กรมอนามัย เปิดช่องภาครัฐ-เอกชน จัดอบรมผู้ประกอบกิจการและ ผู้สัมผัสอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

กรมอนามัย เปิดช่องภาครัฐ-เอกชน จัดอบรมผู้ประกอบกิจการและ ผู้สัมผัสอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

กรมอนามัย เปิดช่องภาครัฐ-เอกชนจัดอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารได้เอง เน้นอย่างน้อย 9 ข้อหลักสำคัญตามประกาศกระทรวง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบ ปรุง ประกอบ ให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้น ปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้กรมอนามัยยังได้จัดทำประกาศของกรมอนามัยอีก 3 ฉบับ ในเรื่อง 1) หลักเกณฑ์ วิธีการวัดผลและการประเมินผู้เข้ารับการอบรมฯ 2) การออกหลักฐานรับรองให้แก่ผู้ผ่านการอบรม และ 3) เอกสารหลักฐานของหน่วยงานที่มี ความประสงค์จะขอความเห็นชอบจากกรมอนามัย เป็นหน่วยงานจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคม และองค์กรภาคเอกชน นิติบุคคล เป็นหน่วยงานที่จะมาอขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานจัดการอบรม  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและ ผู้สัมผัสอาหาร ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและ ผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 โดยหน่วยงานที่จะขอความเห็นชอบจากรมอนามัยจะเป็นกำลังสำคัญอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารทั่วประเทศ                                                                    

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า  หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอความเห็นชอบเป็นหน่วยงานจัดการอบรม  ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารนั้น จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและประกาศของกรมอนามัย  อย่างน้อย 9 ข้อหลักที่สำคัญ ดังนี้ 1) หน่วยงานที่ยื่นคำขอต้องมีสถานะความเป็นหน่วยงาน หรือนิติบุคคล 2) มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารจัดการอบรม มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี อย่างน้อย 1 คน ที่ทำหน้าที่ประจำหน่วยงานจัดการอบรม3) ต้องจัดการอบรมตามหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนดคือ หลักสูตรผู้ประกอบกิจการต้องเข้ารับการอบรม 6 ชั่วโมง   โดยมีผู้เข้ารับการอบรมไม่เกิน 50 คนต่อครั้ง  และหลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร ต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง โดยมีผู้เข้ารับการอบรมไม่เกิน 100 คนต่อครั้ง  4)  วิทยากรของหน่วยงานจัดการอบรมหลักสูตรผู้ประกอบกิจการ ต้องไม่น้อยกว่า  2 คนต่อครั้ง  ส่วนหลักสูตรผู้สัมผัสอาหารไม่น้อยกว่า 3 คนต่อครั้ง 

5) มีการวัดผลและประเมินผลตามประกาศกรมอนามัย เช่น การทดสอบความรู้หลังการอบรมผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยใช้ชุดข้อสอบกลางของกรมอนามัย 6) ต้องจัดทำเอกสารหรือคู่มือประกอบการจัดการอบรมตามหลักสูตรที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7)  ในกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากผู้เข้ารับการอบรม ต้องแสดงอัตราค่าบริการที่จะเรียกเก็บ เพื่อประกอบการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานจัดการอบรม  8) ต้องออกวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองที่มอบให้ผู้ผ่านการอบรมตามที่ประกาศกรมอนามัยกำหนดเพื่อให้  ผู้ผ่านการอบรมนำไปแสดงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของสถานที่จำหน่ายอาหาร และ 9) กรมอนามัย จะดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล หรือให้คำแนะนำว่าให้หน่วยงานจัดการอบรมปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุขและประกาศของกรมอนามัย                                 

“ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานที่มีความประสงค์ขอความเห็นชอบเป็นหน่วยงานจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ได้ดำเนินการยื่นเอกสารเพื่อขอความเห็นชอบที่สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ที่กรมอนามัยแต่งตั้งขึ้น โดยกรมอนามัยจะออกหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอและจะจัดทำหนังสือแจ้งหน่วยงานและประกาศรายชื่อหน่วยงานจัดอบรมทางเว็บไซต์   สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ โดยหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นงานจัดการอบรมจะมีอายุการรับรองครั้งละ 5 ปี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว