สแกนความงาม 'หุ้น KWM'

สแกนความงาม 'หุ้น KWM'

'โรงงานแห่งที่ 2 & ฐานลูกค้าใหม่' สตอรี่เรียกนักชอปหุ้นของ 'เอกพันธ์ วนโกสุม' ผู้ก่อตั้ง บมจ. เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค โชว์พันธกิจยกฐานะการเงินเติบโต 30% 'จุดขาย' น้องใหม่ไอพีโอ 1 ต.ค.นี้

อุตสาหกรรมการเกษตรเมืองไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 'ระดับ 20-30%' กำลังส่งผลดีต่อ บมจ. เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค หรือ KWM ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตรชั้นนำของประเทศ ภายใต้ตราสินค้า 'Pegasus' ของบริษัท รวมถึงผลิตให้กับ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด แบรนด์ชั้นนำระดับโลกภายใต้ตราสินค้า 'ตราช้าง'

หุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 120 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 1.30 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท คิดเป็นเงินระดมทุนมูลค่า 156 ล้านบาท

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า ผู้ก่อตั้งและหุ้นใหญ่อย่าง 'เอกพันธ์ วนโกสุม' ในสัดส่วน 71.79% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) ไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ทั้งต่อสถาบันการเงิน คู่ค้าธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของรายได้ในอนาคต !!

สะท้อนผ่านการเติบโตย้อนหลัง 5 ปี (2556-2560) ของลูกค้ารายใหญ่อย่าง บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ที่มียอดขายจากระดับ 30,000 ล้านบาท กลายมาเป็น 50,000 ล้านบาท บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของเมืองไทยมีอัตราการเติบโตทุกๆ ปี

ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2558-2560) ของ KWM มีรายได้รวมอยู่ที่ 263.23 ล้านบาท 275.59 ล้านบาท และ 260.48 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ อยู่ที่ 27.80 ล้านบาท 35.78 ล้านบาท และ 20.83 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10.65% 13.04% และ 8.12%

ปัจจุบัน มีโรงงานอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จำนวน 2 โรงงาน มีผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ใบผาล, ใบจักร, ใบคัดท้าย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50% เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบและยึดติดกับโครงผาลซึ่งจะนำไปต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ เพื่อใช้ในขั้นตอนการเตรียมดินก่อนทำการเพาะปลูก 2. โครงผาล คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20% เป็นอุปกรณ์สำคัญในขั้นตอนการเตรียมดิน ซึ่งโดยทั่วไปจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นโครงเหล็กซึ่งยึดกับชุดของใบผาล เพื่อให้รองรับกับขนาดของรถแทรกเตอร์ หรือสภาพของพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูก

3. ใบเกลียวลำเลียง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 15% เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์การลำเลียงขนส่งต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก เม็ดพลาสติก ผงแป้ง เศษวัสดุ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบเกลียวขวาและเกลียวซ้ายตามความเหมาะสมของงาน และ4. ใบดันดิน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 15% อุปกรณ์ยึดติดกับส่วนหน้าของรถแทรกเตอร์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อดันเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ

'เอกพันธ์ วนโกสุม' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค หรือ KWM บอกถึง 'จุดเด่น' ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า เค. ดับบลิว. เม็ททัล คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเกษตร และมีคู่ค้ารายสำคัญ คือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตร

โดยการเติบโตของบริษัท สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นรากฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเป็นสินค้าวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมหลากหลาย ขณะเดียวกันการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จำนวน 156 ล้านบาท ส่วนหนึ่งนำไปจ่ายชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน สนับสนุนให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากงวดครึ่งปีแรกของปี 2561 อยู่ที่ 0.97 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 9.50% อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 16.95%

แผนธุรกิจ 'ผู้ก่อตั้ง' แจกแจงว่า มีเป้าหมายรายได้เติบโต 'ราว30%' จากปีก่อน ที่มีรายได้ 260.48 ล้านบาท เนื่องจากจะเริ่มรับรู้กำลังผลิตจากโรงงานใหม่ที่มีสินค้าเหล็กเกณฑ์พิเศษ ซึ่งมาร์จินเหล็กเกณฑ์พิเศษจะสูงกว่าโรงงานแรก ประกอบกับได้ออกใบผาลตัวใหญ่ที่เป็นสินค้าใหม่ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนยอดขายของบริษัทในระยะถัดไป ซึ่งเชื่อว่าหลังจากได้รับเงินระดมทุนจะเสริมให้พื้นฐานของบริษัทเติบโตอย่างมีศักยภาพ

