ไปให้ถึงฝัน 'มูนช็อต’ ทวันทว์ บุณยะวัฒน์

ไปให้ถึงฝัน 'มูนช็อต’ ทวันทว์ บุณยะวัฒน์

ถ้าจะรู้ให้จริงก็ต้องลองทำ ที่ผ่านมามีความรู้สึกว่าตัวเองรู้ไม่จริงหลายครั้ง เพราะว่าผมไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่วันนี้พอได้มาสวมบทนี้ ผมก็เริ่มมีเลิร์นนิ่งอีกแบบหนึ่ง

จากคนที่เอาแต่คอมเมนท์ชาวบ้านพอได้ทำธุรกิจของตัวเองก็เริ่มมีความเข้าใจความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น มุมมองเริ่มเปลี่ยนไปรู้ว่าหลายอย่างไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย"


ปัจจุบัน “ทวันทว์ บุณยะวัฒน์” อยู่ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มูนช็อต เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด จากเดิมที่หลายคนคงจำภาพได้ว่าเขาคือหนึ่งในทีมงานของ “อินเว้นท์” (InVent) โครงการธุรกิจร่วมทุน (Venture Capital) ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)


“สิ่งที่กำลังทำอยู่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยฝันของชีวิตที่สุดแล้ว” ทั้งยังเล่าว่าตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งพระเอกเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ เลยกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขานึกอยากเป็น "บิสิเนสแมน" มาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมาอาจจะเดินหลงไปบนทางสายอื่นบ้างและสุดท้ายฝันก็เป็นจริง


สำหรับเป้าหมายของมูนช็อต นั้นคือการเป็นวีซีที่สนใจเข้าไปร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ "Deep Tech" เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ,ดาต้าอนาลิติกส์ ไอโอที,โรโบติกส์,ไบโอเทค,เออาร์และวีอาร์ ฯลฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในโลก


"ผมต้องการเห็นอิมแพ็คที่จะเกิดขึ้น ก็ลองมองไปในหลาย ๆเซ็คเตอร์ และเห็นว่าเรียลเซ็คเตอร์พวกที่เป็นเทรดดิชั่นนอล ความเป็นจริงยังมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมค่อนข้างน้อย ทั้งในเชิงของการบริหารจัดการ และสภาพแวดล้อม ถ้าเราหานวัตกรรมไปให้เขาได้ใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มโปรดักส์ทิวิตี้ที่แม้จะเพิ่มเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์แต่แวลลูมันก็เป็นหลักพันล้าน การทำแบบนี้น่าจะมีอิมแพ็คดีเพราะเรียลเซ็คเตอร์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย"


แน่นอนว่าการเป็นวีซีหนีไม่พ้นบทบาทหลักๆ สองอย่างก็คือ “ฟันด์ก็ต้องเรสด์ อินเวสต์ก็ต้องทำ” ถามว่าบริษัทที่จะมาร่วมลงทุนที่เป็นเป้าหมายของมูนช็อตคือกลุ่มใด ทวันทว์บอกว่า ไม่ได้มีข้อจำกัดแต่คงไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินมากพอจะลงทุนตั้งซีวีซี หรือ Corporate Venture Capital เองได้ เป็นบริษัทขนาดเล็กลงมาแต่ก็อยากได้เทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพ เอามาสร้างความสามารถในการแข่งขันเช่นเดียวกัน และมูนช็อตฯ ก็คือคำตอบเป็นอีกหนึ่งในวิธีการที่เขาจะทำได้


"ลักษณะโครงสร้างของมูนช็อตเป็นจอยเวนเจอร์ บริษัทที่ลงทุนมาก็ถือหุ้น แต่การเขาไม่ต้องใส่เงินเป็นหลักพันล้าน อาจลงร้อยหรือสองร้อยล้าน และเราก็จะทำหน้าที่หาอินโนเวชั่นให้กับเขา ถามว่าเวลาไปชวนบริษัทมาลงทุนยากไหม ถ้าพูดเล่น ๆก็บอกว่ายาก ท้าทายมาก เพราะ หนึ่ง ความเข้าใจรวมถึงความต้องการใช้เทคโนโลยีของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกัน สอง เรื่องของเงินลงทุนก็จะอยู่ที่อำนาจการบริหารของของแต่ละเลเวลว่าเป็นอย่างไร"


สำคัญที่สุดก็คือจำเป็นต้องมีการสื่อสารกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฏ กติกา วิธีการในการลงทุน เพราะการลงทุนในลักษณะวีซีย่อมไม่ใช่การลงทุนแบบ “เสี่ยงต่ำ” แต่เป็นการลงทุนที่ “เสี่ยงสูง” จำเป็นต้องชี้ให้เห็นความคุ้มค่าที่จะได้มา สิ่งที่จะได้เรียนรู้ระหว่างทางก่อนที่สตาร์ทอัพจะเอ็กซิทเป็นตัวเงินคืนกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้งาน ใช้สร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น ตลอดจนวิธีคิดและกระบวนการของความเป็นสตาร์ทอัพที่โดดเด่นในเรื่องของการปรับตัวได้เร็วมาใช้ในการปรับเปลี่ยนองค์กร เป็นต้น


