เกษตรกรรักบ้านเกิด ใช้ไอทีหนุนความยั่งยืน

เกษตรกรรักบ้านเกิด ใช้ไอทีหนุนความยั่งยืน

ภาคการเกษตรทุกวันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเปลี่ยนผ่าน” ของบุคลากร

เมื่อพูดถึง “เกษตรกร” ภาพจำของคนทั่วไปคงเป็นภาพของมือที่ถือเคียวเกี่ยวข้าว ใส่เสื้อม่อฮ่อมขาดๆ แต่ในความเป็นจริงภาคการเกษตรทุกวันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเปลี่ยนผ่าน” ของบุคลากร

รายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสูงวัยของแรงงาน โดยสัดส่วนของแรงงานเกษตรสูงอายุในช่วงอายุ 40-60 ปี มีจำนวนมากขึ้นจาก 39% ในปี 2546 เป็น 49% ในปี 2556 สวนทางกับสัดส่วนแรงงานช่วงอายุ 15-40 ปี ที่มีสัดส่วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 48% เหลือเพียง 32%

ในแวดวงโทรคมนาคมโครงการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากเช่น “โครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน สำนึกรักบ้านเกิด กรมส่งเสริมการเกษตร และดีแทค ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ ที่มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ ปรับตัวกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งยังแสดงอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด ต่อยอดเครือข่าย

อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เกษตรกรเผชิญความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ภาคการเกษตร ทั้งสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผลิตภาพที่ลดลง ทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรอย่างยั่งยืน 

"ด้วยบทบาทของภาคการเกษตรที่ต้องทำหน้าที่ป้อนวัตถุดิบสู่ตลาดอาหาร ได้ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เกิดการใช้สารเคมีอย่างหนัก ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ" 

อย่างไรก็ดี ปีนี้บุคคลตัวอย่างที่น่าสนใจประกอบด้วย พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา เกษตรกร ชาว จ.สุพรรณบุรี เอาชนะข้อจำกัดทางสภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่สามารถทนอากาศร้อน โดยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการคิดค้นวิจัยทางสถานีวิจัยดอยปุย

ลลิดา คำวิชัย ซึ่งสวนมะม่วงของเธอมีการใช้โดรนเพื่อการเกษตรฉีดพ่นปุ๋ยที่สวนซึ่งมีขนาดใหญ่ ทำให้ลดแรงงานคนและเวลาไปได้มาก นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตขายผ่านสินค้าออนไลน์ โดยใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต”

ขณะที่ อาญาสิทธิ์ เหล่าชัย เกษตรกร จ.ร้อยเอ็ด ใช้แอพพลิเคชั่น LLD Soil Guide ของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อเข้าถึงข้อมูลดิน การจัดการ และการใช้ปุ๋ยแบบรายแปลง ทำให้การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ลดการสูญเสียทรัพยากร

ปคุณา บุญก่อเกื้อ เกษตรกรสวนเมล่อน จ.ฉะเชิงเทรา ใช้โซลูชั่น “ฟาร์มแม่นยำ” ที่พัฒนาโดยดีแทคและเนคเทคมาช่วยติดตามข้อมูลปัจจัยการเพาะปลูกแบบเรียลไทม์ ทำให้ทราบว่าจะต้องแก้ไขหรือปรับปรุงตรงไหน ถ้าอากาศในโรงเรือนร้อนเกินไปก็จะต้องรดน้ำ หรือถ้าแสงเข้มเกินไปก็จะต้องปูม่านบังแดดเพิ่ม จากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้สวนเมล่อนของเธอสามารถลดการสูญเสียผลผลิตจาก 27% เหลือเพียง 6%