‘PAPERSPACE’ รู้ดีเรื่องออกแบบออฟฟิศ

‘PAPERSPACE’ รู้ดีเรื่องออกแบบออฟฟิศ

ไม่เชื่อว่าในเวลานี้จะมีใครรู้เรื่องออกแบบออฟฟิศดีเท่าผม ที่มั่นใจเพราะอยู่กับมันมานานมาก ผมเริ่มออกแบบออฟฟิศตั้งแต่ปี 2544 ถึงตอนนี้ก็ไม่เคยหยุดทำเลย ทำให้เดาออกว่ามันจะมีทิศทางไปทางไหน

คงไม่ใช่คำกล่าวที่โอ้อวดจนเกินไป ยิ่งถ้าได้รู้ว่า “สมบัติ งามเฉลิมศักดิ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง เปเปอร์สเปซ (PAPERSPACE) ผู้ที่เชื่อว่าตนเองรู้ดีในเรื่องการออกแบบออฟฟิศ เคยทำหน้าที่ออกแบบออฟฟิศหลายแห่งให้กับกูเกิล เฟซบุ๊ค และแอร์บีเอ็นบี มาก่อน


หลายคนคงอยากทำความรู้จักเขาให้มากยิ่งขึ้น สมบัติเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเริ่มต้นชีวิตนักออกแบบในบริษัทระดับอินเตอร์ ที่ประเทศสิงคโปร์ ทำอยู่ได้ 4-5 ปีก็ถูกบริษัทส่งตัวกลับมาเซ็ทออฟฟิศในกรุงเทพและทำงานต่ออีก 5 ปีเต็มๆ จึงตัดสินใจลาออกเพราะอยากเปิดสตูดิโอออกแบบภายในเป็นของตัวเอง


แต่แม้ว่าสมัยที่ทำงานกับบริษัทเก่า เขาเคยผ่านงานออกแบบให้เฟซบุ๊คเมื่อปี 2550 ในหมายเหตุว่าเฟซบุ๊คสมัยนั้นยังเป็นบริษัทที่เล็กมาก รวมถึงลูกค้าทุกสเกล และที่ใหญ่ระดับยาฮู,ไมโครซอฟท์. กูเกิล มาก็ตาม แต่ปรากฏว่าพลิกโผ เพราะสตูดิโอออกแบบของเขาไม่มีงานเข้ามาเลยแม้แต่งานเดียว ทั้งๆที่เขาคิดว่าประสบการณ์ทั้งหมดจะเป็นบัตรผ่าน อย่างน้อยๆ ก็น่าจะได้งาน 50 โปรเจ็คอย่างแน่นอนในปีแรก


"ผมเลยต้องหาวิธีเอาตัวรอดโดยไปเปิดออฟฟิศอีกแห่งที่สิงคโปร์ และทำให้มองเห็นว่าผู้ประกอบการไทยจะเติบโตได้จำเป็นต้องขยายธุรกิจไประดับภูมิภาค พอตกผลึกทางความคิด ผมเลยไปจับมือกับพาร์ทเนอร์เป็นบริษัทที่สิงคโปร์ สร้างเปเปอร์สเปซ และตั้งตัวเองเป็นแพลตฟอร์มของบริษัทออกแบบ"


สมบัติบอกว่าเพราะนอกจากกรณีของตัวเองแล้ว เขาเชื่อว่าต้องมีบริษัทออกแบบขนาดเล็กอีกหลายพันบริษัทในเอเชียที่เก่งมีหัวคิดสร้างสรรค์ แต่กลับยังขาดหลาย ๆองค์ประกอบที่มีความจำเป็นต่อการดำรงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการตลาด กฏหมาย ระเบียบ โอเปอเรชั่นต่างๆ นอกจากนี้บริษัทเล็กๆเปรียบก็เหมือนโรงงานขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อย ดังนั้นหากมีงานเข้ามาหลาย ๆโปรเจ็ค ก็ไม่มีกำลังพอที่จะทำให้สำเร็จได้


โมเดลธุรกิจเริ่มแรกของเปเปอร์สเปซ เป็นลักษณะของการไปเชิญบริษัทออกแบบรายเล็กๆเข้ามาเป็นสมาชิกอยู่ในแพลตฟอร์ม โดยเปเปอร์สเปซจะทำการตลาดหาลูกค้า หาโปรเจ็คเข้ามาและพิจารณาว่างานนั้น ๆแมตซ์หรือเหมาะสมกับบริษัทใดในแพลตฟอร์มเพื่อที่จะจ่ายงานให้ไป


"เรายังทำหน้าที่บริหารจัดการระบบหลังบ้านให้กับสมาชิกในแพลตฟอร์มด้วย เราจะคอนโทรลอุณหภูมิทั้งหมด ทั้งการติดต่อประสานงาน เอกสาร กฏหมาย สัญญา การตลาด บัญชีการเงิน โอเปอเรชั่นต่าง ๆเรื่องเหล่านี้มักเป็นเพนพ้อยท์ของเหล่าสถาปนิก และบริษัทรับออกแบบ บอกตรงๆ ในปีแรกที่ผมเปิดสตูดิโอออกแบบของตัวเอง พอลูกค้าขอแวตอินวอยซ์มาผมยังงงเลยว่ามันคืออะไร"


ปัจจุบันเปเปอร์สเปซดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปีแล้ว และมีออฟฟิศอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และมีบริษัทสมาชิกจำนวน 20 ราย


ในส่วนของรายได้นั้น มาจากค่า “เมเนจเมนท์ฟี” เก็บจากบริษัทที่อยู่ในระบบ เริ่มต้นที่ 20% อย่างไรก็ดี พอทำไปทำมาสมบัติกลับพบว่าเปเปอร์สเปซ ก็คือ “สตาร์ทอัพ”


"เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือ เรากำลังยกสิ่งที่ทำอยู่ขึ้นดิจิทัล เอาไปอยู่ในแอพ และถ้าถามถึงแรงบันดาลใจ ก็คงมาจากตัวผมที่เคยออกแบบออฟฟิศให้กับแอร์บีเอ็นบี ซึ่งตอนที่ทำงานผมไม่เคยเจอลูกค้าเลย เราคุยกันทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ตลอดระยะเวลา 6 เดือน จึงเห็นว่าทุกอย่างไปอยู่ในช่องทางดิจิทัลหมดแล้ว ซึ่งถ้าเราเข้ามาทำได้เร็วก็จะมีสิทธิ์ครองตลาดได้ก่อนคนอื่น เวลานี้เปเปอร์สเปซกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาแอพ เราอยู่ในช่วงการทำเดโม่"


การเป็นแพลตฟอร์มหนีไม่พ้นต้องบริหาร “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ซึ่งในส่วนของการมองหาบริษัทออกแบบเข้ามาเป็นสมาชิกไม่ใช่เรื่องที่หนักใจ เพราะต่างฝ่ายต่างก็อยู่ในวงการเดียวกัน มองหน้าก็รู้ใจ รู้ฝืมือกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็จะมีการคัดเลือก มีการคุยกันก่อน ทั้งต้องมีการทำโปรเจ็คเพื่อทดลองดูว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ มีเคมีที่ตรงกันมากน้อยแค่ไหน


"การเข้าหาลูกค้ามีความท้าทายกว่า เพราะเรื่องนี้ยังใหม่สำหรับเขาทำให้คิดว่าการรวบรวมบริษัทออกแบบหลาย ๆแห่งมาอยู่ด้วยกันไม่น่าจะทำได้จริง เขามองเราเป็นนายหน้า เป็นเอเยนต์ เป็นมาร์เก็ตเพลส แต่ถ้าได้คุยละเอียดจะเห็นว่าเรามีลักษณะของเอเยนซี่โมเดล ผมว่าเราคล้ายกับแอร์บีเอ็นบี ที่ลูกค้าที่จะตัดสินใจเลือกที่พักกับแอร์บีเอ็นบีจะรู้สึกเซฟ ว่าจะได้ห้องที่โอเค แต่ถ้าไปจองกับบริษัทเล็ก ๆก็จะรู้สึกไม่น่าเชื่อถือ ไม่แน่ใจว่าจะได้ห้องที่โอเคหรือเปล่า"


เมื่อให้พูดถึงไมล์สะโตน สมบัติบอกว่า แผนของเปเปอร์สเปซจภายใน 5 ปีนี้ ก็คือ การเป็นผู้นำตลาดออกแบบในตลาดเอเชีย และจะโฟกัสไปที่กลุ่ม “ลูกค้าองค์กร” ที่รู้ว่ากำลังถูกดิสรัป รู้แล้วว่าต้องรีบปรับองค์กรแต่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนได้อย่างไร จะให้ใครมาช่วยเปลี่ยน


" บริษัทออกแบบให้สถานที่สวยขึ้นมีอยู่เป็นร้อยเป็นพันบริษัท แต่บริษัทออกแบบที่รู้ว่าองค์กรควรจะแก้ตรงจุดไหนจริง ๆคงมีไม่เยอะ ซึ่งเราพยายามจะก้าวเป็นผู้นำในบางตลาดในภูมิภาคเอเชียให้ได้ และในปีหน้าเรามีแผนจะขยายไปอินเดียเป็นประเทศที่ 4 เวลานี้เราได้พาร์ทเนอร์แล้วกำลังคุยเรื่องสัญญากันอยู่ กลยุทธ์ของเราก็คือ การขยายไปตลาดแต่ละประเทศเราใช้วิธีไปจับมือพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทในประเทศนั้นทั้งหมด"


ทั้งยอมรับว่ากำลังวางแผนจะเรสด์ฟันด์เงินทุนระดับซีรีส์เออีกด้วย แต่เพราะธุรกิจค่อนข้างเป็นนิชมีความเฉพาะตัวพอสมควร การพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อให้นักลงทุนบายอินจึงค่อนข้างมีความท้าทาย


"เราไม่ใช่คอนซูมเมอร์โปรดักส์ หรือธุรกิจทั่วๆไป ถ้าเราไปคุยกับนักลงทุนที่ไม่เคยสัมผัสธุรกิจแบบเรา เขาก็จะไม่เข้าใจ ซึ่งเป้าหมายของผมก็คือ ภายอีก 5-10 ปีข้างหน้าถ้าเราทำระบบหลังบ้านดีพอ เปเปอร์สเปซจะต้องได้รับความเชื่อถือ เหมือนกับมิชลินสตาร์ เวลาที่ลูกค้าอยากจะหานักออกแบบ เขาจะต้องคิดถึงแบรนด์เราเป็นอันดับแรก"


เขามองเทรนด์ว่า แม้จะมีกระแสการทำงานที่บ้าน ทำงานนอกออฟฟิศ แต่ไม่ว่าอย่างไรโลกอนาคตก็จะยังคงมีออฟฟิศอยู่ต่อไป แต่ขนาดจะไม่ใหญ่ หรือบางบริษัทก็อาจไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง แต่จำเป็นต้องมีสถานที่ อาทิ โคเวิร์คกิ้งสเปซเพื่อให้พนักงานในองค์กรได้มาพบปะ ได้มาพูดคุย หรือได้ประชุมกันบ้างเป็นครั้งเป็นคราว


"จะไม่มีทางคุยกันและทำงานได้อย่างราบรื่น ถ้าเราไม่เคยเจอกันเลย เวลาผมทำงานก็ต้องมีสักหนึ่งครั้งที่ได้ไปเจอกับอีกฝ่ายแบบฮิวแมนต่อฮิวแมน การวิดีโอคอลอย่างเดียวเห็นหน้ากันผ่านแต่หน้าจองานก็อาจไม่สำเร็จ ดังนั้นเวิร์คเพลสยังมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่สถานที่่ที่เราจำเป็นต้องไปทำงานทุกวัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ตลอดเวลา และมันก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่ด้วย"