ปธ.มูลนิธิสืบฯแนะพปชร. แก้รีสอร์ทรุกป่าวังน้ำเขียว ชี้ปัญหาซับซ้อนเรื้อรัง

ปธ.มูลนิธิสืบฯแนะพปชร. แก้รีสอร์ทรุกป่าวังน้ำเขียว ชี้ปัญหาซับซ้อนเรื้อรัง

ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร นายศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งติดตามนโยบายป่าไม้ของรัฐและการดำเนินการในพื้นที่ ชี้ พลังประชารัฐจัดประชุมสัมนาใหญ่ในพื้นที่ติดคดีรุกป่าอาจไม่เหมาะสม แต่ควรใช้สิทธิในฐานะคนทำงานการเมืองคิดแก้ปัญหาที่ยังไร้ทางออกนี้

โดยนายศศินกล่าวว่า ปัญหารีสอร์ทรุกป่าวังน้ำเขียว ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขให้ดี เพราะที่ผ่านมามีการแก้ไขปัฐหาที่ผิดพลาดและผิดจังหวะกันมาตลอด

นายศศินกล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้ กรมป่าไม้เดิม "ผิด" ที่ไปประกาศทับชุมชนไทยสามัคคีที่แทบไม่มีสภาพป่าเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2524

ต่อมา ได้มีความพยายามที่จะกันพื้นที่ชุมชนออกผ่านกระบวนการเพิกถอนปกติ ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541โดยมีการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ป่าจริงๆ ออกเรียบร้อยแล้ว หรืออาจจะรังวัดแล้วด้วยซ้ำ แต่มีเรื่อง "ผิด" คือชาวบ้านก็เตรียมขาย เปลี่ยนมือและทำมาก่อนโดยตลอด โดยมีการรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับปฏิบัติในพื้นที่เพราะคิดว่าอย่างไรพื้นที่นี้ก็จะถูกเพิกถอน

ช่วงนั้น คนขายก็มีส่วนผิดในการรุกป่าสงวนสมัยคอมมิวนิสต์ซึ่งยังไม่มีแปลงที่ดิน ส่วนคนซื้อก็โลภคิดว่าได้ของดีราคาถูกเลยเสี่ยงเอา นายศศินกล่าว และเพิ่มเติมว่า การซื้อขายที่ดินลักษณะนี้ส่อเจตนาชัดเจนในการยึดที่ดินของรัฐ ซึ่งมีการเปลี่ยนมือปั่นราคากันเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการทำธุรกิจและซื้อเป็นบ้านพักตากอากาศ

เมื่อมี มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541ที่อนุโลมให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าอาศัยอยู่ต่อได้เพื่อรอการพิสูจน์สิทธิ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในเวลานั้น จึงไม่มีเหตุผลพอที่จะเพิกถอนพื้นที่ออกจากป่า และกระบวนการนี้ยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา 21 ปี ที่ยังไม่สำเร็จ นายศศินอธิบาย

ในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าแต่ดั้งเดิมถูกเปลี่ยนมือมาเรื่อยๆ มากขึ้นๆ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้จะทำอย่างไร ประกอบกับนโยบายที่ไม่ชัดเจน และอาจมีเรื่อง “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้อง 

หลังจากนั้น รีสอร์ทหรูก็ผุดขึ้นมาเต็มพื้นที่ โดยบางคนก็ไม่เจตนาและอาจเป็นส่วนใหญ่เพราะไม่ได้รุกป่า แต่ก็อ้างไม่ได้ว่าไม่ผิดเพราะไปยึดถือครอบครองที่ดินที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง หรือไม่มีเลย คือบุกรุกที่รัฐเต็มๆ นายศศินกล่าว

แม้จะมีความพยายามที่จะเพิกถอนมาตลอดจากพื้นที่ แต่ก็น่าจะติดเหตุผลว่า ถ้าสร้างมาตรฐานที่มีคนรุกป่าอุทยานฯ แล้วถอนออกได้ ก็จะทำให้คนรุกป่าจริงๆ ในทั่วประเทศเอาอย่างป่าจะถูกบุกรุกไปเรื่อยๆ

นายศศินตั้งข้อสังเกตที่นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานฯในช่วงปี 2555 ไป "ทวงคืนผืนป่า" บริเวณนี้ว่า ด้วยเหตุผลอะไร เพราะพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ทวงไปก็ไม่ได้ "ผืนป่า" แต่ได้หย่อมป่าเล็กๆ ที่สิ่งก่อสร้างคาราคาซังกว่า 300 จุดแทรกอยู่กับไร่ชาวบ้าน ซึ่งน่าจะสะท้อนวิธีปฎิบัติที่เป็นปัญหา แม้จะทำหน้าที่ถูกต้องมีกฏหมายรองรับชัดเจน

ปัญหานี้จึงยังไม่มีทางออก เพราะถ้าเพิกถอนก็ขัดกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่อื่นๆ และอาจจะทำให้เกิดการรุกป่าขยายวงไปอีกในที่อื่นๆ ซึ่งเป็นข้อกังวลกัน การให้สิทธิรีสอร์ทซึ่งทำผิดมาก็ไม่เป็นธรรมกับคนอื่น นายศศินกล่าว ในขณะเดียวกัน เมื่อเป็นคดีไปแล้ว จะยกเลิกก็ไม่ได้ก็ต้องไปถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีกันหลายปี

“ความเห็นของผม พลังประชารัฐมีสิทธิ์ที่จะช่วยคิดแก้ปัญหานี้ในฐานะคนทำงานการเมือง แต่ถึงขั้นไปประชุมใหญ่กันเลยนี่มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีคำถามถึงความเหมาะสมแน่นอน แต่ผิดไหมคงไม่ผิด (กฎหมาย)” นายศศินกล่าวถึงที่มาของประเด็นปัญหาที่ทำให้วังน้ำเขียวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้ง

พรรคพลังประชารัฐ ได้จัดงานสัมมนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 21-22 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุทยานฯ ทับลานจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลานี้ถึงความไม่เหมาะสม

พปชร. ได้ออกมาโต้ว่าส่วนหนึ่งต้องการให้ ส.ส. พรรค ได้เรียนรู้สภาพปัญหา 

ประเด็นดังกล่าวถูกคาดหมายว่าน่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่จะถูกนำไปอภิปรายรัฐบาลในช่วงการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันพรุ่งนี้