กรม สบส. ปรับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ

กรม สบส. ปรับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ

กรม สบส. ปรับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานระบบบริการสุขภาพให้หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศทุกระดับให้มีมาตรฐานความปลอดภัย สนับสนุนให้สถานพยาบาลในพื้นที่ มีการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นองค์กรหลักในการพิทักษ์และคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ ได้ปรับปรุงมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ฉบับปี 2560 (ฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) โดยการปรับปรุงเป็นมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ฉบับปี 2562 (มาตรา 5) ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้สถานพยาบาลทุกระดับ สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริม พัฒนาคุณภาพบริการ ให้ประชาชนผู้รับบริการเกิดความมั่นใจในการใช้บริการของสถานพยาบาล ผู้ป่วยและญาติได้รับความสะดวกสบาย ภายใต้สถานที่ที่สะอาดเป็นระเบียบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งได้รับการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมใช้งาน มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ และยังได้รับความรู้ในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของตนเองทั้งในระหว่าง และหลังการรักษา

ด้านนายปริญญา คุ้มตระกูล  ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการจัดทำมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ฉบับปี 2562 (มาตรา 5) จากหน่วยงานภายในกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลภาครัฐ ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ คำแสด ริเวอร์แคว  รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี โดยระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานในการดำเนินการด้านระบบบริการสุขภาพ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ  ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวประกอบไปด้วย 8 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ด้านการบริหารจัดการ หมวดที่ 2 ด้านการบริการ หมวดที่ 3 ด้านอาคาร สถานที่ และสิ่งอานวยความสะดวก  หมวดที่ 4 ด้านสิ่งแวดล้อม หมวดที่ 5 ด้านความปลอดภัย และ Cyber Security หมวดที่ 6 ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข หมวดที่ 7 ด้านระบบงานสนับสนุนพื้นฐานที่สำคัญ หมวดที่ 8 ด้านสุขศึกษา เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้พร้อมใช้และโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อการให้บริการประชาชนได้มาตรฐานและมีความพึงพอใจในการใช้บริการ สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวทางที่ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป