สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ธ.ค.61 และ Q4/61 โตต่อเนื่อง

สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ธ.ค.61 และ Q4/61 โตต่อเนื่อง

สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ธ.ค.61 และ Q4/61 โตต่อเนื่อง นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-เหนือ-ตะวันออก ตามการบริโภค-ลงทุนภาคเอกชน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาคเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.7 และ 15.6 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.0 และ 7.6 ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.8 และ 11.6 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และมุกดาหาร เป็นต้น นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2561 ที่ 4,589 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในจังหวัดสกลนคร เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.7 และ 18.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนธันวาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.5 และ 10.6 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 2.5 ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และพะเยา เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.7 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ที่มูลค่า 5,050 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 858.2 ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดกำแพงเพชร และลำพูนเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.1 และ 10.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 18.5 และ 10.2 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.9 และ 0.2 ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และระยอง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด นอกจากนี้เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2561 ที่มูลค่า 66,727 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดชลบุรีและปราจีนบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนธันวาคม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 112.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ชัยนาท และสิงห์บุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 14.2 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนครปฐม ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในธันวาคม 2561 อยู่ที่ 5,022 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 187.4 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และนครปฐม เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 10,857 จากการลงทุนในเกือบทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครและปทุมธานี ในโรงงานผลิตเครื่องปรุงรสอาหาร และโรงงงานผลิตพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดีภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.9 สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนจดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี จากขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 11.7 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี จากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี โดยเป็นการขยายทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 รายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากการขยายตัวเยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 และ 6.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 78.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สำหรับด้านอุปสงค์ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ยังมีเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อยู่ที่ 3,555.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 281.7 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.03 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค