'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่

'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่

"ทีดีอาร์ไอ" แนะรัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ด้าน "กกพ." เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ คาดเริ่มใช้ในปีหน้า

น.ส.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนา "สู่การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป:เราจะอยู่กับ disruptive technology อย่างไร" ว่า ทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาข้อมูลการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) กับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไฟฟ้าพบว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยมีความเข้มแสงสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในกิจการขนาดกลาง และกิจการขนาดใหญ่ คุ้มค่าในการลงทุนแล้ว หรือสามารถคืนทุนได้ภายใน 10 ปีจากการใช้จ่ายค่าไฟฟ้าที่ลดลง

ดังนั้น ในอนาคตการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฯ และราคาไฟฟ้า ตามข้อมูลแบบจำลองทางการเงินของการไฟฟ้าในสหรัฐ ปี 2557 ที่แสดงให้เห็นว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเกิน 10%ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฯและราคาไฟฟ้า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไทย จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (เออีดีพี 2015) กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 6,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 2.4% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2579 จึงเหลือเวลาเตรียมพร้อม แต่ด้วยพัฒนาการต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลงรวดเร็ว อาจทำให้การผลิตไฟฟ้าจากรูฟท็อป 10% เกิดได้เร็วขึ้นแต่คงไม่ใช่ภายใน 4-5 ปีนี้

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นในอนาคต คือ รูปแบบความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละช่วงของวันจะเปลี่ยนไป เช่นเดิมไทยเคยเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในช่วงกลางวัน แต่โซลาร์รูฟท็อปจะเข้ามาช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และทำให้พีคไฟฟ้าไปเกิดขึ้นช่วงกลางคืนแทน การผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่ยังไม่เสถียร(เฟิร์ม)จะสร้างความไม่แน่นอนในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และทำให้หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าลดลงมาก ในขณะที่ความต้องการลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้าและสายส่งลดลงเพียงเล็กน้อย หรือ รายได้ของการไฟฟ้าฯลดลลงแต่รายจ่ายในการลงทุนอาจไม่ลดลงและอาจเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดโซลาร์รูฟท็อป รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

"นโยบายของภาครัฐที่จะเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า(Backup Rate) สำหรับผู้ตั้งตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าและรายได้ที่ลดลงของการไฟฟ้าฯ แต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานและพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืนยังมีอยู่ ทำให้ต้นทุนยังสูงอยู่ ซึ่งแนวทางที่เหมาะสม รัฐควรปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ให้สะท้อนต้นทุน" น.ส.วิชสิณี กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับตัวรับมือกับผลกระทบดังกล่าว ภาครัฐจำเป็นต้องปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนและกระจายภาระอย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน โครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย ต้นทุนหลัก 3 ส่วนคือ ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยในส่วนของต้นทุนคงที่ ที่เรียกเก็บค่าบริการรายเดือน จะสะท้อนต้นทุนค่าบิล,ค่ารักษามิเตอร์,ค่าส่งเอกสารของการไฟฟ้าฯ จึงควรเพิ่มเติม ต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าสร้างและบำรุงระบบส่ง เพื่อลดปัญหารายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอกับการชดเชยต้นทุนคงที่

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า การจัดเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า(Backup Rate) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง หรือ Isolated Power Supply (IPS) ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ภาครัฐเริ่มเก็บกับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่ไม่ใช่ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรายเล็ก ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้ 3 การไฟฟ้าฯสำรวจฐานข้อมูลและอัตราที่ชัดเจน จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ กกพ. ได้ไม่เกินปลายปีนี้ และจะไม่มีผลย้อนหลังต่อผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่ดำเนินการไปก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเองและใช้เองมากขึ้น กกพ.เตรียมนำร่องจัดเก็บอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย(willing change) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการหรือโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฯที่หายไป คาดว่า แนวทางดังกล่าวจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ภายในปีนี้

"เดิมกลุ่ม SPP ทำเรื่องขอเดิมสายส่งเชื่อมให้กับลูกค้าในนิคมฯ แต่การไฟฟ้าฯไม่อนุญาต ซึ่งกกพ.มองว่า สามารถดำเนินการได้โดยต้องออกกติกาให้ชัดเจน เช่น ระยะห่างของสายส่งกับตัวอาคาร เป็นต้น หรือ หากไม่สร้างสายส่งเอง ก็สามารถมาเช่าสายส่งของการไฟฟ้าฯได้ แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย willing change " นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสะท้อนต้นทุนพลังงานทดแทน และค่า Backup Rate ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล คาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะเริ่มใช้ในปีหน้า