'หุ้น KWN ถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทในระยะยาว' 

ขณะที่ หลังเข้าระดมทุนแล้ว บริษัท 'โฟกัส' ในธุรกิจใบผาล เพราะว่าผลิตภัณฑ์ใบผาลสามารถต่อยอดออกไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก เช่น อุตสาหกรรมประเภทสึกหลอ , โรงโม่หิน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทยังไม่มีการขยายฐานลูกค้าเข้าไป

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทจะมีสินค้า 'ใบเกลียวชุบแข็งใหม่' ที่มีคุณสมบัติคงทนแข็งแรงกว่าเดิมออกจำหน่าย ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะขยายฐานลูกค้าในตลาดกลุ่มใหม่ๆ อาทิ โรงสีข้าว , โรงปูน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการลงทุนเครื่องจักรชุบใบเกลียว จากเดิมบริษัทจ้างโรงงานอื่นชุบใบเกลียวให้ แต่หลังจากบริษัทมีเครื่องจักรชุบใบเกลียวเองแล้ว จะทำให้สินค้ามี 'มาร์จิน' สูงขึ้นจากเดิมที่มีมาร์จินต่ำ

นอกจากนี้ บริษัทเริ่มขยับออกไปใน 'ตลาดต่างประเทศ' โดยล่าสุด มีตัวจำหน่ายของประเทศ อินโดนีเซีย มาติดต่อขอ 'สั่งซื้อสินค้า' (ออเดอร์) ของบริษัทไปขายในประเทศเขา เช่น ใบเกลียว ซึ่งสินค้าของเรามีคุณสมบัติคงทนแข็งแรง รวมทั้งปัจจุบันมีผู้ประกอบการใบผาดประเทศจีน มียอดขายเบอร์ 1 ในจีน ต้องการให้บริษัทเป็นพันธมิตรด้วย เพราะว่าโรงงานไม่มี 'โนว์ฮาว' (Know-how) ของตัวเองที่จะพัฒนาธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อยู่

'รายได้เติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 10% แต่หลังจากเรามีสินค้าใหม่ออกมาจำหน่ายจะทำให้เรามีรายได้โตแบบก้าวกระโดด เพราะว่าสินค้าใหม่ถือเป็นการขยายตลาดในลูกค้ากลุ่มใหม่ ประกอบกับบริษัทสามารถขายสินค้าดังกล่าวให้ลูกค้ารายอื่นๆ โดยไม่ต้องขายให้เฉพาะคูโบต้าแล้ว' 

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายฐานลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่องในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากบริษัทตั้งเป้าลดสัดส่วนรายได้จากการพึ่งพิงรายได้หลักจากคูโบต้า โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายย่อยหลายรายเพื่อรับออร์เดอร์เข้ามาเพิ่มเติม จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการพึ่งพิงคูโบต้าทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 80% และจากการขายให้อุตสาหกรรมอื่น 20% และมีรายได้หลักจากการขายในประเทศ

ท้ายสุด 'เอกพันธ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า เรามีเป้าหมายการเติบโตของบริษัท เป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock และ Dividend Stock สอดคล้องกับเกษตรกรไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยเครื่องจักรกลในการช่วยเหลือ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียน

นักธุรกิจเจ้าของสวน 'ทุเรียน'

'เอกพันธ์ วนโกสุม' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค หรือ KWM เล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรม สาขาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตั้งใจสมัยเรียนมุ่งมั่นอยากจะเติบโตในอาชีพเครื่องกลตามที่เรียนมา ดังนั้น หลังเรียนจบอาชีพมนุษย์เงินเดือนจึงเริ่มต้นที่บริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่น ในตำแหน่งวิศวกรออกแบบเครื่องจักร เงินเดือน 4,000 บาท

ทว่า ความฝันที่อยากเป็นคนสร้างและขายเครื่องจักรของตัวเองแต่ต้องมีเงินมาลงทุน จึงคว้าโอกาสไปทำงานในประเทศลิเบียด้วยเงินเดือน 24,000 บาท ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องจักรสำหรับงานก่อสร้าง เป็นเวลากว่า 2 ปี ก่อนจะกลับเมืองไทยด้วยเงินทุนก้อนหนึ่ง

