ผ่าโมเดล 'พีพี ไพร์ม' พลิก 'เทิร์นอะราวด์'

ผ่าโมเดล 'พีพี ไพร์ม' พลิก 'เทิร์นอะราวด์'

อายุงาน 'ซีอีโอ' สั้นแค่ 4 เดือน !! แต่ 'ณสุ จันทร์สม' รับจ้างบริหารมืออาชีพ แห่ง บมจ. พีพี ไพร์ม หรือ PPPM น้อมรับโจทย์หินของเจ้าของตัวจริง เร่งพลิกฟื้นตัวเลขผลประกอบการเป็น 'กำไร' ในปีหน้า

แม้จะมีอายุงานบนเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) สั้นแค่ 4 เดือน!!

แต่ 'ความรอบรู้' เรื่องทางการเงิน (ไฟแนนซ์) ของ 'ณสุ จันทร์สม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ.พีพี ไพร์ม หรือ PPPM (ชื่อเดิม บมจ. ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ TLUXE) ไม่ธรรมดาหลังสะสมประสบการณ์ทำงานในแวดวงไฟแนนซ์ทั้งในและนอกบ้าน แก่พอตัว !! 

การเข้ามาทำงานใน PPPM นั้น หลังได้รับการติดต่อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมที่ต้องการพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเป็น 'บวก' อีกครั้ง ตนเองจึงตัดสินใจนำความรู้ความสามารถทางด้านการเงิน นำมาช่วยแก้ไขฐานะทางการเงินของบริษัทให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน 'ซีอีโอ' ตอกย้ำการมาร่วมงานกับ 'พีพี  ไพร์ม' ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังเช่นนั้น 

สำหรับ 'โจทย์ใหญ่' ของผู้ถือหุ้นเดิมนั่นคือ 'ไม่ยากเห็นตัวเลข PPPM ขาดทุนอีกแล้ว และในปีหน้าผลประกอบการต้องเทิร์นอะราวด์'  

สะท้อนภาพตัวเลขผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่ามา (2558-2560) ไม่สดใสนัก โดยมีทั้ง 'ขาดทุนและกำไร' -38.79 ล้านบาท 236.98 ล้านบาท และ -243.57 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 1,982.56 ล้านบาท 2,240.18 ล้านบาท และ 1,874.87 ล้านบาท ล่าสุด ไตรมาส 3 ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ -77.87 ล้านบาท รายได้ 1,523.13 ล้านบาท      

เขา บอกว่า 'เป้าหมายแรก' ต้องทำให้ PPPM กลับมามีผลการดำเนินงานดีขึ้นก่อน และสเต็ปต่อไปคือปี 2562 ผลประกอบการต้อง 'พลิกกำไร' ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไปแล้ว แม้ว่าปี 2561 จะยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากไตรมาสเดียวคงไม่สามารถชดเชยทั้ง 3 ไตรมาสที่มีตัวเลข 'ขาดทุนสุทธิ' อยู่ได้  

พร้อมแจกแจงแผนธุรกิจให้กลับมาเทิร์นอะราวด์ ว่า ตอนนี้บริษัทกำลังปรับมาโฟกัสใน 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ/สัตว์เลี้ยง' ที่เป็นธุรกิจหลักและทำมาร่วม 20 ปี ซึ่งคิดเป็นรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือ 90-95% หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทแตกไลน์ธุรกิจออกไปลงทุนใน 'ธุรกิจพลังงานสะอาด' ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์อยู่ในช่วงซบเซา 

ย้อนกลับไปประมาณ 3 ปีก่อน เป็นช่วงที่ธุรกิจอาหารกุ้งชะงักตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งแย่ บ่งชี้ผ่านเกิดปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง 'ติดลบ' หนักสุด 30% ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรแทบไม่มีใครอยากจะเลี้ยงกุ้งเลย    

