มรดกธรรม‘พระเขี้ยวแก้ว’

มรดกธรรม‘พระเขี้ยวแก้ว’

ไม่ถึงหนึ่งนาทีที่มีโอกาสกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้ว เพราะมีผู้คนจำนวนมากรอคอย ไม่ว่าคนไทยหรือคนศรีลังกา

"""""""""""""""""""""""

ว่ากันว่า ศรีลังกาหรือลังกาวงศ์ มีรากของพุทธสายเถรวาทที่สืบทอดมาหลายพันปี  ซึ่งเถรวาท เป็นนิกายหลักของชาวพุทธที่นั่น ไม่ต่างจากชาวไทย กัมพูชา ลาวและพม่า 

 

นอกจากความศรัทธาของชาวศรีลังกาที่มีต่อพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ก็เลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนาเช่นกัน ตั้งแตพุทธศตวรรษที่ 2 -14 ผู้ครองแผ่นดิน ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เสมือนเปนกฎหมาย จารีต ประเพณี ที่กําหนดไว้ และทรงอุปถัมภพุทธศาสนา

 

ศรีลังกาผ่านมรสุมทางการเมืองหลายยุค เคยถูกปกครองโดยอังกฤษ และยุคที่โปรตุเกสปกครอง โบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปทางพุทธศาสนาถูกทำลายไปจำนวนมาก บางแห่งมีการสร้างโบสถ์ศาสนาอื่นแทนวัด และในยุคหนึ่งชาวพุทธเคยถูกบังคับให้เข้ารีต ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องต้องห้าม บุคคลที่นุ่งห่มผ้าเหลืองถูกบังคับให้ลาสิกขา 

 

นี่คือ ส่วนหนึ่งของเรื่องราวในอดีต...

  IMG_8127    

-1-

ในปัจจุบันผู้คนศรีลังกายังมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาไม่เสื่อมคลาย พวกเขานำคำสอนทางพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต สวดมนต์ภาวนาเป็นกิจวัตรประจำวัน

 

เนื่องจากรากที่หยั่งลึกทางพุทธศาสนาในศรีลังกามีมานานกว่า 2,300 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเผยแพร่พุทธศาสนาจากอินเดียมาสู่ศรีลังกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 236 และไม่ใช่แค่พุทธศาสนา ยังมีศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และประติมากรรมเก่าแก่ หลงเหลือให้ชาวโลกได้ชื่นชม

 

นอกจากนี้ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ตอนจากกิ่งที่พุทธคยา ประเทศอินเดียต้นแรก ปัจจุบันอยู่ที่อนุราธปุระ ทางภาคเหนือตอนกลางห่างจากโคลัมโบ 206 กิโลเมตร 

 

อนุราธปุระ เป็นที่ตั้งของโบราณสถานเก่าแก่ เคยเป็นนครแห่งพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช และเคยเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้พุทธศาสนา ที่นั่นจึงเป็นยุคทองของประวัติศาสตร์ศรีลังกา

 

ดังนั้นชาวพุทธหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาศรีลังกา ส่วนใหญ่จะต้องแวะเมืองอนุราธปุระ เนื่องจากเป็นแหล่งโบราณสถาน มีพระสถูปเจดีย์ถูปะรามาที่สร้างในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นพระเจดีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในศรีลังกา และยังเป็นที่ประดิษฐานพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)ของพระพุทธเจ้า

  IMG_8132

-2-

ส่วนพระเขี้ยวแก้ว หรือพระทันตธาตุเบื้องล่างขวาของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีทัลฒามัลลิกาววิหาร หรือวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว วัดในนิกายพุทธเถรวาท (สยามวงศ์) ริมทะเลสาบกัณฏิ ที่เมืองแคนดี้ ซึ่งห่างจากโคลัมโบกว่า 100 กิโลเมตร เป็นวัดในความดูแลของพระมหาสังฆนายก สยามวงศ์ ซึ่งมีอยู่สองฝ่าย และแบ่งการปกครองรักษาพระเขี้ยวแก้วสลับกันไปมาทุกปี นอกจากตระกูลใหญ่ๆ หลายสิบตระกูลในศรีลังกาก็ยังเป็นผู้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ โดยวัดได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

 

ว่ากันว่า ชาวพุทธไทยมักจะเดินทางมาที่เมืองแคนดี้ เพื่อนมัสการพระเขี้ยวแก้ว เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีอากาศดีมาก อยู่บนยอดเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเล 500 เมตร มีความสำคัญพอๆ กับโคลัมโบ เป็นเมืองมรดกโลกที่ยังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของชาวพุทธศรีลังกาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น

 

