เปิด5ปัจจัยฉุดอุตฯรถยนต์โลกเผชิญภาวะขาลง

เปิด5ปัจจัยฉุดอุตฯรถยนต์โลกเผชิญภาวะขาลง

รายงานข่าวที่ว่า “ฟอร์ด” ค่ายรถรายใหญ่ของสหรัฐมีแผนปิดโรงงานในเมืองบริดเจนด์ของอังกฤษในปีหน้า ซึ่งจะมีลูกจ้างตกงานราว 1,700 ตำแหน่ง นับเป็นหายนะล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของอังกฤษ

เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา “ฮอนด้า” ผู้ผลิตรถชื่อดังของญี่ปุ่น แถลงว่า จะปิดโรงงานในเมืองสวินดอนภายในปี 2564 ซึ่งจะมีการเลิกจ้างประมาณ 3,500 ตำแหน่ง ขณะที่ “จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์” และ “นิสสัน” ก็เตรียมลดการผลิตและเลิกจ้างพนักงานของตนเช่นกัน

แผนดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่บรรดาผู้ผลิตรถทั่วโลกต้องดิ้นรนรับความท้าทายรอบด้าน ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มซื้อรถน้อยลง และนี่คือ5 เหตุผลที่ทำให้บรรดาค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

1. ความต้องการถดถอย

หลังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาหลายปี ยอดขายรถทั่วโลกกลับอยู่ระดับทรงตัวในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงในตลาดขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างจีน

“ปัจจัยนี้สร้างความเสียหายต่อค่ายรถที่เคยดำเนินธุรกิจอย่างคึกคักในจีน” เดฟ เลกเกตต์ บรรณาธิการเว็บไซต์แวดวงยานยนต์ “จัสต์-ออโต” (Just-Auto) กล่าว และว่า “ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งยังกระทบความเชื่อมั่นในจีนด้วย เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวอยู่แล้ว แต่สงครามการค้ายิ่งทำให้เห็นความซบเซาชัดขึ้น

จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ระบุว่า ผลประกอบการที่ย่ำแย่เป็นผลจากความต้องการร่วงลงในจีน ขณะที่ฟอร์ดได้ยกเลิกแผนจำหน่ายรถที่ผลิตในจีนรุ่น “โฟกัส”ในตลาดสหรัฐ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้า

ภาวะซบเซาในจีนมีขึ้นในช่วงที่ความต้องการในตลาดยานยนต์ยักษ์ใหญ่อีก 2 แห่งอย่างยุโรปตะวันตกและสหรัฐกำลังชะลอตัว ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ถดถอยของผู้บริโภค

“สิ่งนี้ทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น และทำให้เป็นเรื่องยากลำบากขึ้นสำหรับทุกคน” เลกเกตต์ระบุ

2. ปมโกงค่ามลพิษ

ในยุโรป ประเด็นการปล่อยมลพิษยังสร้างความปวดหัวให้กับบรรดาบริษัทรถยนต์ นอกจากนั้น ความกังวลเรื่องคุณภาพอากาศและการแก้ไขกฎหมายภาษี นำไปสู่ยอดขายที่ร่วงลงอย่างหนักของรถดีเซล และทำให้ยอดจดทะเบียนรถคันใหม่ในอังกฤษลดลง 7% ในปี 2561

สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือการเริ่มใช้มาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบใหม่ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจัดการปัญหาโลกร้อนที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถสูงขึ้นมาก

ตั้งแต่ปี 2564 บรรดาผู้ผลิตรถจะต้องเผชิญกับค่าปรับก้อนโตในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) หากรถของตนละเมิดข้อจำกัดการปล่อยมลพิษที่ชาติสมาชิกตกลงกันไว้ และเป้าหมายเหล่านี้จะเข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ผู้ผลิตรถต้องเพิ่มต้นทุนเฉลี่ย 1,000 ยูโรต่อคัน ในการทำให้รถสอดคล้องกับกฎใหม่” อาร์นต เอลลิงฮอร์สต นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทเอฟเวอร์สกอร์ ไอเอสไอเผย และว่า “นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคจะอยากซื้อรถน้อยลง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคซบเซาลงอีกในภาพรวม”

3. การท้าทายของรถไฟฟ้า

บรรดาผู้ผลิตรถต่างต้องการที่จะจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดระดับการปล่อยมลพิษของตน แต่ก็มีอุปสรรคใหญ่ขวางอยู่