ทว่า เมื่อช่วงต้นปี 2561 บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง หลังเกษตรกรมีความมั่นใจและกล้ากลับมาเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีความหลากหลายของสายพันธ์กุ้งมากขึ้น เช่น กุ้งกล้ามกาม , กุ้งกุลาดำ , กุ้งขาว เป็นต้น โดยรายได้ธุรกิจอาหารกุ้งในไตรมาส 3 ปี 2561 เติบโตขึ้นมากถึง 46% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน  

ฉะนั้น บริษัทจึงมีการเตรียมความพร้อมในการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยเตรียมสภาพคล่องต่างๆ และมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานที่จังหวัดสงขลาในช่วงที่ผ่านมา    

รวมทั้ง ยังมีการปรับใช้ 'กลยุทธ์' การทำตลาดอาหารกุ้งเกรดพรีเมียม ที่สร้างยอดขายให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง และการเจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย และจีน เป็นต้น โดยเฉพาะมุ่งเน้นไปที่อาหารกุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น และสร้างพันธมิตรเครือข่ายสายพันธุ์กุ้งที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นสายพันธุ์ที่เป็นผู้นำตลาดด้วย ตลอดจนสร้างพันธมิตรเครือข่ายการรับซื้อกุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำรายได้ให้แก่บริษัท  

'ข้อดีของธุรกิจอาหารกุ้งคือกระแสเงินสดดีมาก และในปีหน้าธุรกิจอาหารกุ้งก็จะเป็นตัวชูโรงของ PPPM ต่อไป'

'ซีอีโอ' บอกต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมกุ้งจะฟื้นตัวกลับมาแต่ยังไม่เหมือนเดิม แต่ในแง่ของ PPPM กลับสามารถทำ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น โดยสามารถขึ้นมาติด 'TOP 5' ของตลาดอาหารกุ้งได้ นั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอาหารกุ้งของบริษัทสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการเบอร์ต้นๆ ของตลาดได้  

'เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการปรับสูตรอาหารกุ้งให้มีคุณภาพตลอดเวลา และทีมฝ่ายมีการเจาะตลาดอาหารกุ้งเกรดพรีเมียมที่มีราคาค่อนข้างแพง แต่เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้บริษัทมียอดขายมากขึ้น และมีมาร์จินสูงขึ้นด้วย'

ขณะที่รายได้จาก 'อาหารปลา' ยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน โดยยังคงเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม และมีแผนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ เมียนมา จีน เวียดนาม และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ใน สปป.ลาว ที่เป็นคู่ค้าอยู่แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทยังคงทำการตลาดภายในประเทศเป็นหลัก แต่ยังมีแผนเจาะตลาดรับซื้อปลาสดและหาพันธมิตรเครือข่ายพันธุ์ปลารวมทั้งเตรียมผลักดันสินค้าอาหารปลาเกรดพรีเมียม เพื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ให้มากขึ้น 

ส่วนของ 'อาหารสัตว์เลี้ยง' (หมาและแมว) ซึ่งบริษัทเป็น 'ผู้รับจ้างผลิต' (OEM) ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีออร์เดอร์จ้างผลิตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางอาหารสัตว์เลี้ยงตลาดมีการขยายตัวมาก และมองว่าสามารถต่อยอดออกไปในธุรกิจอื่นได้อีกด้วย 

'ธุรกิจอาหารสัตว์น่าจะเป็นช่วงเวลากอบโกยกระแสเงินสดเข้ามา ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตรวม 60% และปีหน้ามีแผนจะใช้กำลังการผลิตขึ้นอีก 10-15% กำลังการผลิต 2.5 แสนตันต่อปี'  

สำหรับ 'ธุรกิจพลังงานสะอาด' โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปลงทุนซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศญี่ปุ่น โดยการซื้อกิจการมา ซึ่งตอนนี้บริษัทได้เปิดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 15 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind Energy) ขนาดเล็ก 20 กิโลวัตต์ ใน Hokkaido และ Aomori ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทได้มีการดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 7 ตัว 

