“เอไอไอบี”เตรียมปล่อยกู้สกุลเงินท้องถิ่น

“เอไอไอบี”เตรียมปล่อยกู้สกุลเงินท้องถิ่น

โครงการปล่อยกู้สกุลเงินท้องถิ่นของเอไอไอบีจะเริ่มดำเนินการในเดือนนี้และเบื้องต้นจะเป็นการปล่อยกู้ในสกุลเงินท้องถิ่นของอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ตุรกี และรัสเซีย ก่อนจะขยายไปยังสกุลเงินท้องถิ่นประเทศอื่นในอนาคต

นายจิน หลี่กุน ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย(เอไอไอบี) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ให้การสนับสนุนแก่การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเสนอปล่อยกู้ในรูปแบบเงินสกุุลท้องถิ่นในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันบรรดาผู้กู้ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่่ยนเงินตราระหว่างประเทศมากนัก  โดยโครงการนี้จะพุ่งเป้าไปที่บริษัทต่างๆของเอกชนที่ทำโครงการขนาดใหญ่

นายจิน กล่าวว่า การปล่อยกู้รูปแบบนี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นของบรรดาประเทศผู้กู้ และดำเนินการด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่น หรือผ่านการสว็อป ซึ่งนายจินประกาศความเคลื่อนไหวนี้ก่อนหน้ามีการประชุมประจำปีของธนาคารที่ลักเซมเบิร์ก ในวันศุกร์ (12ก.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของเอไอไอบีนอกภูมิภาคเอเชีย นับตั้งแต่ธนาคารแห่งนี้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559

“ที่ผ่านมา ลักเซมเบิร์กทำงานร่วมกับประเทศต่างๆในเอเชียมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่ธนาคารเริ่มก่อตั้ง และลักเซมเบิร์กเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับเอไอไอบีในบรรดาประเทศยุโรปทั้งหมด”นายจิน กล่าว

เมื่อปี 2556 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอข้อริเริ่มจัดตั้งธนาคารเอไอไอบี และเพียงเวลาแค่สองปี จีนก็ตั้งสำนักงานใหญ่เอไอไอบีในกรุงปักกิ่ง ขณะนี้เอไอไอบี มีสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 57 ชาติ และปัจจุบันมีสมาชิก 70 ประเทศ โดยหลายๆชาติมาจากประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย และถึงแม้จะถูกคัดค้านจากสหรัฐ  แต่กลุ่มพันธมิตรของสหรัฐ อย่างเช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ต่างตบเท้าเข้าร่วมก่อตั้งเอไอไอบีเพราะยอมรับในอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างมากของจีน

ธนาคารเอไอไอบีก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปักกิ่งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ปี2558 มีทุนเบื้องต้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนทางการเงินในโปรเจ็คส์สร้างถนน ท่าเรือ ทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า เอไอไอบีอาจขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับยักษ์ใหญ่ปล่อยกู้โลก อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ที่ญี่ปุ่นเป็นแกนนำ และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ที่สหรัฐเป็นแกนนำ

เอดีบี ประเมินว่า อาเซียน ซึ่งมีสมาชิก 10 ชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องใช้เงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในการสร้างถนน ทางรถไฟ ไฟฟ้า น้ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอื่นๆ

ความสำเร็จในการก่อตั้งเอไอไอบี ที่แยกจากธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ถือเป็นชัยชนะทางการทูตของจีน ที่ต่อต้านระเบียบการเงินโลก ที่จีนมองว่าถูกครอบงำโดยสหรัฐ และไม่สะท้อนเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างเพียงพอ เป็นการท้าทายระบบธรรมมาภิบาลเศรษฐกิจโลกของสหรัฐโดยตรง

สหรัฐมีความกังวลว่า ธนาคารเอไอไอบีจะเป็นเครื่องมือทางนโยบายการต่างประเทศของจีน พร้อมกังวลเรื่องความโปร่งใสและธรรมมาภิบาลของธนาคารแห่งนี้ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจีนได้ตอบสนองความกังวลเหล่านี้ของสหรัฐ ด้วยการยืนยันว่า เอไอไอบีจะเปิดกว้างและเท่าเทียมก็ตาม

เอไอไอบี เปิดตัวพันธบัตรในตลาดโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม ด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนายจิน พูดชัดว่าธนาคารกำลังพิจารณาที่จะออกพันธบัตรสกุลเงินเยน หยวน หรือ สกุลเงินยูโร ซึ่งผู้บริหารธนาคารชั้นนำของจีนแห่งนี้ย้ำกว่า ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอเพราะจีนอยู่ในตลาดเปิด

เอไอไอบี มีสมาชิกในปัจจุบัน 70 ประเทศและเตรียมมีสมาชิกเพิ่มอีก 27 ประเทศในอนาคตอันใกล้ และในจำนวนนี้กว่า 68 ประเทศที่มีอายุเก่าแก่กว่าเอดีบี ที่มีสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และนับจนถึงขณะนี้ เอไอไอบี อนุมัติเงินกู้ไปเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์และมีนักวิจารณ์บางคนบอกว่าธนาคารแห่งนี้มีผู้เชี่ยวชาญในทีมไม่กี่คน

นอกจากนี้ หลายโครงการเป็นการร่วมปล่อยกู้ระหว่างธนาคารเอไอไอบี ธนาคารเอดีบี และธนาคารโลก ซึ่งนายจิน ระบุว่า ธนาคารเอไอไอบียินดีมากที่สถาบันการเงินชั้นนำของโลกทั้งสองแห่งเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยกู้

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงปรับปรุงศักยภาพองค์กร ซึ่งเอไอไอบีจะรับบุคคลากรเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มทีมงานกว่า20% เป็น 280 คนภายในปลายปีนี้” ประธานเอไอไอบี กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า การปล่อยกู้ร่วมกับบรรดาสถาบันการเงินชั้นนำโลกยังคงเป็นกลยุทธหลักที่ธนาคารจะใช้ต่อไป และปัจจุบันนี้ ธนาคารทำงานอย่างใกล้ชิดกับเอดีบีและทำให้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับนายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานเอดีบี แนบแน่นอย่างมาก

แม้ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสมาชิกธนาคารเอไอไอบี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนให้สถาบันต่างๆของญี่ปุ่นร่วมมือกับธนาคารเอไอไอบีอย่างดี ซึ่งในโอกาสนี้ นายจิน เรียกร้องให้รัฐบาลโตเกียวเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเพราะมองว่าหากญี่ปุ่นเข้าร่วม ญี่ปุ่นจะมาพร้อมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็นแก่ธนาคาร