STAYCATION พักร้อน นอนใกล้บ้าน

STAYCATION พักร้อน นอนใกล้บ้าน

ใกล้สิ้นปีแล้ว ใครยังไม่ได้ลาพักร้อน ไม่ว่าจะเพราะงบไม่มี เวลาไม่มาก หรือไม่รู้จะไปไหน ลอง ‘STAYCATION’ กันดูไหม แล้วจะรู้ว่า พักร้อนไม่ยากอย่างที่คิด

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เว็บไซต์บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ ‘เอ็กซ์พีเดีย’ เปิดเผยข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการลาพักร้อนของนักท่องเที่ยวประจำปี 2560 โดยสำรวจกลุ่มคนวัยทำงานจำนวน 15,000 คน ใน 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย 

ความน่าสนใจจากผลวิจัยชิ้นนี้ คือ ขณะที่คนส่วนใหญ่จากหลายประเทศร้อยละ 80-90 บอกว่า การลาพักร้อนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ผลวิจัยชิ้นนี้ซึ่งจริงๆ ทำเพื่อค้นหาสาเหตุของการยกเลิกวันพักร้อน (Vacation Deprivation Study) ก็พบว่า

53 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามจากทั่วโลก "ไม่อยากลาหยุดพักร้อน" เพราะงานยุ่งจนไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ แถมยังขยาดกับปริมาณงานที่จะหนักกว่าเดิมถ้าทิ้งไปนาน โดยเฉพาะกับชาวไทยที่พิจารณาประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ 

นอกจากนี้ คนไทยกว่าครึ่งยังใช้สิทธิลาพักร้อนไม่เต็มโควต้าที่มี เหตุผล คือ ต้องการเก็บวันลาพักร้อนไว้เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น (45%) , ตารางการทำงานไม่สามารถลาพักร้อนได้ หรือจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอกับงาน (37%) , มีความยุ่งยากในการจัดตารางวันหยุดพักร้อนที่เหมาะกับครอบครัว คู่รัก หรือเพื่อน (30%) และต้องการเก็บวันลาไว้ใช้ในปีถัดไป (30%)

ที่สำคัญ คือ ผลสำรวจยังพบอีกว่า มนุษย์เงินเดือนชาวไทยทำการยกเลิกหรือเลื่อนวันหยุดพักร้อนเพราะห่วงงานสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก!

  • ไปพักร้อนกันเถอะ

ถึงจะไม่มีใครบอก มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ก็คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า การลาหยุดพักผ่อน คือ เรื่องดีต่อร่างกายเพื่อสร้างสมดุลไม่ให้เครียดจนเกินไป แต่ถ้าอยากได้อะไรที่มีน้ำหนักกว่านั้น ก็ยืนยันได้จากผลการศึกษาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการ สุขภาพ และความชรา (Journal of Nutrition Health & Aging) ระบุว่า การลาพักร้อนหรือได้หยุดงานพักผ่อนเป็นเวลานานเพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น ทั้งทำให้ความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควรลดลง (บทความ “ลางานพักผ่อนช่วยยืดอายุให้ชีวิตยืนยาวขึ้น” โดยบีบีซี ประเทศไทย)

และยังพบว่า คนที่ลาหยุดพักผ่อนเพียง 3 สัปดาห์ต่อปีหรือน้อยกว่า มีความเสี่ยงชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนที่ได้พักร้อนปีละ 3 สัปดาห์ขึ้นไปถึง 37 เปอร์เซ็นต์ 

“ไม่มีสิ่งใดจะมาทดแทนการพักผ่อนคลายเครียดอย่างเต็มที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หรืองดบุหรี่และแอลกอฮอล์” ดร.ทิโม สแตรนด์เบิร์ก ผู้นำทีมวิจัย อธิบายไว้แบบนั้น

แม้ผลวิจัยจะระบุชัดขนาดนี้ แต่สำหรับใครที่วางแผนการพักร้อนไว้ดิบดี แต่ต้องพับเก็บไปด้วยเรื่องงาน ก็อย่าเพิ่งถอดใจ และลองเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่า การพักร้อน ไม่จำเป็นต้องหยุดกันยาวเป็นสัปดาห์ หรือเตรียมแผนลาเพื่อเดินทางไกล เพราะรู้ไหมว่า ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เราชาร์จแบต คืนพลังได้โดยไม่เสียเวลามาก นั่นคือ การเปลี่ยนบรรยากาศ ย้ายที่นอน โดยไม่ต้องไปไหนไกล อย่างที่เรียกว่า Staycation นั่นเอง

  • Staycation คืออะไร

คำว่า Staycation เป็นการผสมคำกันระหว่าง Stay ในความหมายคือ อยู่กับบ้าน และ Vacation ที่แปลว่า การลาพักผ่อน เมื่อรวมกัน เดิมหมายถึงการพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ระยะหลังขยายความถึงการพักผ่อนโดยไปเที่ยวในประเทศ หรือ ในเมืองที่ตัวเองอยู่ โดยทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว

ไลฟ์สไตล์แบบ Staycation เริ่มแพร่กระจายในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2007-2008 จากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis จนผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และหันมาเที่ยวในประเทศ หรือเที่ยวในเมืองที่อาศัยอยู่แทน ถัดจากนั้นราวหนึ่งปี เทรนด์ดังกล่าวก็ขยายตัวมายังเกาะอังกฤษด้วยสาเหตุเดียวกัน ก่อนจะกระจายตัวไปสู่ยุโรปและประเทศอื่นๆ กระทั่งศัพท์คำนี้ได้รับการบรรจุไว้ในดิกชันนารีของ Merriam-Webster’s Collegiate ในปี 2009

ใกล้บ้านเราเข้ามาหน่อยอย่างในสิงคโปร์ ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนเช่นนี้ก็ได้รับความนิยมขึ้นต่อเนื่อง โดยมีผลสำรวจจาก Hotels.com พบว่า การค้นหา staycation ในสิงคโปร์ในปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์จากปี 2014 

บทความจากเว็บไซต์ todayonline.com ระบุว่า เทรนด์การพักผ่อนแบบ Staycations ได้รับความนิยมในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ส่วนหนึ่งของเหตุผลคือไม่อยากทำลายสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางไกล นอกจากนี้ยังไม่ต้องลาหยุดหลายวัน ง่ายต่อการจัดการ และมีเวลาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ไม่ใช่หมดไปกับการเดินทาง

สำหรับใครที่อยากจะลอง Staycation ดูบ้าง “มุมมองของนักท่องเที่ยว” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณได้เห็นกรุงเทพฯ ในแง่มุมที่ต่างไป เพราะหัวใจสำคัญของ Staycation คือมันจะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าหรือแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเรา

ยกตัวอย่างเช่น การเดินเข้าพิพิธภัณฑ์หรืออาร์ตแกลเลอรี่สักที่ คือ เรื่องแสนธรรมดาเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เรากลับไม่เคยทำกิจกรรมเช่นนี้ในละแวกบ้าน ในจังหวัด หรือในเมืองที่เราอาศัยอยู่

เพื่อให้การนอนใกล้บ้านหรือการหอบเสื้อผ้าไปนอนโรงแรมในเมืองที่อาศัยอยู่นั้นได้ผลเท่ากับการท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างแท้จริง ที่สำคัญ คือ ท่องไว้ให้แม่นว่า เรามาพักร้อน ฉะนั้นอย่าทำงานเด็ดขาด แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า ออฟฟิศอยู่ห่างไปไม่กี่โลฯ หรือถ้าไม่มั่นใจว่า เพื่อนร่วมงานจะเข้าใจ วิธีง่ายๆ คือ ปิดโทรศัพท์ไปเลยยิ่งดี 

  • เที่ยวได้ ใกล้บ้าน

ย้อนกลับดูมาที่บ้านเรา สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว คือ ปัจจุบันโรงแรมเก๋ๆ ย่านชิคๆ เริ่มกระจายตัวไปทั่ว ไหนจะตรอกซอกซอย งานกราฟิตี้ที่ซุกซ่อนอยู่ ร้านคาเฟ่สุดฮิป ย่านสุดอาร์ต ฯลฯ สารพัดสถานที่ต้องเช็คอินผุดขึ้นไปทั่ว ถือเป็นแม่เหล็กชั้นดีสำหรับคนเมืองที่อยากพักผ่อนแบบไม่ต้องไปไหนไกล แต่ได้อารมณ์นักท่องเที่ยวไม่ต่างกัน วันนี้จึงเทรนด์ของ "มนุษย์กรุงเที่ยวกรุง" เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สุรัชฎา สว่างเนตร หนึ่งในมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มติดใจในการ Staycation และเลือกปักหมุดย่าน พระราม 8, สุรวงศ์ และ สาทร สำหรับการไปพักใน 3 ครั้งที่ผ่านมา เธอบอกว่า ส่วนตัวแล้ว ชอบความซับซ้อนของเมืองใหญ่ เวลาไปต่างประเทศก็จะชอบเดินดูไปเรื่อยๆ จึงอยากจะทำความรู้จักเมืองในย่านต่างๆ ที่สนใจด้วยการเดิน และเลือกจะหาที่พัก เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยขับรถหรือหาที่จอด

“เมืองมันมีหลายเลเยอร์ ซึ่งการที่เราทำอะไรแบบเดิมๆ นอนที่เดิม ไปทำงานที่เดิม ขับรถเส้นทางเดิมๆ เราก็จะเห็นเมืองอยู่มิติเดียว แต่พอได้เปลี่ยนที่นอน ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว เดินดูเมือง เราก็จะได้เห็นอะไรมากขึ้น

