มีเซ็กส์กับหุ่นยนต์?

มีเซ็กส์กับหุ่นยนต์?

ตอบคำถามนี้สิ "คุณจะแต่งงานกับหุ่นยนต์หรือไม่” “คุณจะมีเซ็กส์กับหุ่นยนต์ไหม” และ “หุ่นยนต์มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธร่วมรักกับคุณหรือไม่”

คำถามเหล่านี้มีขึ้นในการประชุมว่าด้วย “ความรักและเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์” (Love and Sex with Robots) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธส์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ หลังจากรัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเดิม สั่งห้ามจัดการประชุมหัวข้อนี้ แสดงให้เห็นว่าประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่มีมุมมองอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

ในการประชุมครั้งนี้ไม่มีตัวแทนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเซ็กส์มาเข้าร่วม และไม่มีการนำหุ่นยนต์มาแสดงเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการประชุมนี้

บริษัทเรียลดอลล์ส ผู้ผลิตเซ็กส์ทอยส์ขนาดเท่าของจริงในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ เผยว่า เตรียมเปิดตัวตุ๊กตาหรรษาที่เพิ่มระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ภายในปีนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง จะถือเป็นเครื่องยืนยันคำพูดของดร.เดวิด เลวี ที่ทำนายมานานหลายปีว่าจะเกิดยุคของหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ที่มีความอัจฉริยะ

ดร.เลวี กล่าวปิดการประชุมในกรุงลอนดอนโดยยกกรณีการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ว่า ปัจจุบันเรามีหุ่นยนต์ผู้ช่วยแล้ว และหุ่นยนต์แบบนี้จะเป็นเทรนด์ที่พัฒนาต่อเนื่องในอนาคต

“ใน 10 ปีข้างหน้า ซอฟต์แวร์ในสมัยนั้นจะมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบในการสร้างหุ่นยนต์คู่ชีวิตมนุษย์ที่จะเป็นได้ทุกอย่างตามที่คนต้องการในชีวิตคู่เช่น อดทน ใจดี มีความใคร่ เชื่อใจ เคารพ และไม่ขี้บ่น” ดร.เลวีเสริม “แต่บางคนชอบความสัมพันธ์ที่ต้องมีการกระทบทั่งกัน และอาจต้องการแต่งงานกับหุ่นยนต์ที่ก้าวร้าว เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นดี”

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของการมีคู่รัก “ตั้งโปรแกรมได้” ทำให้เกิดคำถามด้านจริยธรรม โดยเฉพาะดร.เลวีเองก็ยอมรับว่า อาจต้องมีกฎหมายรับรองให้หุ่นยนต์เป็นบุคคลเสียก่อน

อาจฟังดูเหมือนไกลตัว แต่ตลอดปี 2559 มีการตั้งคณะกรรมการจำนวนหนึ่งขึ้น พร้อมกับเชิญตัวแทนจากอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงภาควิชาการ และภาครัฐ เพื่อรับมือกับคำคามเหล่านี้

ในเรื่องสิทธิของหุ่นยนต์ในอนาคต ดร.เลวีมีแนวคิดง่าย ๆ ว่า หากพฤติกรรมของหุ่นยนต์บ่งชี้ว่าต้องการแต่งงาน ก็สันนิษฐานได้ว่าหุ่นยนต์ต้องการแบบนั้นจริง ๆ

ปัจจุบันมีหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวที่บ่งชี้ว่าเอไอในขณะนี้กำลังถูกสร้างให้เหมือนกับมนุษย์ทุกอย่าง
หุ่นยนต์ผู้ช่วยมนุษย์อย่าง “เปปเปอร์” และ “นาโอะ” ต่างมีลักษณะนิสัยเหมือนกับมนุษย์ แต่ก็ยังดูเหมือนของเล่นที่เป็นมิตรมากกว่าจะมองว่าเป็นมนุษย์

ขณะเดียวกัน ความพยายามในการสร้างหุ่นคล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ “เจมินอยด์” ของศาสตราจารย์ฮิโรชิ อิชิงุโระในญี่ปุ่นที่สร้างเลียนแบบรูปร่างหน้าตาของเขาก็มักถูกมองว่าเป็นหุ่นยนต์ที่น่าขนลุก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหลายบริษัทก็มีความปรารถนาที่จะใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์และเอไอของตน เช่น โปรแกรมผู้ช่วยอย่าง “อเล็กซา” ของยักษ์ใหญ่อเมซอน และ “สิริ” บนสมาร์ทโฟนของแอ๊ปเปิ้ล มีแนวโน้มจะเป็นมนุษย์ตามเจ้าของ แต่หากมองไปถึงโลกฟุตบอลหุ่นยนต์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากที่จะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวเหมือนกับมนุษย์ได้

ขณะที่การประชุมในกรุงลอนดอน เป็นการผสมผสานที่แปลกประหลาดซึ่งมีทั้งการนำเสนองานวิจัยเชิงวิชาการและการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างผู้ชม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่เอ่ยถึงคุณวิเศษของแขนง “เทเลดิลโดนิคส์” หรือการมีเพศสัมพันธ์เสมือนกับเซ็กส์ทอยที่สั่งการผ่านรีโมทได้

เซ็กส์ทอยเหล่านี้ยังรวมถึง “เทเลทังก์” อุปกรณ์ที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จากคณะออกแบบสื่อโฆษณาแห่งมหาวิทยาลัยเคโอะในย่านมินาโตะของญี่ปุ่น โดยมีแนวคิดที่จะช่วยให้คู่รักที่อยู่ไกลกันมีความสัมพันธ์ทางกายผ่านอุปกรณ์นี้ได้

คู่รักฝ่ายหนึ่งสามารถจูบหรือลูบคลำแม่พิมพ์พลาสติกของอวัยวะร่างกาย (ขณะนี้นักวิจัยกำลังใช้ส่วนหู) จากนั้นเสียงและการสั่นสะเทือนจะถูกส่งผ่านไปยังคู่รักของตนซึ่งรู้สึกและได้ยินการกระทำนั้นด้วย

ด้านศาสตราจารย์ลินน์ ฮอลล์ จากมหาวิทยาลัยซันเดอร์แลนด์ในอังกฤษ สร้างเซ็กส์ทอยที่มีความซับซ้อนกว่าซึ่งอาจเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีความจริงเสมือน (วีอาร์) ไว้เป็นทางเลือกนอกเหนือจากหุ่นยนต์ และบอกด้วยว่า การมีเพศสัมพันธ์ควรเพิ่มการติดชุดโครงกระดูกภายนอกเรียกว่า “เอ็กโซสเกเลตัน” ที่มีเซนเซอร์เก็บข้อมูลด้วย

“ดิฉันเต็มใจให้ข้อมูลของตัวเอง หากมันจะทำให้การมีเซ็กส์ดียิ่งขึ้นสำหรับคนอื่น ๆ” ศาสตราจารย์ฮอลล์เสริม
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเต็มใจทำแบบนั้น

เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว บริษัทสแตนดาร์ด อินโนเวชั่น ซึ่งสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเซ็กส์ ถูกฟ้องร้องข้อหาลอบเก็บข้อมูลผู้ใช้อย่างลับ ๆ ผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ซึ่งท้ายที่สุดบริษัทก็ขอจ่ายเงินยอมความโดยไม่เปิดเผยจำนวนเงิน

ขณะที่สถาบันอิมเมจิเนียริงในมาเลเซียซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการประชุมหัวข้อความรักและเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ ก็ได้ทำการสำรวจกลุ่มเล็กเกี่ยวกับทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ โดยสอบถามจากสมาชิกห้องปฏิบัติการของตน 30 คนว่าสนใจมีความสัมพันธ์เสมือนจริงกับหุ่นยนต์หรือไม่

คำตอบที่ได้พบว่า แม้หลายคนจะมองว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องการทำแบบนั้น

ด้านนางเคท เดฟลิน อาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธส์ กล่าวว่า การประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนี้จะพัฒนาไปทิศทางใดและทำให้เกิดประเด็นด้านจริยธรรมอย่างไร

“หากเรามีเครื่องจักรกลที่มีความรู้สึกนึกคิดเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ความรู้สึกนึกคิดนั้นจะล้ำหน้าขนาดไหน และเราจะมีส่วนรับผิดชอบต่อการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาอย่างไร” นางเดฟลินตั้งข้อสังเกต “หุ่นยนต์จะมีสิทธิเหมือนมนุษย์หรือไม่ และเราควรสร้างความคิดให้หุ่นยนต์ยินยอมหรือไม่”