวทางการดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะต้องดำเนินการออกกฎหมายใหม่และแก้ไขกฎหมายเดิม 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง พ.ศ.... ที่ต้องออกตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 26/2(2) ที่กำหนดว่าในกรณีกัญชงคณะกรรมการฯต้องมีการกำหนดลักษณะในการนำไปใช้ประโยชน์ 2.แก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2561 ซึ่งทั้งสองฉบับนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนหรือภายในช่วง เดือนส.ค.นี้

และอีก3.ออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชง พ.ศ....ซี่งจะเป็นการยกร่างกฎกระทรวงขึ้นมาใหม่ จะเป็นการดำเนินการปลดล็อกจากกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาติผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559 ที่มีส่วนที่กำหนดไว้ภายใน 3 ปีแรกตั้งแต่ 1 ม.ค.2561 -31 ธ.ค.2563 ให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ที่สามารถขออนุญาตปลูกได้ ในกฎกระทรวงใหม่ที่จะดำเนินการจะเป็นการแก้ไขตรงส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ปนะชาชนทั่วไปสามารถปลูกได้ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการหลายเดือน เพราะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา

“การปรับแก้กฎหมายก็จะกำหนดเรื่องปริมาณสารทีเอชซีด้วยว่าจะต้องมีต่ำกว่าเท่าไหร่ จะยึดตามประเทศต่างๆ หรือองค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) เพื่อให้สามารถส่งออกได้นอกจากนี้ มอบหมายให้กองเครื่องสำอางและกองอาหารของ อย.ไปศึกษาเกี่ยวกับการออกประกาศอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะเมื่อปลดล็อกกัญชงแล้วก็จะมีการปลูกมากขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้ในเรื่องของอาหารและเครื่องสำอางเหมือนในต่างประเทศ”นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายฝ่ายกังวลว่าสายพันธุ์กัญชงที่ปลูกในประเทศไทยตอนนี้เป็นการเอาเส้นใยและมีสารซีบีดีน้อย นพ.ธเรศ กล่าวว่า การปลูกกัญชงขณะนี้ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.มีการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ ซึ่งมีการเตรียมสายพันธุ์ที่ให้สารซีบีดีสูง และให้สารทีเอชซีที่ต่ำไว้แล้ว หากปลดล็อกก็สามารถปลูกได้

นพ.ธเรศ กล่าถึงกรณีที่มีกระแสข่าวคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชา ไม่รับรองตำรับน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขอชี้แจงในนามของ อย.และฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาหรือสารสกัดกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัย ว่า คณะอนุฯ ไม่ได้มีวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีการแบนตำรับน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา เนื่องจากพิจารณาในชั้นคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษไปแล้ว โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบการรับรองหมอพื้นบ้าน เพื่อให้หมอพื้นบ้าน 3-4 พันคนตามระเบียบกรมการแพทย์แผนไทยฯ มาเป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบใหม่ได้ทันที โดยจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามออกระเบียบโดยเร็ว จากนั้นจึงจะเสนอเข้ามายังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ พิจารณาสูตรตำรับน้ำมันกัญชา อ.เดชา อีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ส.ค.นี้ โดยอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุมอยู่

“การประชุมคณะอนุฯ นัดดังกล่าว เป็นการพิจารณาเรื่องที่ต่อเนื่องกัน คือ ต่อไปถ้าหมอพื้นบ้านจะผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาตามสูตรตำรับที่ประกาศรับรองไปแล้ว จะต้องทำอะไรหรือพิจารณาเรื่องอะไรบ้างเท่านั้น ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่องกัญชาทางการแพทย์ สธ.ก็กำลังดำเนินการในหลายเรื่อง ซึ่งปลัด สธ.ได้ตั้งคณะทำงานวอร์รูมเพื่อประชุมเร่งรัดการทำงานทุกวันพุธ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและ รมว.สาธารณสุข ทั้งในแง่ของการบริการทางการแพทย์ โดยการทำเซอร์วิสแพลน วางระบบ รพ.แม่ข่ายในทุกเขตสุขภาพ และการส่งต่อให้ รพ.สังกัดกรมการแพทย์และ รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต หากเกินความสามารถ การเร่งรัดการผลิตสารสกัดจะเดินหน้าต่ออย่างไร เป็นต้น”นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการออกและแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เกี่ยวกับกัญชงนั้น ในส่วนของประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง พ.ศ.... จะเป็นการกำหนดลักษณะในการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่กฎกระทรวงกำหนด จะทำให้สามารถผลิต นำเข้า และส่งออกได้ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7)ฯ

ขณะที่การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2561 จะเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากเดิมประกาศนี้มีการกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งรวมถึง กัญชง ที่มีชื่อพฤษศาสตร์ย่อว่า Cannabis sativa L.ด้วย ซึ่งเดิมยกเว้นเฉพาะแปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในการแก้ไขประกาศกระทรวงนี้ จึงน่าจะเป็นกำหนดให้ทุกส่วนของพืชกัญชงและวัตถุหรือสารต่างๆที่มีอยู่ในพืชกัญชงไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิต นำเข้า และส่งออกได้ โดยจะต้องเป็นกัญชงที่มีปริมาณสารทีเอชซี ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง

และการออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชง พ.ศ....จะเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชงได้ก่อนครบกำหนด 3 ปีตามที่มีการกำหนดไว้ใน กฎกระทรวงการออนุญาตและการอนุญาติผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559 ที่เดิมกำหนดให้ทำได้เฉพาะน่วยงานของรัฐเท่านั้น ที่สามารถขออนุญาตปลูกได้