หลายๆ ที่เราผ่านบ่อยก็จริง แต่ไม่สามารถทำความรู้จักมันได้จากการขับรถผ่าน เพราะเราจะมัวแต่หงุดหงิดกับรถติด ด่ารถคันโน้น บ่นมอเตอร์ไซค์คันนี้ ก็เลยเริ่มลองไป Staycation โดยเลือกที่พักโดยปักหมุดจากย่านและราคา คืนละไม่เกิน 1,500 บาท พัก 2 คืนเสาร์และอาทิตย์ แล้วก็เดินเที่ยวไปเรื่อยๆ รัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร เหนื่อยหรือร้อนก็กลับมานอน เดี๋ยวเย็นออกไปใหม่ พอเช้าวันจันทร์ ก็เช็คเอาท์ไปทำงาน”

ส่วน ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ อีกหนึ่งมนุษย์เงินเดือนสาว ที่ตั้งใจจัดทริปเที่ยวกับสามีเป็นประจำทุกเดือน แต่ในบางครั้ง เวลารัดตัว ก็เลยหาที่นอนในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลแทน 

“บ้านเราอยู่ชานเมือง ก็จะไม่ชอบเข้าเมืองเท่าไหร่ เพราะรถติด แต่พอลองหาที่นอน ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกโอเคนะ มันได้อารมณ์ว่า มาพักผ่อนจริงๆ ก็จะไม่รังเกียจเมืองเท่าไหร่ เพราะชีวิตในเมืองวันธรรมดา มันสบายกว่าเยอะ” 

สำหรับการ Staycation ของศศกร เธอเลือกที่จะลาหยุดพักผ่อนจริงๆ โดยจะไม่แตะงานเลย ส่วนโจทย์ในแต่ละครั้ง ก็มีทั้งเลือกจากโรงแรมที่อยากไปลอง หรือบางทีก็ไปนอนโรงแรมในเครือเพื่อรักษาสถานะสมาชิก หรือปักหมุดตามย่านที่อยากไปก็มี 

แม้จะติดใจไม่น้อย แต่ถ้าเลือกได้ก็อยากจะไปต่างจังหวัดมากกว่า เพราะส่วนตัวชอบพื้นที่ธรรมชาติมากกว่าเมือง แต่เมื่อบางครั้งไม่มีเวลา อย่างน้อย การพักผ่อนในเมืองเพื่อชาร์จแบตสัก 60-70 เปอร์เซ็นต์กลับไปก็ยังดี 

แต่ถ้าถาม ทราย เจริญปุระ อีกหนึ่งมนุษย์ชานเมือง ที่เริ่มเสพติดวิถี Staycation ทรายเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เดิมทีชอบไปเปิดโรงแรมนอนเวลามีงานในเมืองและต้องไปแต่เช้า ซึ่งแถวบ้านรถติดมาก จึงไม่อยากขับรถ แต่พอได้ลองประสบการณ์หลายครั้ง ก็เริ่มเห็นข้อดี

“ชีวิตดีมาก ไม่ต้องขับรถไกล มีอาหารเช้าให้กิน ตื่นมาห้องหอมสะอาด มีคนเก็บเตียงให้ หลังๆ ก็เริ่มตั้งใจหามากขึ้น เพราะมันได้เปลี่ยนบรรยากาศ รู้สึกได้ชาร์จพลัง ได้เจออะไรใหม่ๆ เดินข้ามถนนไป เจอร้านอร่อย หลังจากนั้นมา ว่างๆ ก็หาโอกาสไปนอนตลอด

ล่าสุดก็ไปนอนแถวอารีย์มา ส่วนใหญ่ชอบโรงแรมติดแม่น้ำ แต่ทรายจะไม่เลือกโรงแรมที่แพงมาก เอาแค่พันกว่าบาทก็พอ โรงแรมดีๆ ในราคานี้ มีเยอะ แล้วเราลองมาคำนวณดู จะบอกว่า มันถูกกว่าการไปชอปปิงอีกนะ แล้วพอซื้อมาก็ต้องหาโอกาสใส่อีก” ทรายเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

และบอกว่า การได้เปลี่ยนที่นอน ได้มองวิวอื่นๆ ดูบ้าง ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากการนอนอยู่บ้าน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลาพูดถึงการไปเที่ยว คือ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ต้องเตรียมการวุ่นวาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องขนาดนั้นแล้ว เราก็แค่เปิดดูตารางงาน อาทิตย์ไหนว่างก็เก็บกระเป๋าไปได้เลย อยากเที่ยวย่านไหน ก็หาโรงแรมแถวนั้นนอน ตกเย็นก็เดินไปหาของอร่อยกินถึงที่ร้าน มันต่างกันเยอะกับการอยู่บ้านแล้วโทรสั่งอาหารจากร้านเด็ดๆ มากิน”

สำหรับประสบการณ์ Staycation ในมุมมองของทราย เธอบอกว่า ไม่ต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไร เพียงแค่ได้รู้ว่า เดี๋ยวสุดสัปดาห์นี้จะได้ไปพักผ่อน เดินเที่ยว แค่นี้ก็รู้สึกดีกับการทำงาน 

“มันทำให้เรารู้ว่า ทำงานไปเพื่ออะไร และรู้สึกดีที่มีอะไรให้รอ”