“พิเชฐ”แจงผลงานดีอี 4ปี ขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจสังคมยุคใหม่

“พิเชฐ”แจงผลงานดีอี 4ปี ขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจสังคมยุคใหม่

“ดีอี” แถลงผลงานกระทรวงดิจิทัลฯ 4 ปี ชู 10 โครงการเด่น ขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ ฝาก รมว.คนใหม่ สานต่อนโยบาย พัฒนาคน การลงทุน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงผลงานความสำเร็จของกระทรวงดิจิทัลฯ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นผลจากความมุ่งมั่นของหน่วยงานในสังกัดร่วมกันขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนในวงกว้างมีโครงการโดดเด่นที่ 10 โครงการ

เริ่มจากโครงการเน็ตประชารัฐที่ดีอีได้มอบหมายให้ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง 24,700 หมู่บ้าน รองรับการใช้งานของประชาชน 5.53 ล้านคน และยังเป็นฐานต่อยอดไปสู่การพัฒนาศักยภาพคนทั่วประเทศในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

รวมทั้ง โครงการดิจิทัล สตาร์ทอัพ และ ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,900 ล้านบาท กระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการรวมถึงเกษตรกรรม ผลการดำเนินการใน 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลกว่า 45,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซ บูรณาการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ สู่การขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ผ่านระบบบริหารร้านค้าปลีกสำหรับชุมชน “Point of Sale ( POS)” และเว็บไซต์ Thailandpostmart.com ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนจำหน่ายสินค้าในระบบ POS แล้ว 900 ราย จำนวนสินค้า 1,700 รายการ สร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ 20 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล ประกอบด้วย โครงการสำรวจผู้มีรายได้น้อยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนำข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐราว 2.9 ล้านคน มาเชื่อมโยงกับข้อมูลสำมะโนเกษตร เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานะของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และโครงการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อการเตือนภัย โดยเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ซึ่งระบบนี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศกว่า 67ล้านคน ได้รับข้อมูลข่าวสารและการเตือนภัย

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มี 2 โครงการ ได้แก่ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ และ สถานบันไอโอที ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีโครงการเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ปี 2562 จะนำร่องเพิ่มเติมเป็นไม่ต่ำกว่า 24 เมือง จากปีก่อนได้กำหนดแนวทางดำเนินงานนำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ผลักดันและออกกฎหมายจัดตั้งสำนักงานไซเบอร์ หรือสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสร้างระบบการดูแลมาตรฐานภาครัฐระบบทางด้านไอโอทีระบบดาวเทียมในอนาคต การจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียน และการสร้างแพลตฟอร์ม ฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ทางด้านไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยเสริมเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนา ดิจิทัล ไทยแลนด์”

ฝากว่าที่ รมว.ดีอีสานต่อนโยบาย

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ขอฝากภารกิจว่าที่รัฐมนตรีคนใหม่ให้ช่วยสานต่อการทำงานขั้นต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ความเชื่อของพันธมิตรองค์กรทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงทั้งการสานต่อโครงการใหญ่ ความต่อเนื่องในการสร้างบุคลากรเพิ่มทั้ง 3 ระดับ คือ ทักษะใหม่ ยกระดับทักษะ และการปรับทักษะด้านดิจิทัล ความต่อเนื่องการลงทุนด้านดิจิทัลโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และความต่อเนื่องในการให้ประชาชนฐานรากใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารที่มี ในการทำมาหากินและพัฒนาคุณภาพชีวิต

“ความต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวัง รัฐบาลนี้ มีเครื่องมือทางนโยบายเตรียมไว้ให้พร้อมแล้ว ทั้งกฎหมายมาตรฐาน โครงสร้างพื้นฐานและนโยบาย ระดับของความก้าวหน้าที่ประเทศไทยดำเนินการมาในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเชื่อมั่นได้มากพอ จึงไม่ควรละทิ้งโอกาสนี้ ขอฝากให้รักษาความต่อเนื่อง ทั้งกับนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารกระทรวง และขอฝากถึงข้าราชการและเอกชนที่จะร่วมมือกัน” นายพิเชฐกล่าว