“ชีวามิตร” ปลูกบทเรียน ลาโลกอย่างงดงาม

“ชีวามิตร” ปลูกบทเรียน ลาโลกอย่างงดงาม

แม้ชีวิตถูกจัดการวางแผนอย่างมั่นคงแต่แทบไม่มีใครวางแผนการ“ตาย” เพราะสังคมไทยถือเป็นเรื่องอัปมงคล แม้จะเป็นสิ่งสำคัญ "ชีวามิตร” จึงเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้บทเรียนความจริงชีวิตที่หนีไม่พ้นต้องเตรียม“พินัยกรรมชีวิต”ลาโลกด้วยใจเปี่ยมสุข

การเจริญมรณานุสติ จากพระจารย์นักคิด 2 ท่าน คือ พระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล ให้มองมรณานุสติ เป็นการกระตุ้นให้อยากทำความดี และรู้จักปล่อยวาง เช่นเดียวกันกับท่านพระอาจารย์ชยสาโร มองว่าทำให้ตระหนักรู้ถึงความไม่แน่นอนในชีวิต คำสอนจากธรรมะที่ทำให้เข้าใจชีวิตเป็นแรงบันดาลใจให้ "คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์" ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท วิสาหกิจกิจเพื่อสังคม ชีวามิตร จำกัด ได้เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต ทุกสิ่งในโลกมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จึงกลายเป็นหญิงวัย 78 ปีที่มีหัวใจเบิกบานและไม่ประมาทกับความไม่แน่นอนของชีวิต ชอบสะสมเสบียงบุญแบ่งปันให้สังคมไทยได้เตรียมพร้อมวางแผนชีวิตในระยะสุดท้าย

ด้วยความที่อยากส่งต่อบทเรียนชีวิต ของการยอมรับสังขารที่ไม่เที่ยง เพื่อให้คนไทยเข้าใจการวางแผนการบริหารจัดการก่อนตาย และเตรียมตัวทำ“พินัยกรรมชีวิต” จึงเริ่มต้นใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเผยแพร่การตระหนักรู้เกี่ยวกับการมองความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่คนเราต้องรู้จักสร้างสุขสุดท้ายก่อนกลับบ้านเก่า 

ความตายไม่ใช่ศัตรู และมันก็ไม่ใช่เพื่อน แต่ถือเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่เคียงคู่ชีวิตเราจะต้องสิ้นสุดชีวิตลง ไม่มีบวกไม่มีลบ แต่คนที่มองเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะไปให้ค่ามันเองเพราะเกิดจากความไม่รู้" คุณหญิงจำนงศรี ให้มุมมอง

เช่นเดียวกันกับ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ทนายผู้วางแผนทำพินัยกรรมให้กับมหาเศรษฐี นักธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย ผู้ที่มองเห็นสัจธรรมชีวิตเช่นเดียวกัน จึงเป็นกัลยาณมิตรกับคุณหญิงจำนงศรี ก่อตั้ง บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ชีวามิตร โดยเขาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง เพื่อช่วยในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยนำร่องนำเงินบริจาคจากคุณหญิงจำนงศรี มูลค่า 5 ล้านบาท ทำหน้าที่เชื่อมไปยังองค์กร นักธุรกิจ บริษัทที่มองเห็นเจตนารมณ์ที่ดีเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการมีผลกำไร เมื่อมีกำไรก็แปลงเป็นทุนสานต่อภารกิจ

เพราะศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ยังมีบทเรียนเมื่อภรรยาจากไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้จะทุ่มเงินรักษาทั้งทางแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก แม้จะเตรียมพร้อมอย่างดีแต่เมื่ออาการป่วยระยะสุดท้ายมาถึง ภรรยาเซ็นต์ยินยอมขอจากไปอย่างสงบ ปฏิเสธการยื้อชีวิต เจาะคอใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ และเตรียมบริจาคอวัยวะดวงตา สร้างกุศุลครั้งใหญ่ ดวงตา 2 ดวงช่วยคนได้ถึง 4 คน