"ในเวลานี้ผู้บริหารทุกบริษัทย่อมต้องคิดอยู่แล้วว่าต้องมีการปรับตัว ด้วยปัจจุบันที่สภาพการแข่งขันมีสูงมาก ไม่ว่าจะอย่างไรย่อมต้องมีการใช้อินโนเวชั่นเป็นเครื่องมือ แต่ต้องบอกว่าในเทียร์แรก เป็นบริษัทที่เขาอยากได้ทั้งยังมีความเข้าใจในเรื่องของอินโนเวชั่นมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งเทียร์แรกที่เซ็นสัญญาแล้วมีอยู่ 6 ราย แต่จ่ายเงินมาแล้ว 4 ราย เป็นกลุ่มแมนูแฟตตอริ่ง พลังงานทางเลือก โลจิสติกส์ และกลุ่มเครื่องมือเทรดดิ้ง"


เมื่อมองทางฝั่งสตาร์ทอัพ ปัจจุบันที่มูนช็อตได้ร่วมลงทุนแล้วอยู่ในกลุ่มคอนสตรัคชั่น พร็อพเพอร์ตี้ ฟินเทค และกำลังจะเพิ่มเข้ามาในไปป์ไลน์อยู่เรื่อย ๆ


"สตาร์ทอัพในเวลานี้เขาไม่ได้มองเรื่องของเงิน แม้ว่าเหตุผลอันดับแรกที่เขาคุยกับวีซีเป็นเรื่องเงิน แต่มันกลับไม่ใช่เป็นประเด็นใหญ่ แต่เขามองว่าเราจะช่วยให้คำปรึกษาหรือการสนับสนุนอะไรให้กับเขาได้ อาจเป็นเรื่องของเน็ตเวิร์ค อาจเป็นเรื่องการเข้าไปช่วยปรับปรุงหรือทำให้ระบบหลังบ้านของเขาให้ดีขึ้น ในการระดมทุนแต่ละรอบสตาร์ทอัพเขาก็ไม่ได้มองหาอินเวสเตอร์แค่รายเดียว แต่เขามองว่าในหนึ่งราวด์จำเป็นต้องมีใครบ้าง ส่วนผสมต้องเป็นอย่างไร เป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผลและสมาร์ทมาก"


อย่างไรก็ตามแม้จะอยู่ในวงการวีซีมานาน แต่ทวันทว์ก็ออกตัวว่าเขาเองก็ยังไม่เก่ง แต่ก็ช่วยสตาร์ทอัพหลายทีมฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ด้วยดี และยังได้นำเอาหลักการบางอย่างที่เคยทำสมัยทำงานที่อินเว้นท์มาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการ “มอนิเตอร์” ซึ่งก็อาจทำให้สตาร์ทอัพเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจอยู่บ้าง


" มูนช็อตเราไม่ใช่แพสซีฟ ค่อนข้างแอคทีฟ ถ้าหากบางสิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นความเสี่ยง มีลักษณะว่ามันควรต้องขันน็อตเราก็จะแนะนำสตาร์ทอัพ ดังนั้นก็ต้องพิจารณาว่าสตาร์ทอัพที่เราจะไปลงทุนเราสามารถโค้ชเขาได้มากน้อยแค่ไหน ฟังเรามากน้อยขนาดไหน ระหว่างเรามันย่อมมีแก็บอยู่แล้วเพียงแต่มุมมองของเราอาจจะเห็นความเสี่ยง เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเราก็จะบอกเขา ส่วนเขาจะมองเห็นเหมือนเราหรือมูฟได้เร็วหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่ว่าถ้าเขาเชื่อเราก็จะทำให้ความเสี่ยงต่างๆมันลดลงได้"


ถามถึงไมล์สะโตน สำหรับเขาคือการสร้างความสมดุลระหว่าง “ผลตอบแทน” กับการเป็น “Strategic Investor” และได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในเวลาสามปีจากนี้ได้มองเรื่องของการมีรีเทิร์นกลับมาให้กับกลุ่มนักลงทุน เพราะในความเป็นวีซีแล้วไม่ว่าจะอย่างไรย่อมหนีไม่พ้นการสร้างข่าวดีให้ผู้ถือหุ้น ให้กับกลุ่มนักลงทุน


"ถ้ามองถึงสถานการณ์การแข่งขันของวีซี ผมว่าทุกรายมีความชัดเจนในเรื่องการลงทุน สิ่งที่มองหา และความต้องการชัดขึ้น และยังมองว่าการลงทุนต้องมองหาพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้จะให้สตาร์ทอัพเติบโต เพราะการสร้างสตาร์ทอัพรายหนึ่งขึ้นมาให้เป็นยูนิคอร์นมันคือวาระแห่งชาติสำหรับผมเลย ทางตรงข้ามถ้ามองว่าสตาร์ทอัพรายนี้จะต้องเอ็กคลูซีพ เป็นไม้เด็ดของเราคนเดียวมันก็มีผลกระทบต่อสตาร์ทอัพ"


ทิ้งท้ายด้วยแผนของปีนี้ มูนช็อตได้ตั้งเป้าว่าจะต้องลงทุนในสตาร์ทอัพจำนวน 3 ราย ซึ่งที่กำลังคุยกันอยู่เป็นกลุ่มคอนสตรัคชั่น และพร็อพเพอร์ตี้ รวมถึงพยายามจะดึงนักลงทุนมาร่วมปิดกองทุนให้ครบพันล้านบาทซึ่งตอนนี้ก็ได้เกินครึ่งมาเยอะแล้ว