จับตา“นารุฮิโตะ”จักรพรรดิองค์ใหม่แห่งรัชศกเรวะ

จับตา“นารุฮิโตะ”จักรพรรดิองค์ใหม่แห่งรัชศกเรวะ

นักวิเคราะห์ มองว่าจากมาตรฐานที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงวางไว้ องค์พระประมุขพระองค์ใหม่ ก็คงจะเสด็จดำเนินรอยตามในแบบที่คล้าย ๆ กัน และจะทรงขยายการเข้าถึงพสกนิกรผ่านการปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะมากขึ้น

รัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเวลาหลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา เมื่อมกุฏราชกุมารนารุฮิโตะ เสด็จขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ หลังพระราชบิดาของพระองค์ สละราชสมบัติไปเมื่อช่วงบ่ายของวานนี้ ซึ่งการสละราชสมบัติ มีผลหลังช่วงเที่ยงคืน และมีความหมายถึงการเปิดฉากรัชสมัยเรวะ ที่จะดำเนินไปตลอดรัชสมัยที่นารุฮิโตะอยู่ในราชบัลลังก์

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2503 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันพระชันษา 59 ปี เป็นพระราชโอรส ในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงมีพระอนุุชา 1 พระองค์ คือเจ้าชายอากิชิโนะ และ พระขนิษฐาคือ อดีตเจ้าหญิงซายาโกะ

ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยกะกุชุอิง สาขาประวัติศาสตร์ ก่อนจะเสด็จไปทรงทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยออฟซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เจ้าชายนารุฮิโตะ ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น เมื่อปี 2534

พระองค์ ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ นางสาวมาซาโกะ โอวะดะ นักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2536 มีพระธิดา 1 พระองค์คือเจ้าหญิงไอโกะ

ในเวลา 10.30 น. ของวันนี้ตามเเวลาท้องถิ่น หรือ 8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 126 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีพระชนมายุ 59 พรรษา จะประกอบพิธีรับเครื่อราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างเป็นทางการ ในพิธีที่เคร่งขรึมในพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว

ในพระราชพิธีที่เป็นเสมือนพิธีขึ้นครองราชย์ในเบื้องต้น จะยังคงมีขึ้นในท้องพระโรงที่เรียกกันว่ามาสึโนมะ หรือท้องพระโรงต้นสน เนื่องจากผนังท้องพระโรงประดับไปด้วยผ้าที่มีลวดลายต้นสน ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดียวกันกับที่พระราชบิดาของพระองค์ใช้ประกอบพิธีสละราชสมบัติไปเมื่อวาน และพิธีในวันนี้ ก็จะยังคงเคร่งขรึม เรียบง่าย ใช้เวลาสั้นมาก แค่ 10 นาทีเหมือนกับเมื่อวานด้วยเช่นกัน

ในพระราชพิธีวันนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิ จะประกอบพิธีรับ พระแสงดาบคุซานางิ และอัญมณียาซากะนิ ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 2 ใน 3 ชิ้น รวมถึงพระราชลัญจกร

สำหรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นที่ 3 คือ พระฉาย หรือกระจกศักดิ์สิทธิ์ยาตะโนะคางามิ ก็เช่นเดียวกับเมื่อวาน คือไม่เคยมีการนำออกจากสถานที่เก็บในพระราชวัง แต่สำหรับพิธีในวันนี้ มีการส่งผู้แทนพระองค์ไปทำพิธีสวดมนต์ต่อหน้ากระจกซึ่งก็เป็นเสมือนกับการที่องค์พระประมุขทรงรับมอบกระจก

ในพระราชพิธี สมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่มีการตรัสใด ๆ และพิธีนี้ห้ามเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงเข้าร่วม และไม่นานหลังจากนั้น คือในเวลา 11.10 นาที สมเด็จพระจักรพรรดิ์จะทรงเข้าร่วมในอีกพิธีหนึ่ง ซึ่งพระองค์จะตรัสเป็นครั้งแรกในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะกราบบังคมทูลในฐานะตัวแทนพสกนิกรชาวญี่ปุ่น เช่นเดียวกับเมื่อวาน

ในวันที่ 4 พ.ค. สมเด็จพระจักรพรรดิจะเสด็จออกมาพบปะกับพสกนิกรเป็นครั้งแรกที่บริเวณระเบียงบุกระจกในพระราชวัง แต่หลังจากนั้น พระราชกรณียกิจของพระองค์จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 22 ต.ค. โดยมีแขกรับเชิญจากในและนอกญี่ปุ่นประมาณ 2,500 คน

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองจากหลายสำนักให้ความเห็นว่า เมื่อขึ้นเป็นองค์พระประมุขของประเทศแล้ว องค์จักรพรรดิใหม่ของญี่ปุ่นจะเผชิญกับความท้าทาย 2 เรื่องสำคัญคือ การสานต่อตำนานของพระราชบิดา ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาขนบธรรมเนียมของญี่ปุ่นที่ดำเนินมานานหลายศตวรรษให้ดำรงสืบไป

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพระจริยวัตรแตกต่างออกไปจากองค์สมเด็จพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์ญี่ปุ่นรุ่นก่อน ๆ โดยทรงให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวส่วนพระองค์ และงานวิชาการที่ทรงโปรดปรานมาเป็นอันดับแรก ทำให้ผู้คนต่างพากันจับตาดูว่า จะทรงนำพาความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ตามกระแสโลกมาสู่สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นได้หรือไม่