คาราวานสายใหม่ภารตะ บุกรัฐ“เจ็ดสาวน้อย”

คาราวานสายใหม่ภารตะ บุกรัฐ“เจ็ดสาวน้อย”

ประเทศไทยถูกขนาบข้างด้วย 2 แผ่นดินใหญ่ที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคน เป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ขณะที่อินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน แม้ขนาดประเทศและประชากรจะใกล้เคียงกัน

ทว่า สิ่งที่แตกต่างกันคือยอดส่งออกสินค้าไทยไปจีนกับอินเดียต่างกันลิบลับ 5-6 เท่า การส่งออกไทยไปอินเดียในปี 2560 มีมูลค่า 6,400 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกไปจีนในปีเดียวกันมีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยยังใช้โอกาสจากศักยภาพของตลาดได้ไม่คุ้มค่ากับความต้องการของตลาด

ธราดล ทองเรือง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จึงชวนนักธุรกิจ เอสเอ็มอีไทยมาเปิดตลาดอินเดีย จากความต้องการสินค้ามาก คู่แข่งยังน้อย เมื่อเทียบกับตลาดที่มีมูลค่าสูงแล้ว อินเดียยังมีช่องว่างตลาดให้คนไทยเข้าไปเล่นได้อีกมหาศาล

ทัศนคติที่ว่า เจอแขกกับงู ให้ตีแขกก่อน” เป็นมายาคติที่ทำให้คนไทยขยาดทำการค้ากับอินเดีย รวมถึงในอดีตนโยบายไม่เน้นการเจาะตลาดอินเดียมากนัก เป็นจังหวะเดียวกันกับที่อินเดียยังปิดประเทศ ทำให้การค้าไทยอินเดียจึงที่ผ่านมาจึงไม่สูงมากนัก

“อินเดียมีประวัติศาสตร์และผูกพันกับไทยมายาวนานกว่า 1,000 ปี หลายสิ่งหลายอย่างที่ไทยนำวัฒนธรรมาจากอินเดียมาประยุกต์ คนอินเดียก็ชอบคนไทย จึงเป็นโอกาสเข้าไปเจาะตลาดเชื่อมการค้า” เขาชี้ช่องว่างตลาดอินเดียแหวกม่านส่าหรี่ ที่กำลังพลิกฟื้นประเทศ ซึ่งคนไทยไม่ควรตกขบวน

ปมปัญหาที่เคยเป็นประเทศปิดกำลังเปิดรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาประเทศ ภายหลังจากอินเดียได้ นเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) นักธุรกิจที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 ออกนโยบายพลิกฟื้นประเทศโดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมไปกับนโยบาย ที่ปรับแผนจาก “Look East Policy” มองตะวันออก มาสู่ “Act East Policy” เดินมาจุดที่ไม่ใช่แค่เมียงมอง แต่ลงมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียเชื่อมต่อกับฝั่งตะวันออกอย่างจริงจัง

สิ่งแรกคือการปลุกเส้นทางการค้า เชื่อมเศรษฐกิจและความเจริญไปสู่เส้นทางรอบข้างทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอาณาเขตติดกับ บังคลาเทศ ปากีสถาน และภูฎาน เชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน ผ่านเมียนมา และมาถึงไทย ที่จะเป็นประตูสำคัญไปยังอาเซียน

เป้าหมายสำคัญอันดับแรก คือ การเทงบประมาณลงไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast) หรืออีสานของอินเดีย ที่มี 7 รัฐถูกขนานนามให้เป็น "รัฐเจ็ดสาวน้อย” (7 Sisters states ) ที่ประเมินว่าเป็นตลาดใหม่ หอมหวาน อนาคตสดใส ประกอบด้วย รัฐอรุณาจัล (ARUNACHAL) รัฐนากาแลนด์ (NAGALAND) รัฐมณีปุระ (MANIPUR) รัฐมิโซรั่ม (MIZORAM) รัฐตริปุระ (TRIPURA) รัฐอัสสัม (ASSAM) และรัฐเมฆกัลยา (MAGHALAYA) 

โดยรัฐอัสสัม เป็นศูนย์กลาง เมืองหลวงชื่อว่า “กูวาฮาตี” มีประชากรรวมกันทั้ง 7 รัฐกว่า 50 ล้านคน ขนาดตลาดเทียบเท่ากับ 1 ประเทศ

รัฐอัสสัมถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและการขนส่ง ที่ผ่านมาจึงได้ลงนาม 3 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย เมียนมา และไทย ร่วมกันสร้างทางหลวงไตรภาคี (India -Myanmar -Thailand Tripartie Highway) ความยาว 3,200 กิโลเมตร (กม.) 

หากถนนเชื่อมทั้ง 3 ประเทศเสร็จสมบูรณ์แบบ การเดินทางไปยังรัฐเจ็ดสาวน้อย เริ่มต้นจากอ.แม่สอด จ.ตาก ชายแดนไทยผ่านเมียวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ต่อไปอีกเพียง 300-400 กม. ก็ถึงด่านชายแดนของอินเดีย ใช้เวลา 1-2วัน รวมพักค้างคืนหนึ่งคืน แต่ปัจจุบันถนนยังไม่สมบูรณ์ใช้เวลาเดินทาง 3-4 วัน 

“หากถนนเสร็จ จะเป็นการเชื่อมการค้าที่สำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน สามารถขนส่งสินค้าเกษตร ที่อายุการเก็บสั้น ไม่เน่าเสียได้เร็ว เช่น พืชผลทางการเกษตร และของสด รวดเร็วกว่าส่งออกไปยังท่าเรือใช้เวลา 3-4 วัน”

ทำไมต้องไปรัฐเจ็ดสาวน้อย ดินแดนอีสานอินเดียที่ไม่แล้งอย่างเช่นอีสานในเมืองไทย เพราะเต็มด้วยด้วยทรัพยากร อากาศ พืชผลทางการเกษตร พื้นเพของคนใน 7 รัฐนี้มีวัฒนธรรมแตกต่างจากอินเดีย ประเพณีวัมนธรรมใกล้เคียงกับไทย ไม่โพกหัว ไว้เครา ที่สำคัญคนแถบนี้ผิวขาว หน้าตาคม และยังมีบางชนเผ่า “ไทยอาหม ที่มีพูดภาษาไทย มีความเป็นอยู่เหมือนไทย

ไม่ต้องบอกถึงความนิยมสินค้าไทย หากติดป้าย Made In Thailand ถูกยกให้เป็นสินค้าเกรดดี มีคุณภาพ คนใช้ภูมิใจ และคู่แข่งต่างประเทศที่เข้าไปในแถบนี้ยังน้อย

การเจาะตลาดทั้ง 7 รัฐนี้จึงต้องเร่งรุกเข้าไป หลังจากการเปิดกว้างจากทางรัฐบาลแล้ว จึงต้องเร่งบุก โดยนำร่องด้วยวิธีทำการค้าแบบดั้งเดิมสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ จึงจัดเน้นการจัดคาราวาน รถกะบะ เปิดท้ายโชว์สินค้าไทยโดยระยะเวลา 20 วัน ตะลุยขายของให้คนรู้จักและทดลองใช้สินค้าไทยจนคุ้นเคย 

โดบที่ผ่านมาจัดมา 3 ครั้ง ทุกคนที่นำสินค้าไปขาย ขายหมดตีรถเปล่ากลับบ้านเกือบทุกราย คาราวานปีนี้ได้ร่วมมือกับ “ทาทา มอเตอร์ (Tata Motors)“ จัดขึ้นระหว่างต้นเดือนกันยายน ไป-กลับรวม 20 วัน

ทูตพาณิชย์ ยังเล่าถึงความต้องการสินค้าในแถบนี้ว่า เน้นสินค้าพื้นฐาน อาทิ เครื่องเทศ อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง และเครื่องแต่งกาย

สำหรับสินค้าที่จะเข้าร่วมกับคาราวาน ควรเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ป้องกันการอธิบายแล้วไม่เข้าใจจะถูกปิดการขาย เช่น รองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋า อาหารแห้ง ที่เปิดขายได้ทันที สินค้าไม่ควรนำมาขายคือน้ำมันอะโรมาติกหอม หรือน้ำมันสกัดเย็น ที่อธิบายอย่างไรคนอินเดียก็อาจไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ดีเมื่อโอกาสเปิดกว้างแล้ว นักธุรกิจที่เข้าไปขายของ ควรมองหาโอกาสการลงทุน เพราะรัฐบาลเปิดกว้างส่งเสริมต่างประเทศให้เข้าไปลงทุน โดยเน้นสิ่งที่คนไทยถนัด คือ ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะพื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพการเพาะปลูก แต่องค์ความรู้ด้านการเกษตรยังตามหลังไทย จึงควรนำความรู้ (Knowhow) เข้าไปลงทุนเพาะปลูก และแปรรูป จำหน่ายในรัฐแทนการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยที่ใช้เวลายาวนาน

รวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล การเข้าไปเติมเต็มช่องว่างของการรักษาพยาบาลยังมีปัญหาในการสร้างความเท่าเทียม การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้กลุ่มคนอินเดียที่มีฐานะจึงเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย

“เข้าไปขายของก่อนแล้วมองหาโอกาสในการลงทุน หากเป็นธุรกิจที่ช่วยพัฒนาความเจริญสำนักงานฯพร้อมที่จะติดต่อกับภาครัฐของอินเดีย เปิดโอกาสเข้าไปลงทุนเต็มที่” เขากล่าว

---------------------------

เจาะประตูสาวน้อยแดนภารตะ

-ใช้โอกาสจากรัฐบาลเปิดประเทศ

-บุกรัฐ7สาวน้อย สดใหม่ ไร้คู่แข่ง

-เน้นสินค้าพื้นฐานเข้าใจง่าย

-กลยุทธ์ค้าดั้งเดิม เช่น คาราวานขายสินค้า