แนะประชาชนยึดหลัก '3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค'

แนะประชาชนยึดหลัก '3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค'

กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ไข้เลือดออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างใกล้ชิด แนะประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

 วันนี้ (29 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลสถาณการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วย 23,622 ราย เสียชีวิต 30 ราย ซึ่งในช่วงนี้เป็นฤดูฝน เป็นฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากเป็นอันดับสองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,267 ราย เสียชีวิต 2 ราย รองจากอันดับหนึ่งคือ จังหวัดนครนครราชสีมา 1,424 ราย

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จึงมีมาตรการสำคัญ เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้มีการระบาด และขยายวงกว้าง จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรค ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นกับประชาชน

ดังนี้ 1.ให้หน่วยงานราชการ ติดตามอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 2.ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิต โดยการจัดตั้ง Dengue Corner และการใช้ Dengue Chart ในการติดตามรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก 3.การควบคุมยุง โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกบ้าน ทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล 4.พัฒนาความรอบรู้ของประชาชน ให้เกิดความตระหนักว่าการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน พร้อมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด  โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง  อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422