คาด3รายชิงอู่ตะเภา ส่งเสริมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน 6.4 พันล้าน

คาด3รายชิงอู่ตะเภา ส่งเสริมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน 6.4 พันล้าน

เผยอู่ตะเภายื่นซอง 21 มี.ค.นี้ ได้ผู้ลงทุนเม.ย.นี้ คาดมีผู้ยื่นซอง 2-3 กลุ่ม ตั้งเป้ามหานครการบิน วางผังการใช้ที่ดินรอบสนามบิน 60 กม. ตั้งธุรกิจโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ์ บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานการบินไทย 6.4 พันล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนา “รับฟังความคิดเห็นนักลงทุนและเอกชนเป้าหมาย โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออกรอบสนามบินอู่ตะเภา” ว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภาได้เดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะรับซองประมูลวันที่ 21 มี.ค.นี้ และจะได้เอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนเม.ย. 2562 โดยโครงการนี้มีเนื้อที่ 6.5 พันไร่ มีมูลค่าลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท โดยภาครัฐจะลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชน โดยคาดว่าจะมีนักลงทุน 2-3 กลุ่ม มายื่นซองข้อเสนอในครั้งนี้

รายงานข่าวระบุว่า โครงการนี้มีผู้ซื้อซองประมูล 42 ราย โดยเป็นบริษัทไทย 24 ราย เช่น การบินไทย บมจ.การบินกรุงเทพ ซีพี คิงเพาเวอร์ รองลงมาเป็นบริษัทจีน 6 ราย ญี่ปุ่น 5 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย เยอรมนี 2 ราย รวมทั้งอินเดีย ตุรกีและมาเลเซียชาติละ 1 ราย ซึ่งบริษัทต่างชาติที่ซื้อซองประมูลมีทั้งผู้พัฒนาสนามบินและผู้บริหารสนามบิน เช่น VINCI Airport จากฝรั่งเศส

คาด3รายชิงอู่ตะเภา ส่งเสริมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน 6.4 พันล้าน

ต่อยอดเมืองศูนย์กลางธุรกิจ

นายคณิศ กล่าวว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภาจะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองการบิน เพราะภายในสนามบินอู่ตะเภาจะประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ศูนย์ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน

ทั้งนี้ สกอพ.จะใช้เมืองการบินอู่ตะเภาในการเป็นศูนย์กลางต่อยอดให้บริเวณโดยรอบ 60 กิโลเมตร พัฒนาไปสู่มหานครการบินภาคตะวันออก โดยแบ่งออกเป็นเขตชั้นในรัศมี 10 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา ชั้นกลาง 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา สามารถเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงใช้เวลา 17-19 นาที และเดินทางโดยรถยนต์ไม่เกิน 40 นาที และเขตชั้นนอก 60 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง 30-35 นาที และทางรถยนต์ไม่เกิน 60 นาที มีกรอบระยะเวลาในการพัฒนา 5-10 ปี หลังจากที่โครงการสนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็งสูงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ในระยะทางรัศมี 10 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ รอบสนามบินอู่ตะเภา จะเน้นการพัฒนาไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งจะพยายามไม่ให้พื้นที่นี้หนาแน่นเหมือนบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ในพื้นที่ถัดมาระยะ 10-30 กิโลเมตรรอบสนามบินจะพัฒนาให้เป็นทีพักอาศัย และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรามต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้ ส่วนพื้นที่ถัดออกไปในรัศมี 60 กิโลเมตรจะพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้

ยกระดับอุตสาหกรรมการบิน

“สนามบินอู่ตะเภาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดมหานครการบินภาคตะวันออก ซึ่งหัวใจของมหานครแห่งนี้นี้ก็คือการพัฒนาเมือง โดย สกพอ.จะนำปัญหาของเมืองที่เกิดรอบสนามบินมาแก้ไข เพื่อให้มหานครการบินแห่งนี้ไม่แออัด และใช้ศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยหลังจากผังเมืองอีอีซีแล้วเสร็จจะจัดทำผังเมืองย่อยต่อไป เพื่อกำหนดจุดชัดเจนในมหานครการบินว่าจะพัฒนาพื้นที่ภายในไปในทิศทางใดให้เกิดความกลมกลืน”

นอกจากนี้ เมืองการบินอู่ตะเภา จะไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ แต่ยังเอื้อประโยชน์ไปยังภาคเกษตรกรรมของคนในอีอีซีด้วย โดยรอบเมืองการบินอู่ตะเภาจะมี 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ โดยอาลีบาบาจะเข้ามาช่วยในเรื่องของการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านทางอากาศยาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้นำทุเรียนขายผ่านระบบออนไลน์ทำให้ราคาทุเรียนสูงสุดในรอบ 40 ปี และจะทำเรื่องข้าวและสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อไป และโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพดำเนินงาน ซึ่งจะจัดทำห้องเย็นเพื่อรองรับการส่งออกผลไม้ทางอากาศยานโดยเฉพาะสามารถส่งเข้าไปจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้มีราคาสูงกว่าขายผลไม้ทั่วไป

“บีโอไอ”อนุมัติศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุน 5 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยเป็นการร่วมทุนของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัทผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก เงินลงทุน 6,468 ล้านบาท ตั้งที่เมืองการบินภาคตะวันออก จ.ระยอง

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งช่วยดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินให้เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น

2.โครงการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ ของบริษัท เอดับเบิ้ลยู (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,244 ล้านบาท ตั้งโครงการใน จ.ชลบุรี โครงการนี้จะผลิตเพื่อป้อนค่ายรถยนต์ชั้นนำ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติจากต่างประเทศที่นำมาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย

3.โครงการขนส่งทางอากาศของบริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,968 ล้านบาท โดยเป็นกิจการสายการบินราคาประหยัด 4.โครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ ของบริษัท เจนเนอรัล รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 9,721 ล้านบาท ตั้งโครงการใน จ.ระยอง 5.โครงการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะโดยนักลงทุนชาวจีน วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,061 ล้านบาท ตั้งใน จ.ชลบุรี