เขา บอกว่า เมื่อผลิตเครื่องจักรเป็นแล้ว ก็ต้องมีตลาดรองรับด้วย ฉะนั้น อาชีพพนักงานขาย (เซลล์) จึ่งเป็นอาชีพที่เลือกทำงานหลังจากกลับมา และเป็นคนขายเครื่องจักรที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตด้วย นั่นคือ 'เครื่องผสมคอนกรีตตัวเล็ก' ซึ่งตอนนั้นยอดขายดีมาก และขยับไปผลิตเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีกจนกระทั้งตอนหลังแยกออกมาตั้งบริษัททำเอง

ยอมรับว่าช่วงแรกที่เข้ามาในอุตสาหกรรมเครื่องจักร ลูกค้ายังไม่ยอมรับสินค้าแบรนด์คนไทย เห็นได้จากที่ไปเสนอสินค้าให้กับลูกค้ารายใหญ่ไม่มีใครสนใจ แต่ปัจจุบันบอกได้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จักรผม 'ผมน่าจะเป็นคนยุคแรกๆ ที่เปลี่ยนคนไทยหันมาใช้ของไทย' และปัจจุบันมีขายไปประเทศเวียดนาม , กัมพูชา , เมียนมา ซึ่งมองสินค้าเมืองไทยรองจากยุโรปทั้งในด้านคุณภาพ

ทั้งนี้ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่กำลังสร้างกำไรเป็นกรอบเป็นกำ นั่นคือ 'ชาวสวนทุเรียน' บนที่ดินกว่า 200 ไร่ ในอำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยปีที่ผ่านมามี 'กำไร' จากสวนทุเรียน 'ราว100 ล้านบาท' แต่กว่าจะประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าทำสวนทุเรียนนั้นดูแลยากมาก

'เอกพันธ์' เล่าว่า จุดเริ่มต้นของสวนทุเรียนมาจากความอยากกินทุเรียนปากช่อง เพราะมีคนพูดว่าทุเรียนปากช่องอร่อยมาก ประกอบกับภรรยาผมชอบอากาศที่ปากช่องจึงไปหาซื้อที่ดินแถวๆ นั้นซึ่งก็มีคนมาชวนให้ไปซื้อสวนมะม่วง จำนวน 8 ไร่ เขาบอกว่าจะได้กำไรปีละ 2 แสนบาท คิดเป็น 'รีเทิร์น' ต่อปี 12-15% ตอนนั้นก็ฝันหวานเลย แต่พอลงทุนจริงพบว่า 'ขาดทุน' 

ต่อมาภรรยาก็ถามว่าจะลงทุนปลูกอะไรต่อดี !! ตอนแรกเขาจะปลูกต้น 'อาโวคาโด' ซึ่งผมไม่เห็นด้วย แต่มองว่าปลูกทุเรียนดูมีอนาคตกว่า ประกอบกับมีคนบอกว่าทุเรียนปากช่องอร่อย จึงเป็นที่มาของการตระเวนหาซื้อทุเรียนปากช่องกิน แต่ก็ไม่ได้กินเพราะว่าหาไม่มี มีต้นกล้าทุเรียนพันธุ์ปากช่องวางขายอยู่ !!

'ผมก็ถามเลยทั้งหมดนี่เท่าไหร่? ราว 40 ต้น ราคาต้นละ 300 กว่าบาท ซื้อเสร็จก็บอกแม่ค้าว่าฝากไว้ก่อนนะ เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าจะปลูกยังไง แต่ผมก็ได้ซื้อไปแล้ว ย้อนกลับไปมองอาจจะเป็นคนมีบุญก็ได้ (หัวเราะ)'

เวลาผ่านไป 3 เดือน ผมลืมไปเลยว่าซื้อต้นทุเรียนไว้ 40 ต้น กระทั้งแม่ค้าโทรศัพท์มาหา ถามว่า 'พี่เมื่อไหร่จะมาเอาต้นทุเรียน..!! เก็บไม่ไหวแล้วนะ' จึงเป็นที่มาของสวนทุเรียน และจ้างคนดูแลในพื้นที่เป็นคนดูแลให้ ค่าจ้างเดือนละ 'หมื่นกว่าบาท' หลังนั้นซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะว่ามีคนดูแลให้แล้ว ปัจจุบันลงทุนไป 100 กว่าล้านบาทแล้ว (รวมที่ดิน)