บริษัทจีนร่วมวงต่างชาติถอนการผลิตจากแผ่นดินใหญ่

บริษัทจีนร่วมวงต่างชาติถอนการผลิตจากแผ่นดินใหญ่

แอ๊ปเปิ้ล ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐ เรียกร้องให้บรรดาซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆตัดสินใจไปผลิตสินค้าที่อื่นที่ไม่ใช่จีนในสัดส่วน15-30%

ขณะที่การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อ บริษัทจีนเริ่มร่วมวงกับบรรดาบริษัทข้ามชาติถอนฐานการผลิตออกจากจีนและไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นที่ไม่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูง โดยตลอด1ปีที่สงครามการค้าดำเนินอยู่ มีบริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 50 แห่ง รวมถึง แอ๊ปเปิ้ล และนินเทนโด ประกาศแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการสัญชาติจีน รวมทั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ต่างหาทางย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเช่นเดียวกับบรรดาผู้ประกอบการต่างชาติรายอื่นๆทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐ 

“เราจำเป็นต้องหาทางออก หรือ มาตรการถาวรต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง รวมทั้งเป็นมาตรการที่ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลสหรัฐได้ด้วย ”คิยูฟูมิ  คาคูดะประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) กล่าว

ขณะที่ไดนาบุ๊ค หน่วยงานในเครือของชาร์ป กำลังคิดที่จะย้ายฐานการผลิตโน้ตบุ๊คไปยังโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม โดยธุรกิจพีซีของบริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 10% และไดนาบุ๊ค ผลิตโน้ตบุ๊คในจีน โดยส่วนใหญ่ผลิตที่โรงงานในเมืองหังโจว ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 175 กิโลเมตร ซึ่งคาคูดะเองก็บอกว่า แม้การเก็บภาษีรอบล่าสุด จะถูกสหรัฐยกเลิกออกไปก่อน แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่สหรัฐและจีนยังคงทำสงครามการค้าระหว่างกันอยู่

ที่ผ่านมา บริษัทแอ๊ปเปิ้ล  ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐ เรียกร้องให้บรรดาซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆตัดสินใจไปผลิตสินค้าที่อื่นที่ไม่ใช่จีนในสัดส่วน15-30% โดยเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานอ้างแหล่งข่าว 2 คนว่า บริษัทโกร์เทคของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับจ้างผลิตรายสำคัญของแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ เตรียมเริ่มทดสอบความพร้อมของกระบวนการผลิต “แอร์พอดส์” หูฟังไร้สายยอดนิยมรุ่นล่าสุด ที่โรงงานหูฟังแห่งหนึ่งของตน ในภาคเหนือของเวียดนาม ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ความเคลื่อนไหวนี้ มีขึ้นในขณะที่แอ๊ปเปิ้ลกำลังเร่งแผนกระจายความเสี่ยงฐานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภคนอกเหนือจากจีนซึ่งเป็นฐานผลิตหลักของตน และจะถือเป็นการผลิตแอร์พอดส์นอกแดนมังกรเป็นครั้งแรกด้วย

หูฟังแอร์พอดส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เติบโตเร็วที่สุดของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐ โดยมียอดขายถึง 35 ล้านคู่เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับ 20 ล้านคู่ในปี 2560

นิกเกอิรายงานด้วยว่า แอ๊ปเปิ้ลได้ส่งหนังสือถึงบรรดาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเพื่อขอให้พวกเขาสนับสนุนความพยายามของโกร์เทค แม้จะเป็นการผลิตในจำนวนน้อยก็ตาม

“แอ๊ปเปิ้ลขอให้เหล่าซัพพลายเออร์คงราคาสำหรับขั้นตอนการผลิตในช่วงทดสอบไว้ก่อน แต่อาจมีการทบทวนหากมีการผลิตในจำนวนมากขึ้น” แหล่งข่าวซึ่งรับผิดชอบด้านการสื่อสารเผย และว่า “ผลผลิตในช่วงแรกจะมีจำกัด แต่ง่ายต่อการเพิ่มจำนวนในภายหลัง เมื่อกระบวนการผลิตทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่น”

แอ๊ปเปิ้ลผลิต “เอียร์พอดส์” หูฟังรุ่นเดิมแบบมีสายต่อกับไอโฟนในเวียดนามมานาน ส่วนปัจจุบัน แอร์พอดส์ถูกผลิตในจีนโดยซัพพลายเออร์อย่างบริษัทอินเวนเทค บริษัทลักซ์แชร์-ไอซีที และบริษัทโกร์เทค

อย่างไรก็ตาม บริษัทแอ๊ปเปิ้ลและบริษัทโกร์เทคปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อแผนการผลิตแอร์พอดส์

 ส่วนเอชพีและเดลล์ 2ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสัญชาติสหรัฐ กำลังคิดที่จะลดสัดส่วนการผลิตโน้ตบุ็คในจีน โดยหันไปเพิ่มสัดส่วนการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆแทน เช่นเดียวกับบริษัทนินเทนโดที่จะย้ายฐานการผลิตคอนโซลเกมจากจีนไปเวียดนาม 

 กระแสแห่ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปที่อื่นอาจจะก่อปัญหาให้กับตลาดแรงงานในจีน รวมทั้งการบริโภคสินค้าในประเทศนี้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งพยายามบรรเทาผลกระทบจากปัญหานี้ ได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ และพยายามทุกวิถีทางที่จะรั้งบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนแล้ว  ล้มเลิกความตั้งใจที่จะย้ายฐานการผลิตออกไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ บริษัทเทสลา ที่ปัจจุบันได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตรถแห่งใหม่ในจีนโดยตั้งอยู่ไม่ห่างจากเซี่ยงไฮ้เท่าใดนัก โดยโรงงานผลิตแห่งนี้ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อครึ่งปีก่อน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บริษัทเทสลาได้ถือครองที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงานในราคาถูกจากรัฐบาลท้องถิ่น แถมยังได้รับการปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกด้วย 

รัฐบาลจีนค่อยๆเปิดตลาดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2561 เมื่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เม็ดเงินที่เกิดจากการลงทุนโดยตรงในจีนช่วงครึ่งปีคือช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.เพิ่มขึ้น 3.5% เป็น 70.7 พันล้านดอลลาร์  เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการลงทุนแก่บริษัทต่างชาติ 7 ภาคอุตสาหกรรม รวมถึง อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซและกำลังวางแผนที่จะเปิดตลาดภาคการเงินแก่ต่างชาติด้วย

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไปแล้วสามครั้ง รวมเป็นมูลค่าของสินค้า 250,000 ล้านดอลลาร์และถึงแม้การเก็บภาษีรอบที่4 สหรัฐจะระงับไว้ก่อนชั่วคราว แต่บริษัทต่างๆก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการตั้งรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้

บริษัทส่วนใหญ่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่กำลังเป็นฐานการผลิตสินค้าประเภทต่างๆมากขึ้น ตั้งแต่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ในจำนวนนี้ รวมถึง บริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติเกาหลีใต้ ที่ได้รับข้อเสนอพิเศษด้านโลจิสติกจากทางการเวียดนามแลกกับการเข้าไปตั้งฐานการผลิต