“ค่ายรถหลายรายยังไม่พร้อมที่จะจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าในจำนวนที่เหมาะสม” เลกเกตต์เผย และว่า “พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนการดำเนินงานของตนและปรับแต่งรถให้เข้ากับตลาดแมสอีกมาก แต่สิ่งนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนเช่นกัน”

ขณะเดียวกัน ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ตลาดยังไม่พร้อมสำหรับรถพลังงานไฟฟ้า

ยอดขายรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 73% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 1.3 ล้านคัน แต่ยังถือเป็นสัดส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับยอดขายรถทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 86 ล้านคัน

โจนาธาน โอเวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์จากโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งคือการขาดสถานีชาร์จแบตเตอรี่ตามท้องถนนในยุโรปและสหรัฐ แม้ว่าจีนจะมีความก้าวหน้าในด้านนี้ก็ตาม

อีกปัญหาหนึ่งคือ ข้อจำกัดของรุ่นรถพลังงานไฟฟ้าสำหรับตลาดกลางถึงล่าง

“ฟอร์ดเคยมีรถไฟฟ้ารุ่นโฟกัสตั้งแต่ปี 2554 แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว โฟกัสสู้ไม่ได้เลยเพราะวิ่งได้ไม่ถึง 160 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง” โอเวนส์ชี้ และบอกว่า รถโฟล์คสวาเกนรุ่นกอล์ฟ สามารถวิ่งได้ราว 193 กม.ต่อรอบชาร์จ

4. การมาของรถอัตโนมัติ

เลกเกตต์ กล่าวว่า หากรถขับเคลื่อนอัตโนมัติกลายเป็นรถกระแสหลักใน 15 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจำนวนมากอาจเลือกใช้บริการแชร์รถหรือเช่ารถมากกว่าซื้อรถเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการเดินทางต่อกิโลเมตรลดลง และทำให้คนสนใจซื้อรถเป็นของตัวเองน้อยลง

บรรดาบริษัทแบบดั้งเดิมต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอด ในขณะที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี เช่น อูเบอร์ บริษัทแชร์รถของสหรัฐ และเวย์โม บริษัทลูกด้านรถอัตโนมัติของกูเกิล กระโจนเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตามการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) สร้างต้นทุนมหาศาล และหลายบริษัทร่วมมือกันเพื่อกระจายความเสี่ยง

ตัวอย่างล่าสุด รวมไปถึงข้อตกลงของฟอร์ดและโฟล์คสวาเกนในการพิจารณาวิธีการทำงานด้านยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าและขับเคลื่อนอัตโนมัติร่วมกัน ขณะที่ฮอนด้าลงทุน 2,750 ล้านดอลลาร์ในบริษัทลูกด้านรถอัตโนมัติของคู่แข่งอย่าง “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” (จีเอ็ม) และมีแผนเปิดตัวฝูงแท็กซี่อัตโนมัติในอนาคต

5. เบร็กซิท

ในอังกฤษ บรรดาบริษัทรถออกมาเตือนหลายครั้งเกี่ยวกับความเสียหายร้ายแรงจากการออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงของอังกฤษ นับตั้งแต่ลงประชามติออกจากอียูเมื่อปี 2559

นอกจากนั้น การลงทุนในอุตสาหกรรมรถอังกฤษ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยร่วงถึง 46.5% เฉพาะในปี 2560 บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า ปัญหาคือโรงงานผลิตรถในประเทศพึ่งพาชิ้นส่วนที่นำเข้าจากอียูเป็นหลัก ขณะที่รถประกอบสำเร็จรูปที่ผลิตในอังกฤษ ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปแผ่นดินใหญ่ยุโรป

“หากเรามีความไม่แน่นอนในรูปแบบของภาษีนำเข้า จะยิ่งสร้างอุปสรรคและความล่าช้าที่จะทำให้โรงงานรถในอังกฤษมีรายได้ลดลง” โอเวนส์กล่าว

ขณะที่เลกเกตต์ เน้นย้ำว่า เบร็กซิทเป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวแปรที่สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์อังกฤษ “คาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะส่งออกรถไปจีนน้อยลง และยอดขายที่ซบเซาในยุโรป ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอังกฤษก็ไม่ได้คึกคักขนาดนั้นในตอนนี้”