ทว่า ในช่วงที่ผ่านมาจากการซื้อกิจการโครงการไฟฟ้าความร้อน 15 โครงการ บริษัทต้องก่อหนี้จำนวนมาก ซึ่งตอนนี้บริษัทมีหนี้สินราว 2,000 ล้านบาท ต้องชำระดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีนโยบายไม่อยากก่อหนี้มากเกิดตัว และต้องการลดต้นทุนทางการเงิน 

ฉะนั้น ปัจจุบันจึงอยู่ระหว่างการเจรจาขายโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนทั้ง 15 โครงการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจหลายรายทั้งนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาในรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส 1 ปี 2562  และคาดว่าจะได้เงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถนำมาคืนหนี้เงินกู้ได้เกือบหมด  

'หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนในปีหน้าโครงสร้างต้นทุนทางการเงินของเราจะคลีนมาก และธุรกิจจะเริ่มต้นใหม่แบบตัวเบาไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงอีก และเมื่อนั้นผลประกอบการก็จะกลับมาเป็นบวกไม่ใช่เรื่องยาก'

เขา บอกต่อว่า หลังจากบริษัทเคลียร์ต้นทุนทางการเงินแล้ว บริษัทจะเปลี่ยนตัวเองจาก 'นักลงทุน' (ซื้อโครงการ) กลายมาเป็น 'ผู้ลงทุนด้วยตัวเอง' ด้วยการลงทุนสร้างโครงการไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยตัวเอง หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้จากการทำธุรกิจมาแล้วคาดว่าลงทุนด้วยตัวเองเบื้องต้นประมาณ 9-10 โครงการก่อน 

ขณะที่พลังงานลม จะมีการแบ่งเงินลงทุนจากการขายโครงการไฟฟ้ามาลงทุนเพิ่มในพลังงานลมด้วย เนื่องจากพลังงานลมได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แม้ว่าการลงทุนยังอยู่ในระดับสูง โดยลงทุนโครงการลมต่อตัวอยู่ที่ '10 ล้านบาท' ซึ่งมีแผนธุรกิจมีเป้าหมายทำพลังงานลม 110 ตัว  ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 1,100 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นขยายการลงทุนดังกล่าวในไตรมาส 4 ปี 2562  

'จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาทาง PPPM มีโอกาสในการลงทุนเยอะ ติดเพียงแค่บริษัทไม่มีเงินทุนเท่านั้น แต่หลังจากคลีนตัวเองให้เบาแล้วก็พร้อมจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ทันที'

ด้าน 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ภายใต้ บริษัท ทีลักซ์ โกลบอล บิสซิเนส จำกัด ดำเนินธุรกิจในลักษณะซื้อมาจำหน่ายไป เพื่อเป็นรายได้เสริมให้บริษัท โดยตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการลงทุนในอาคารที่พักอาศัยประเภทห้องชุดคอนโดมิเนียม ภายใต้ชื่อโครงการ 'Nagomi Waterfront Tower' ที่ตั้งอยู่บนทำเลทองริมแม่น้ำใจกลางเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะมีความชัดเจนปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายซื้อพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมด โดยใช้เงินลงทุน 980 ล้านบาท คาดว่าหากบริษัทขายคอนโดฯ ตั้งแต่วันแรกบริษัทจะได้ 'รีเทิร์น' ทันที่ 10% แต่หากโครงการเสร็จบริษัทอาจจะเห็นรีเทิร์นเป็น 100% ได้ สะท้อนภาพจากความต้องการ (ดีมานด์) ในปัจจุบันที่มาก อันเนื่องจากประชากรเวียดนามยังมีอยู่ในเกณฑ์น้อย 25-35 ปีเท่านั้น มีกำลังซื้อ เพราะว่าอยู่ในวัยทำงานและมีรายได้ซื้อ      

ท้ายสุด 'ณสุ' ทิ้งท้ายว่า อนาคตบริษัทกำลังมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้บริษัท ในทุกๆ จุดทั่วไป ไม่ใช่แค่ธุรกิจอสังหาฯ เท่านั้น