วัดพระเขี้ยวแก้ว สร้างโดยพระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุดท้ายของศรีลังกา เคยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวังโบราณ ปัจจุบันภายในวัดแห่งนี้ มีหลายอาคาร มีทั้งห้องสวดมนต์ ห้องเก็บคัมภีร์ใบลาน และพระพุทธรูปจำนวนมาก รวมถึงรูปปั้นช้างที่ชาวศรีลังกานับถือมาก

 

และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของชาวไทยกลุ่มนี้ได้มีโอกาสนมัสการพระเขี้ยวแก้ว เนื่องจากทางการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ลงนามความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมาท่องเที่ยวศรีลังกามากขึ้น

 

หลังจากเดินทางไปถึงวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว จะมีตำรวจตรวจตราอย่างเข้มงวด ชาวพุทธต้องถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูวัด และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ ไม่ว่าคนไทยหรือศรีลังกา ต้องแต่งกายด้วยสีขาวทั้งชุด โดยมีเวลาเปิดให้นมัสการในช่วงเช้าและเย็น ซึ่งคนศรีลังกาที่ไม่มีโอกาสเข้านมัสการพระเขี้ยวแก้วด้ามใน พวกเขาจะนั่งสวดมนต์ภาวนาถวายดอกไม้อยู่รอบๆ บริเวณนั้นอย่างสงบเงียบเป็นระเบียบ

 

ใช่ว่า ชาวศรีลังกาทุกคนจะมีโอกาสเข้าไปกราบพระเขี้ยวแก้ว พวกเขาจึงขอแค่อยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พระเขี้ยวแก้วประดิษฐาน

 

นั่นคือ ความศรัทธาที่มาจากเบื้องลึกของจิตใจ และเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อให้ทุกคนศึกษาพุทธศาสนา ชำระจิตใจให้เบิกบาน เดินตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมะก็คือ ธรรมชาติ พระพุทธเจ้า สอนให้มนุษย์ ทำความดี ลดความโลภ โกรธ และหลง

 

 อำนาจชัย มานะเลิศ เจ้าของบริษัทศรัทธาทัวร์ จำกัด ซึ่งจัดทัวร์ไปศรีลังกา เล่าว่า ที่อนุราธปุระมีวัดเก่าๆ เยอะ มีพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญของพระพุทธเจ้า วัดแห่งแรกของศรีลังกาก็อยู่ที่นั่น มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน พุทธศาสนาก็เริ่มที่นั่น

 

 “หลังจากสงครามทมิฬ ประเทศศรีลังกาสงบมาตลอด เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวดี กระทั่งเกิดระเบิดในเมืองศรีลังกา ทุกอย่างหายหมด เมื่อเร็วๆ นี้ตอนผมไปเดินตลาด ยังเงียบเหงามาก ผมไปเดินซื้อชาที่มีหีบห่อเป็นกล่องดนตรี น่ารักมากและราคาไม่แพง ชาดี หาซื้อที่อื่นไม่ได้ต้องศรีลังกา ” อำนาจชัย เล่าถึงบรรยากาศที่นั่น

 

สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยสำหรับการเดินทางครั้งนี้ ก็คือ มีเวลาเพียงไม่ถึงเสี้ยวนาทีในการกราบพระเขี้ยวแก้ว เนื่องจากมีชาวศรีลังกาเข้าแถวรอยาวมาก

 และสิ่งที่เห็นก็คือ ศรัทธาที่ไม่มีคำอธิบายใดๆ 

เพราะนี่คือวิถีชาวพุทธ

IMG_8136 ...............

เรื่องเล่าที่ศรีลังกา

-ปลายเดือนกรกฏาคม-ต้นสิงหาคม ของทุกปี จะมีเทศกาลเประเฮระ มีการนำพระธาตุเขี้ยวแก้ว ออกมาแห่ให้ประชาชนสักการะบูชา

-ช่วง 10 วันของเทศกาล จะมีการนำช้างนำขบวน บนหลังช้าง มีตลับทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

-พิธีการถวายสักการะในเทศกาลเประเฮระ เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของประเทศนี้

-เมืองแคนดี้ เป็นสถานที่เหมาะกับการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน

-พระศรีีมหาโพธิ์ในเมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา นำมาจากกิ่งต้นแรกที่พุทธคยา อินเดีย

-คนศรีลังกามีความเชื่อว่า พวกเขาสืบเชื้อสายจากราชสีห์แห่งเกาะ จะไม่แต่งงานกับชนชาติอื่น

-ศรีลังกามีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดอารยธรรมเก่าแก่กว่าสองพันปีอยู่ 6 แห่ง

-วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่องค์การยูเนสโกประทับตราให้ 

ฯลฯ 

............................

เขียนโดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย วันที่ 15 กรกฏาคม 2562