แนะเลี่ยงออกกำลังกายกลางแดดนาน เสี่ยงโรคลมร้อน

แนะเลี่ยงออกกำลังกายกลางแดดนาน เสี่ยงโรคลมร้อน

กรมอนามัย แนะ เลี่ยงออกกำลังกายกลางแดดนาน เสี่ยงโรคลมร้อน

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประชาชน   ที่ออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมร้อนหรือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยผู้ที่ออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัด ระบบระบายอากาศไม่ดี  ใส่เสื้อผ้าหนาดื่มน้ำน้อย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สัญญาณสำคัญของโรคนี้คือไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วยจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียนปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็วและอาจรุนแรงถึงขั้น เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ช็อก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วง  เวลาที่อากาศร้อนจัดโดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00–15.00 น. สวมชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยง การออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด และหากมีอาการที่เข้าข่ายให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที หากต้องอยู่หรือออกกำลังกายกลางท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ควรจิบน้ำบ่อย ๆ เพราะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ และควรออกกำลังกายในที่ร่ม เช่น โรงยิม หรือเลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด                               

“นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้แก่ กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์  ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวประจำตัว เช่น โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน  โดยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคอ้วน  ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป ส่วนหญิงตั้งครรภ์หากต้องเดินทางไกลควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางด้วยเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลม เมื่อเจออากาศที่ร้อนจัดภายนอก  และไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้สูงอายุให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทจอดและกลางแจ้งตามลำพัง เป็นเวลานาน เมื่อพบเห็นผู้ที่เป็นโรคลมร้อน ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศรีษะ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากมีสติให้จิบน้ำ หากหมดสติให้ประเมินตามกระบวน CPR แจ้ง 1669 และนำส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด