ดีเดย์1ก.พ.ใช้ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว

ดีเดย์1ก.พ.ใช้ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว

"ศาลยุติธรรม" ดีเดย์ใช้ระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว 1 ก.พ. นี้ ชี้ไม่ต้องใช้หลักประกัน-ให้โอกาสจำเลยที่ไม่มีหลักทรัพย์

นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชน ที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมระบุว่าศาลยุติธรรมมีการพัฒนาระบบการจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2546 โดยพบว่าส่วนใหญ่คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจะแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 1ปี ส่วนคดีที่เข้าสู่ชั้นศาลอุทธรณ์จะแล้วเสร็จไม่เกิน 6เดือน

ซึ่งในปี 2559 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาศาลชั้นต้น 1,644,142คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,421,568 คดี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 98.94 และมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำนวน 49,882 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ43,433 คดี ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 98.26 ส่วนศาลฎีกามีคดีเข้าสู่การพิจารณา 18,705 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 9,290 คดี คงค้าง 9,415 คดี เมื่อเปรียบเทียบคดีคงค้างเมื่อ 4 ปีก่อน จำนวน 37,958 คดี พบว่าคดีค้างลดลงมาก

นายอธิคม กล่าวว่าศาลยุติธรรมได้เพิ่มประสิทธิภาพลดความเหลื่อมล้ำในการปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวจำเลยในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีในศาลซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่นปี 2558 มีผู้ต้องหาหรือ จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 231,568 คน ศาลอนุญาต 217,214 คน ไม่อนุญาตเพียง14,354 คน คิดเป็นร้อยละ 6.20 เท่านั้น และในปี 2559 มีผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 213,537 คน ศาลอนุญาต 201,149 คน ไม่อนุญาต 12,388 คน คิดเป็นร้อยละ6.6 เท่านั้น

แต่จากสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1มกราคม 2560 พบว่าพบว่ามีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาของศาลมีจำนวนถึง 59,070 คนจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.29 ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่มีหลักทรัพย์วางประกันจึงทำให้ถูกขังระหว่างการพิจารณา แตกต่างจากผู้ที่มีฐานะดีมีหลักประกันมาวางต่อศาลสามารถไปใชีวิตปกติ ประกอบอาชีพได้ และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวศาลยุติธรรมจึงได้นำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวมาทดลองใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของศาลตรวจสอบข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนดแล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงการหลบหนีของจำเลย เพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และไม่ต้องใช้หลักประกัน เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี โดยจะเริ่มโครงการทดลองวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้

ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่าการประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีจะแบ่งออกเป็นระดับคือ เสี่ยงมากที่สุด เสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย และเสี่ยงน้อยมากที่สุดจากแบบประเมินความเสี่ยง โดยประเมินจากการตรวจประวัติการก่อเหตุอาชญากรพฤติการณ์ในคดี, ความเสี่ยงการหลบหนี, ความเสี่ยงการก่อเหตุซ้ำ, ความเสี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมความเสี่ยงที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และฐานข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นประกอบ การพิจารณาของผู้พิพากษา เช่นหากมีความเสี่ยงมาก อาจพิจารณาให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบตัวกำไลเพื่อที่จะจัดซื้อ หรือ ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีการโหลดแอปพิเคชั่นติดตามตัว ซึ่งพยานและฝ่ายโจทก์มีสิทธิในการยื่นคัดค้านการปล่อยชั่วคราวได้ ส่วนการทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่นั้น หากพว่าไม่สุจริตมีลักษณะช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็ต้องมีความผิดทางอาญาแน่นอน

ขณะที่นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะทดลองใช้แบบประเมินความเสี่ยงเฉพาะศาลชั้นต้นนำร่อง5 ศาล ประกอบด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลทั้งห้าแห่งมีลักษณะคดีและกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยแตกต่างกัน โดยใช้เวลาทดลอง 1-3 ปี ก่อนพิจารณาขยายไปยังศาลอื่นทั่วประเทศและทดลองกับทุกฐานความผิดซึ่งขยายอัตราโทษมากขึ้นยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดียาเสพติดที่มีการครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก
นายมุขเมธิน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า ในการทดลอง แม้อัตราโทษคดีไม่เกิน 5 ปี จะมีสิทธิได้รับการรอลงอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะมีการนำผลการหลบหนีของจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในโครงการทดลองมาเปรียบเทียบกับจำเลยที่ใช้หลักประกันและหลบหนี หากพบว่าจำเลยในโครงการทดลองมีการหลบหนีมากกว่า ก็จะปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินความเสี่ยงให้มีความแม่นยำมากขึ้นเพราะทั้งผิดพลาดไปจะกลายเป็นว่าปล่อยคนที่ไม่สมควรปล่อย ขังคนที่ไม่สมควรขัง และอาจต้องขยายระยะเวลาการทดลองมากขึ้นอีก

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าการใช้งบประมาณในการประเมินความเสี่ยงปล่อยชั่วคราว จะสามารถลดงบประมาณการดูแลผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 10 ต่อคน และหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนในส่วนนี้จากภาครัฐ โดยการจัดซื้อกำไล EM ขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ชิ้น และคาดว่าจะนำมาทดลองใช้ได้ก่อน 100 ชิ้น ซึ่งกำไล EM ของเราจะมีลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมือ ทำให้คล้ายเครื่องประดับเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ด้วย

ด้านนางสาวธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินความเสี่ยงรวบรวมข้อมูลแล้วผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาคดี พร้อมเร่งบูรณาการฐานข้อมูลของบุคคล ให้เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาในการเชื่อมโยงประวัติทางคดีของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะทำให้ตรวจสอบได้ชัดเจนทำให้ศาลจะต้องวางแผนเพื่อให้ข้อมูลเชื่อมโยงกันให้ได้ขณะที่แบบแระเมินความเสี่ยงของเราจะดัดแปลงจากแบบของประเทศสหรัฐฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาดูแล อย่างไรก็ดีนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ศาลยุติธรรม ยังเห็นว่าแนวคิดเรื่องตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล เป็นผู้สนับสนุนการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีด้วย ก็มีความจำเป็นด้วย

เมื่อถามว่า การประเมินความเสี่ยงต่อการปล่อยชั่วคราวและการใช้กำไรอิเล็คทรอนิคส์จะนำมาใช้กับศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยหรือไม่ นางสาวธัญญานุช กล่าวว่า มีแนวคิดว่าต้องการขณะที่นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า ต้องการจะให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยงกับทุกคดี แต่ขณะนี้ยังไม่แน่นอน เพราะยังอยู่ระหว่างทดลองนำร่อง

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาผู้ร่ำรวยมีโอกาสเสี่ยงที่หลบหนี เหมือนกรณีนักการเมืองหลายคน น.ส.ธัญญานุช กล่าวว่า เรื่องฐานะนั้น บางกรณีก็ไม่ได้เป็นปัจจัย แต่การประเมินความเสี่ยงปล่อยชั่วคราวต้องการให้ใช้ได้ความทุกคน