กสทช.ทุ่ม 200 ล้าน ทดสอบ “5จี”

กสทช.ทุ่ม 200 ล้าน ทดสอบ “5จี”

ผนึกมหาวิทยาลัยหายูสเคสใช้งานจริงภายในปีนี้

กสทช.เอ็มโอยูร่วม 3 มหาวิทยาลัย ตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5จี กระจายทั่วประเทศ หลังนำร่องให้จุฬาฯลุยทดสอบที่แรกไปแล้ว คาดใช้งบรวมดว่า 200 ล้านบาท หายูสเคสจริงให้ได้ทันในปีนี้ ระบุเตรียมไฟเขียวให้คลื่น 26 กิกจำนวน 1,000 เมกะเฮิรตซ์เปิดช่องทดสอบได้เต็มที่รองรับการใช้งานจริงในปลายปี 63

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (20 มิ.ย.) สำนักงานกสทช.ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5จี เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับการให้บริการไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อหารูปแบบการใช้งานจริง (ยูสเคส) ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ หลังจากที่สำนักงานกสทช.เปิดให้จัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 รายไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นรูปแบบเดียวกับความร่วมมือการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5จี ที่ได้ลงนามไปแล้วกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเจตนารมย์ที่สำคัญในการขยายความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 5จี เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้ง ต้องการให้มีความเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะการทดลองทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ทางไกล

ทั้งนี้ คาดว่ากสทช.จะอนุมัติเงินให้แก่มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งรวมกันกว่า 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการทดลองทดสอบ 5จี และพัฒนารูปแบบการใช้งาน (ยูส เคส) ซึ่งจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 1,000 เมกะเฮิรตซ์ในการทดสอบครั้งนี้ โดยจะดึงจุดเด่นของลักษณะอัตลักษณ์ภูมิศาสตร์ โอกาส และความท้าทายในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัย ทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ระบบเกษตรกรรมนำสมัย ควบคุมการผลิตทางการเกษตรที่แม่นยำ

“คาดว่าภายในสัปดาห์นี้เราจะเซ็นอนุมัติเงินให้แก่จุฬาลงกรณ์จำนวน 56 ล้านบาท เพื่อทำไปทดสอบ 5จีและหายูสเคส ซึ่งจุฬาฯระบุแล้วว่าจะทำทั้งหมด 13 ยูสเคส ส่วนของอีก 3 มหาวิทยาลัยคาดว่าหลังจากเอ็มโอยูวันนี้แล้วก็น่าจะใช้เวลาราว 2-3 เดือนหลังจากนั้นก็จะอนุมัติเงินให้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้มหาวิทยาลัยละ 50 ล้านบาท โดยสิ่งที่ต้องการคือหายูสเคสที่สามารถใช้งานจริงภายในปลายปีนี้ เพื่อรองรับการใช้งาน 5จีเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2563”เลขาธิการกสทช.กล่าว

เขา กล่าวว่า ส่วนของ มข.และ มช.ได้มีการเสนอโครงการเพื่อศึกษายูสเคส 5จีในเรื่องการ พัฒนาระบบการจัดการข้อมูล และหุ่นยนต์ในการควบคุมเครื่องวัดสภาพแวดล้อม และการแจ้งเตือนฉุกเฉิน (ค่า PM2.5) และการควบคุมโดรนในภารกิจการดับไฟ ขณะที่ มอ. เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ที่แตกต่างจากภาคอื่น จึงต้องการจะเน้นไปที่ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัด และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะและการจัดการผลผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่

เขา กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา เห็นพ้องกันว่า โครงการความร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงช่วยขยายขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้มข้นทั้ง 3 จังหวัด ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดด้านการแพทย์ การพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด และเป็นศูนย์กลางการขยายตัวในแต่ละภูมิภาค โดยเน้นความปลอดภัย การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจในทุกด้าน