แม้จะหารือกับภรรยามาอย่างดี แต่ก็ยังไม่ได้พูดถึงการจัดงานศพ เพราะยังติดกับแนวคิดของสังคมไทยที่จะเป็นลางไม่ดีแต่เมื่อพูดถึงวันจัดงานให้ตัวเอง จึงทำให้มีพวงหรีดเข้ามาในงานศพถึง 700 พวง หลังวันงานทำให้เขาคิดได้ว่าพวกหรีดเป็นการสิ้นเปลืองและสร้างมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม หากเตรียมการบอกกล่าวผู้ร่วมงาน จากงดพวงหรีดและแปลงเงินซื้อพวงหรีดที่ราว 2,000บาทต่อพวง จะรวบรวมเงินได้ถึง 1.4 ล้านบาท สามารถนำไปใช้สาธารณประโยชน์ เช่นการบริจาคให้วัด หรือโรงเรียนได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นตั้งจอพวงหรีด ระบุถึงชื่อ องค์กรผู้ร่วมไว้อาลัย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขาดการวางแผนการตาย จึงทำให้หลายครอบครัวเจอปัญหาคล้ายกัน พบความสูญเสียเงินทอง ทรัพย์สิน โรคซึมเศร้า และพลาดโอกาสได้ทำกุศลอันยิ่งใหญ่ก่อนจากไป บางท่านลูกยึดถือหลักธรรมเนียมค่านิยมของสังคมของการเป็นบุตรกตัญญู ต้องทุ่มเทเงินทองเพื่อดูแลบุพาการีจนถึงวินาทีสุดท้าย ค่าดูแลจ้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 10 คน เพื่อยื้อชีวิตของบุพการีที่ป่วยระยะสุดท้าย ตัวเลขที่สูงที่ต้องยอมจ่าย ระยะเวลา 4 ปี เสียเงินไป 10 ล้านบาท หรือบางคน ค่าใช้จ่ายดูแล 1 เดือนเสียเงินสูงถึง 70 ล้านบาท

ผลการพูดคุยกับหลายครอบครัวที่ยอมจ่ายพบว่า ไม่เป็นผลดีทั้งกับผู้ป่วย หากไม่มีการตอบสนองและรับรู้ ทายาทบางคนต้องยอมไปกู้เงินนอกระบบเพื่อทำหน้าที่ลูกกตัญญู สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรมีบทเรียนการพิจารณาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเหมาะสม ควรมีทางเลือกการดูแลที่บ้านท่ามกลางญาติพี่น้องอาจจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น หรือไม่ทำให้ผู้ป่วยทรมานจากเครื่องยื้อชีวิต และยังสูญเสียทรัพย์สินน้อยกว่า

เขาจึงเชื่อว่าการจากไปแม้สร้างความโศกเศร้าเสียใจ แต่การเตรียมการพินัยกรรมชีวิต จะทำให้การจากไปนั้นสามารถแปลงความสูญเสียเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยการเตรียมลาโลก ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย รวมถึงการจัดเตรียมการเพื่อไม่ให้ฉุกละหุก แพ็คกระเป๋ากลับบ้านเก่าไปอย่างสวยงาม โดยทิ้งไว้เพียงความดีงาม ของการเสียสละครั้งใหญ่ให้กับสังคมด้วยการบริจาคอวัยวะ

ชีวามิตรจึงต้องทำให้คนตระหนักรู้การตายเป็นเรื่องธรรมชาติต้องเตรียมกายและใจ และมีการผลักดันให้เกิดการตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน จะทำให้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณการดูแลในโรงพยาบาล และมีบุคลากรทางการแพทย์มาให้คำแนะนำ ให้ผู้ป่วยมีความสุขสุดท้ายคือได้กลับบ้าน

ปัจจุบัน “ชีวามิตร” ได้ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่า 3 ปี สามารถระดมทุนจากองค์กรภาคเอกชนกว่า 20 ล้านบาท ที่เข้ามาในรูปแบบเป็นหุ้นส่วน และมีการบริหารจัดการเมื่อมีกำไรก็นำไปขยายโครงการให้บรรลุเป้าหมาย โดยสิ่งที่ดำเนินการมี 3 เป้าหมายหลักๆ ประกอบด้วย

1.เผยแพร่ความรู้ เข้าใจ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ อบรมผู้ป่วยและผู้การเตรียมพร้อมทำพินัยกรรมชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างมีความสุข

2.ให้ความรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลและส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือการส่งเสริมให้มีแพทย์ไปดูแลผู้ป่วยตามบ้าน

3.จัดหาทุนทำวิจัยและสร้างการตะหนักรู้ให้สังคมเกี่ยวกับพินัยกรรมชีวิต และมีการบริหารจัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน