รพ.นพรัตน์ฯรับผู้ป่วยน็อคกัญชา 7 ราย

รพ.นพรัตน์ฯรับผู้ป่วยน็อคกัญชา 7 ราย

กรมการแพทย์เผยรอบ 1 เดือน รพ.นพรัตน์ฯ รับคนไข้น็อคกัญชา 7 ราย ย้ำไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค เตือนประชาชนซื้อใช้เองเสี่ยงอันตราย มั่นใจภายในเดือนมิ.ย.มี “แพทย์กัญชา” ครบทุกจังหวัด รองรับการดูแลผู้ป่วย

วันนี้(24 พ.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว “ความต้องการกัญชาทางการแพทย์ การนำมาใช้ และวิถีการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม”ว่า จากการตรวจเยี่ยมรพ.นพรัตนราชธานี ทำให้ทราบข้อมูลว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเนื่องจากการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาด้วยตนเอง 7 ราย ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน โดยคนไข้รายแรก เพศชาย อายุ 20 ปี มีอาการเดิมปวดท้องเรื้อรัง จึงใช้น้ำมันกัญชา 1-2 ครั้ง รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 35 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดัน หลังใช้ไป 4 ชั่วโมงเกิดอาการบ้านหมุน รายที่ 3 ไม่มีโรคประจำตัว เข้าใจว่าน่าจะเป็นผู้เสพกัญชา มีอาการปวดบิดท้อง และคลื่นไส้


รายที่ 4 เป็นพระอายุ 60 ปี ไม่มีรายงานโรคประจำตัวมาก่อน แต่มีอาการปวดเมื่อยจึงใช้น้ำมันกัญชา ภายไป 1 คืน มีอาการเวียนศรีษะ และเป็นอัมพาตครึ่งซีก และตรวจเจอภายหลังว่ามีความดันโลหิตสูงซึ่งอาจจะไม่ทราบมาก่อน รายที่ 5 ชาย อายุ 45 ปี มีประวัติผ่าตัดหัวใจและความดันสูง หลานนำน้ำมันกัญชามาให้บอกรักษาทุกโรค จึงหยดเพื่อแก้ปวด เกิดอาการตาลาย อาเจียน รายที่ 6 ผู้ป่วยอายุ 75 ปี เป็นระยะติดเตียง หลานหยดน้ำมันกัญชาให้ใช้ ปรากฏว่าปลุกไม่ตื่น ซึมมาก ต้องรักษาในรพ.2-3วัน และรายที่ 7 เป็นหญิง อายุ ราว 35-40 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีความเครียดจึงหยดน้ำมันกัญชา 3-4 วัน ร่วมกับการกินเบียร์ เกิดคลื่นไส้ อาเจียน


นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีเพียง 4 โรค ที่หากผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานสามารถใช้ได้เลย คือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกลามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆและไม่ได้ผล แต่หากเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ การใช้จะต้องเป็นลักษณะของการวิจัยและเก็บข้อมูลจากผู้ป่วย และควรจะต้องสั่งใช้โดยแพทย์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์ผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแพทย์ เภสัชกร และทันตแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วราว 180 คน อย่างไรก็ตราม ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.2562 จะมีแพทย์และเภสัชกรที่สามารถสั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ครอบคลุทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่ในรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าแห่ง จำนวน 250 คน โดยจะอบรมในวันที่ 17-18 มิ.ย. 2562


“อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ากัญชาไม่ใช่ยาวิเศษที่จะรักษาได้ทุกโรค ในแง่ของการใช้กัญชารักษาโรคทางการแพทย์ ควรรับข้อมูลจากฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการรักษา เพราะหากหาซื้อมาใช้เองอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ อย่างเช่น มีรายงานจากสถาบันประสาทวิทยาว่าพ่อแม่รายหนึ่งหาซื้อน้ำมันกัญชามาให้ลูกที่เป็นลมชักใช้ก็ปรากฎว่าอาการดีขึ้น จึงไปซื้ออีก 1 ขวดจากคนขายคนเดิม ปรากฏว่าไม่ได้ผล ซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่งของการหาซื้อน้ำมันกัญชามาใช้เอง เพราะจะไม่ทราบว่าในน้ำมันนั้นมีสาระสำคัญอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ และสาระสำคัญอาจไม่คงที่ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีคนแสวงหาประโยชน์ด้วยการหลอกขายน้ำมันกัญชาจำนวนมาก และภายในเดือนมิ.ย.นี้จะมีแพทย์สั่งใช้กัญชาได้ครอบคลุมทุกจังหวัด ขอให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ไปปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อจะได้ใช้อย่างเหมาะสมกับโรคและมีความปลอดภัย”นพ.สมศักดิ์กล่าว


ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ากัญชาคือยา จึงเหมือนกับยาอื่นที่หากมีการใช้ที่ไม่ถูกต้องย่อมเกิดผลข้างเคียงขึ้น ปัญหาการใช้กัญชาทางการแพทย์ตอนนี้ คือ ประชาชนใช้โดยที่ไม่มีองค์ความรู้ในการใช้ ไม่รู้ว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้กับโรคไหนอย่างไร รวมถึง ไม่มีการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้นั้นมีความสะอาดปลอดภัยหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากยังไม่มีความรู้ในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ก่อนเสมอ


“กัญชาคือยา ไม่ต่างจากยาอื่นๆ ที่หากมีการใช้ผิด หรือปริมาณที่มากเกินไป หรือในรูปแบบที่ไม่ถูกต้องจะเกิดปัญหาแน่ๆ เช่น กรณีที่มีการใช้ยาปัจจุบันอยู่ แล้วใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา ก็จะเพิ่มฤทธิ์ของยานอนหลับ ต้านซึมเศร้า หดหู่ เพราะฉะนั้น แพทย์ เภสัชกรที่จะสั่งใช้กัญชาทางการแพทย์จะต้องรู้ว่ามีข้อจำกัดอะไรในการใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงกับยาปัจจุบันอะไรบ้าง”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว


นายอภิวัฒน์ เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโปรแกรมเมอร์สร้างเว็บไซต์ลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเทอร์เน็ต กล่าวในงานแถลงข่าวความต้องการกัญชาทางการแพทย์ การนำมาใช้และวิถีการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ว่า การลงทะเบียนใช้กัญชาทางออนไลน์ของสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 13-21 พ.ค. 2562 พบว่า มีคนที่สนใจและเข้ามาในตัวเว็บไซต์ลงทะเบียน 139,977 คน จำนวนนี้มีคนที่ยืนยันตัวตนในระบบมีทั้งสิ้น 43,893 คน แต่ยืนยันครบทุกขั้นตอนจำนวน 31,177 คน เมื่อจำแนกตามพื้นที่มีครบทั้งหมด 77 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 8,726 คน 2.นนทบุรี 1,400 คน 3.นครราชสีมา 1,205 คน 4.เชียงใหม่ 1,203 คน และ 5.ปทุมธานี 1,145 คน


หากแยกตามรายภาค พบว่า ภาคกลางสูงที่สุด คือ 15,748 คน หรือประมาณ 50% สูงสุดอยู่ที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,157 คน ภาคตะวันออกและตะวันตก 3,699 คน ภาคใต้ 3,371 คน และ ภาคเหนือ 3,202 คน อันดับอาการของผู้ป่วยที่ลงทะเบียน พบว่า 1. โรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง 2. โรคไบโพลาร์ 3. โรคซึมเศร้า และ4. โรคอัลไซเมอร์