ลาซาด้าผุด ‘ซูเปอร์ โซลูชั่นส์’ ชิงอีคอมเมิร์ซอาเซียน

ลาซาด้าผุด ‘ซูเปอร์ โซลูชั่นส์’  ชิงอีคอมเมิร์ซอาเซียน

ช่วงนี้แวดวง “อีคอมเมิร์ซ” ยังคงคึกคักน่าจับตามองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของผู้เล่นยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน “ลาซาด้า”

ล่าสุดออกมาประกาศกลยุทธ์ใหม่ที่จะทำให้ผู้ค้ามีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น พร้อมให้คำมั่นว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ แบรนด์ พัฒนาการเติบโตของอีโคซิสเต็มส์

ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาทำงานอย่างหนักเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับ “อาลีบาบา” มาปีนี้มุ่งพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีในหลากหลายมิติ เพื่อผลักดันให้การใช้บริการทุกอย่างมีความสะดวก ผู้ค้ามีความพร้อมสำหรับการแข่งขันในยุคดิจิทัล

“เรายังคงให้ความสำคัญกับตลาดภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก หวังว่าจะมีส่วนเข้าไปช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีกและการค้าสู่โลกออนไลน์ ทั้งวางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการทางเทคโลยีที่จะผลักดันให้มีการนำไอทีไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

ลาซาด้าให้คำมั่นว่า พร้อมลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้าง “ลาซาด้า ดิจิทัล อีโคโนมี” โดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ  เทคโนโลยี โลจิสติกส์ และเพย์เมนท์

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อถึงปี 2573 จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านราย สร้างงานในอีโคซิสเต็มส์อีคอมเมิร์ซ 20 ล้านตำแหน่ง ร่วมสร้างความสำเร็จให้ผู้ประกอบการและธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 8 ล้านราย ต่อไปการค้าขายต้องเป็นไปอย่างไร้พรมแดน

ดันกลยุทธ์ใหม่หนุนผู้ค้า

ในงาน “LazMall Brand Future Forum” ที่ประเทศสิงคโปร์วานนี้ (21 มี.ค.) ลาซาด้า ประกาศกลยุทธ์ใหม่ “ซูเปอร์ โซลูชั่นส์ (Super-Solutions)” เพื่อติดอาวุธแบรนด์และผู้ขาย ผลักดันสู่การเป็น “สุดยอดธุรกิจออนไลน์( Super eBusiness )” สร้างโอกาสในการชิงส่วนแบ่งการตลาดในระดับภูมิภาค

ซูเปอร์ โซลูชั่นส์ จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาหลัก 3 ประการที่แบรนด์และผู้ขายมักประสบในการทำธุรกิจออนไลน์ ได้แก่ การสร้างแบรนดิ้ง (Branding) การทำการตลาด (Marketing)และการขาย (Sales)

สำหรับการให้บริการ เบื้องต้นจะมีแคมเปญ “Super’ Series” ที่แบรนด์และผู้ขายบนลาซมอลล์(LazMall) สามารถเข้าร่วมแคมเปญ “Super” ใดก็ได้จาก 4 ซีรี่ย์ เพื่อส่งเสริมการขายและพัฒนาการสื่อสารกับลูกค้าผ่านวิธีต่างๆ พร้อมด้วยบริการแพ็คเกจโซลูชั่นทางการตลาดและกระดานแสดงผลข้อมูลทางธุรกิจ(Business Advisor Dashboard)

นอกจากนี้ มีเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์และยอดขาย “Store Builder” ที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับหน้าร้าน มีเครื่องมือแบบโซเชียลสำหรับแสดงความคิดเห็นระหว่างการไลฟ์สตรีม สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าผ่านกิจกรรมในแอพพลิเคชั่น เช่น เกม ควบคู่ไปกับการทำให้แบรนด์และผู้ขายติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เพิ่มพันธมิตรเสริมแกร่ง

เขากล่าวต่อว่า ลาซาด้าได้ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ 12 บริษัทชั้นนำด้านไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี และแฟชั่น ลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจ(JBP) เพื่อทำให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้าถึงโครงสร้างเทคโนโลยี การขนส่งชั้นนำ รวมถึงนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซที่มี อนาคตมีแผนที่จะลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับแบรนด์ด้านอุปโภคบริโภคชั้นนำอีกหลายราย

“ด้วยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์จากอาลีบาบา ทำให้ลาซาด้าโดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ฟังก์ชั่นการค้นหารูปภาพ, การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านเกม และฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมในแอพพลิเคชั่น ฯลฯ”

จิง ยิน ประธานกรรมการ ลาซาด้า กรุ๊ป เผยว่า ในระดับภูมิภาค ลาซมอลล์ประสบความสำเร็จอย่างมาก สถิติพบว่ามีการใช้จ่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 6 เท่า แฟชั่น 3 เท่า สินค้าอุปโภคบริโภค 2 เท่า ช่วงเทศการชอปปิงเช่นซูเปอร์แบรนด์เดย์ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 80 เท่า ในเทศกาลดังกล่าวมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 90% บริษัทคาดว่าปีนี้จำนวนผู้ค้าบนลาซมอลล์จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

สำหรับไทย นับเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้สูง โดยเฉพาะจากผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล ที่ผ่านมากลุ่มสินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรกคือ คือ สุขภาพและความงาม, อิเล็กทรอนิกส์, แม่และเด็ก

ดึง’บันเทิง’สร้างสีสัน

ผู้บริหารลาซาด้าประเมินว่า กลุ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอีประมาณ 60% ในภูมิภาคมีความตั้งใจที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เครื่องมือทางธุรกิจที่ได้รับการบ่งชี้ว่าเป็นการลงทุนที่ควรค่าแก่การลงทุนอันดับต้นๆ เช่น โซลูชั่นการค้าออนไลน์ ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) รวมถึงธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)

ดังนั้นกลยุทธ์ของลาซาด้า มุ่งเข้าไปตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนการค้าบนโลกออนไลน์ใน 3 ส่วนหลักคือ ยกระดับผู้ประกอบการ พัฒนาประสบการณ์ และผลักดันให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปอีกขั้น ด้วยการนำความบันเทิงมาสร้างสีสันบนแพลตฟอร์ม (Shoppertainment) เป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ชอปปิงรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในแบบอินเตอร์แอคทีฟ

กูเกิล-เทมาเส็ก คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อถึงปี 2568 มูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตอีโคโนมีภูมิภาคอาเซียนจะสูงถึง 2.40 แสนล้านดอลลาร์ เฉพาะอีคอมเมิร์ซ 1.02 แสนล้านดอลลาร์