ลุ้น“ทรัมป์”สอบผ่าน-ไม่ผ่านเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ

ลุ้น“ทรัมป์”สอบผ่าน-ไม่ผ่านเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ

ผู้นำสหรัฐพยายามชูความสำเร็จในการบริหารประเทศหลายเรื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น เพื่อเรียกคะแนนเสียง แต่ภายในประเทศเองกลับเกิดเหตุการณ์ที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของผู้นำอย่างต่อเนื่อง

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ซึ่งตามปกติแล้ว การเลือกตั้งกลางเทอมจะเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐดำรงตำแหน่งมาได้ครึ่งทาง คือ 2 ปี จากวาระ 4 ปี โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน

สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 6 พ.ย.นี้ จะมีการชิงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 435 ที่นั่ง และวุฒิสภา 35 ที่นั่ง ถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของชาวอเมริกันที่มีต่อผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ผู้ยึดมั่นในนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์”

นโยบายที่ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญ มีทั้งนโยบายสุขภาพ เศรษฐกิจ การจ้างงาน การครอบครองอาวุธปืน ผู้อพยพ การปฏิรูปภาษี รวมถึงการต่างประเทศ โดยระหว่างการช่วยลูกพรรคหาเสียงที่เมืองฮิวสตัน ปธน.ทรัมป์ ชูนโยบายลดภาษีเพิ่มอีก 10% สำหรับชาวอเมริกันชนชั้นกลาง หลังจากที่ได้ประกาศปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ในรอบกว่า 30 ปี ไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35%

ผู้นำสหรัฐ ยืนยันว่า สหรัฐต้องเร่งสร้างกำแพงชายแดน เพื่อป้องกันขบวนผู้อพยพจากอเมริกากลาง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้กล่าวที่วอชิงตันว่า จะเริ่มตัดหรือลดความช่วยเหลือแก่สามประเทศในอเมริกากลาง คือ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ โดยมีการคาดการณ์ว่าเงินช่วยเหลือในปีงบประมาณ 2562 จะลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับปี 2559

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ ยังชูผลงานด้านเศรษฐกิจของตนเอง โดยระบุว่า เศรษฐกิจประเทศดีขึ้นกว่าเดิม บริษัทต่างๆเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในสหรัฐ และอัตราว่างงานก็ลดลงอย่างมาก ทั้งยังย้ำว่า ตนเองปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (ยูเอสเอ็มซีเอ) ที่จะเข้ามาแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ซึ่งเริ่มมีการเจรจากันเมื่อปี 2560 และตกลงกันได้เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2561 และคาดว่า จะผ่านสภาคองเกรสก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยแบงก์เรต ระบุว่า 45% ของชาวอเมริกันมองว่า สถานการณ์ด้านการเงินของตนเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2559 ขณะที่ 38% มองว่า สถานการณ์ด้านการเงินของตนเองดีขึ้น ส่วน 17% ระบุว่า สถานการณ์ด้านการเงินของตนเองย่ำแย่ลง

ขณะที่ ช่วงต้นเดือนต.ค. หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้รับมรดกจากบิดามากกว่าที่เขาแจ้งต่อทางการ และครอบครัวของเขายังใช้แผนพลิกแพลงต่างๆเพื่อจ่ายภาษีน้อยลง แต่นายชาร์ลส์ ฮาร์เดอร์ ทนายความของปธน.ทรัมป์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีและการฉ้อโกงที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานไม่เป็นความจริง และเป็นการหมิ่นประมาทปธน.ทรัมป์อย่างรุนแรง

ส่วนช่วงปลายเดือนต.ค.ก็เกิดเหตุป่วนเมือง โดยมีการส่งพัสดุ 12 ชิ้นที่บรรจุวัตถุระเบิดไปยังบุคคลต่างๆที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับปธน.ทรัมป์ ทั้งอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ นายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน นายโรเบิร์ต เดอ นีโร นักแสดงชื่อดัง สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รวมทั้งสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรคเดโมแครต และผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตอีกหลายคน ซึ่งปธน.ทรัมป์ ยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอม