รัสมี เวระนะ จิตวิญญาณแห่งอีสานโซล

รัสมี เวระนะ จิตวิญญาณแห่งอีสานโซล

โอกาสและประสบการณ์ที่เชียงใหม่ได้หล่อหลอมหญิงสาวผู้เคยท้อแท้กับความผิดหวัง ให้กลับมายืนบนเวทีเดิมอย่างแข็งแกร่งขึ้น

 

ในร้านอาหาร ร.ศ. 234 ย่านสุขุมวิท เรานัดพบกับ รัสมี เวระนะ และเสียงเพลงของเธอ หญิงสาววัย 32 เจ้าของรางวัลอันน่าสนใจ อย่าง คมชัดลึกอวอร์ด ปี 2559 ด้วยกลิ่นอายของดนตรีหลายแขนง ทั้งหมอลำ แจ๊ส ร็อก โซล เป็นความร่วมสมัยของดนตรีที่สามารถหยิบจับเอาแนวเพลงต่างๆ มาผสมผสานอย่างลงตัว

ค่ำคืนนั้น เริ่มต้นด้วยเสียงเอื้อนของเธอ พลันบรรยากาศของร้านที่ตกแต่งแบบยุโรปก็ชะงักงันและเงียบสงบ เพราะผู้ชมในบริเวณนั้นได้ตกอยู่ในมนตราที่เธอร่ายผ่านเสียงเอื้อนอันแหบทุ้ม ราวกับเคี้ยวแก้วในลำคอของเธอ

‘ปะกาปรูย’ เพลงแรกในจังหวะเนิบช้า รัสมีขับพลังเสียงเอื้อนอ้อยอิ่งผ่านภาษาเขมรและลาว

จากบ้านเกิดที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งติดกับประเทศกัมพูชา ทำให้พื้นที่นี้มีความใกล้ชิดและผูกพันกับวัฒนธรรมอีสานและกัมพูชา เรื่องราวและภาษาที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการสั่งสมวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของบ้านเกิดที่สถิตอยู่ในหัวใจของ รัสมี เวระนะ - อีสานโซล

 

กำเนิดท่ามกลางเสียงดนตรีและเจรียงของพ่อ

เด็กสาวที่กำเนิดมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักแต่งเพลงและนักดนตรีเจรียง ชีวิตในวัยเด็กของรัสมี จึงดำเนินไปในจังหวะของบทเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์บ้าง จินตหรา พูนลาภบ้าง ผ่านการร้องฮัมเพลงของพ่อของเธอ รัสมีเล่าให้ฟังว่า ในวัยเด็กเธอจะชอบนั่งมองพ่อของเธอร้องเพลง และเมื่อเธอร้องไห้งอแง หากพ่อของเธอเอื้อนลูกคอมาเมื่อใด เด็กสาวก็จะหยุดร้องทันที อาจเป็นโชคชะตาบางอย่าง พ่อของเธอได้ถ่ายทอดลมหายใจของดนตรีแก่เธอ รัสมีจึงเติบโตมากับการร้องเพลงโดยมีพ่อของเธอคอยสอนอย่างเข้มงวดตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ

“คุณพ่อเป็นนักร้องเจรียงแต่ไม่เคยสอนเจรียงให้ลูก ส่วนมากจะเป็นเพลงป๊อปสมัยนั้น ทั้งสายัณห์ สัญญา พุ่มพวง ดวงจันทร์ เวลาคุณพ่อสอนก็จะสอนลูกคอ ลูกเอื้อน เยอะมาก เยอะจนบางทีเราร้องไห้ไม่อยากทำแล้วเพราะมันยาก แต่ก็ต้องขอบคุณพ่อเพราะทำให้ทุกวันนี้เราสามารถเอื้อนได้” เธอกล่าวถึงความเข้มงวดของคุณพ่อ ที่ในวันนั้นเต็มไปด้วยหยดน้ำตาแต่ในวันนี้กลับสร้างรอยยิ้มทั้งสำหรับเธอและผู้ชมของเธอ

 

ชีวิตในวงหมอลำ

รัสมีอยู่กับเสียงเพลงและการถ่ายทอดวิชาจากพ่อของเธอจนเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษา โชคชะตาของดนตรีพัดพาให้เธอได้ไปอยู่กับวงดนตรีอีสาน ซึ่งเป็นวงที่ไปร้องตามงานบุญงานบวชต่างๆ เธอใช้ชีวิตเดินทางไปกับวงหมอลำ ช่วงนี้เองที่เธอได้เรียนรู้ทักษะของหมอลำ อย่างเช่น การต่อกลอน และการร้องเทคนิคหมอลำต่างๆ ในวัย 13-19 ปี นอกจากใช้ชีวิตกับวงหมอลำแล้ว เธอยังเดินทางไปประกวดร้องเพลงตามรายการชื่อดัง อย่าง ลูกทุ่งเยาวชน, ชุมทางเสียงทอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

“อาจด้วยการที่ตัวเองมีโทนเสียงต่ำ ที่อาจจะไม่เหมาะกับการที่ต้องร้องเสียงโทนสูงแบบลูกทุ่งตามสมัยนิยม ยิ่งด้วยลุคของเรา ที่ไม่ได้จะมาเป็นนักร้องลูกทุ่ง เรารู้สึกว่ามีองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทำให้เราท้อเหมือนกัน”

จากความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง และในช่วงเวลานั้นเองหญิงสาวก็ได้พบกับคนรักคนแรก เธอจึงหันหลังให้กับการร้องเพลง ย้ายไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่กับคนรัก และพาตัวเองกลับไปเรียนต่อในสาขาศิลปะ

ระหว่างการแสดง รัสมีพูดกับกับผู้ชมด้วยความเป็นกันเองเสมอ ช่องว่างระหว่างเพลงเธอใช้ไปกับการพูดคุยและเล่าแรงบันดาลใจของแต่ละเพลงที่เธอประพันธ์ ในช่วงจังหวะหนึ่ง หลังจากการแสดงผ่านไปได้สักพัก รัสมีหยอกล้อกับผู้ชมว่า จะมีการพักเบรก เสียงโอดครวญของฝั่งผู้ชมดังขึ้น เพราะอยากชมการแสดงของเธออย่างต่อเนื่อง เธอยิ้มและหัวเราะ ก่อนจะยกแขนฟ้อนไปบนการเดินของไลน์เบส และแล้วเสียงกลองก็ดังขึ้น เครื่องดนตรีทุกชิ้นประเดประดังตามมา เพลงต่อไปดำเนินแบบไม่มีการพัก นั่นเป็นเพียงอารมณ์ขันของเธอ

 

เกิดใหม่ ณ เชียงใหม่

6 ปี คือระยะเวลาที่สาวลูกอีสานจิตวิญญาณหมอลำห่างหายไปจากเสียงดนตรี แต่แล้วสายลมแห่งโชคชะตาก็ได้พัดพาเธอไปพบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งสำคัญ นั่นคือการเลิกรากับคนรัก เหตุนี้เองทำให้เธอต้องหาเลี้ยงตัวเอง ประกอบกับมีเพื่อนมาชวนเธอไปร้องเพลงในบาร์ฝรั่ง ขวบปีนั้น รัสมีได้เริ่มฝึกร้องเพลงสากล จำพวก Adele, Norah Jones เพลงป๊อปฮิตติดชาร์ตต่างๆ ต่อมาเธอก็เริ่มจับแนวทางดนตรีที่เธอชอบได้ ประกอบกับการได้เข้าไปร้องในโรงแรม Set list ที่เธอเลือกนำมาร้องก็ได้เปลี่ยนไป เป็นเพลงของ Nina Simone, Amy Winehouse, Etta James, Ella Fitzgerald ศิลปินที่มีกลิ่นอายของดนตรีบลูส์ แจ๊ซ และโซล รัสมี เรียนรู้ดนตรีของโลกตะวันตกผ่านนักร้องระดับบรมครูเหล่านี้ และในขณะเดียวกันก็ได้รับการเกื้อกูลและคำแนะนำจากเพื่อนๆ พี่ๆ นักดนตรีที่ได้พบเจอกันบนถนนสายนี้

เชียงใหม่คือการเดินทางอีกครั้งบนถนนสายดนตรีของรัสมี แม้แนวทางจะมิได้ปูไปสู่นักร้องลูกทุ่งเสียงทองเหมือนครั้งก่อน การเดินทางของรัสมีครั้งนี้ เป็นการค่อยๆ เดิน เรียนรู้และสะสม แล้วเธอก็ได้พบกับหมุดหมายที่สำคัญในชีวิตอีกครั้ง ที่ร้าน North Gate บาร์แจ๊สระดับตำนานในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นเธอพบกับมือแซ็กโซโฟนนาม Ralph Thomas ซึ่งเขากำลังทำโปรเจ็กต์ดนตรีทดลอง(แจ๊ซ-หมอลำ) โดยกำลังต้องการนักร้องหมอลำเข้าไปมีส่วนร่วม

หลังจากโปรเจ็กต์นี้ ทำให้รัสมีตกเป็นที่สนใจของคนดนตรีมากขึ้น ไม่ต่างจากการเดินทางมาถึงของดอกไม้ที่มีกลิ่นอายใหม่ นักดนตรีหลายกลุ่มชักชวนเธอไปร่วมงาน และเธอก็ได้เดินทางไปเล่นในเทศกาลดนตรีที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนั่นเป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่ทำให้เธอพบตัวเอง

“เราโชคดีที่จังหวะชีวิตดีมาก ทำงานแล้วมีคนเห็นตลอด จึงมีงานเข้ามาเรื่อยๆ จนได้มีโอกาสแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส ผู้คนที่นั่นน่ารักมาก เวลาฟังเพลงเขาก็จะนั่งเงียบไม่พูด คือตั้งใจฟังจริงๆ พอจบเพลงก็จะปรบมือ และพอจบคอนเสิร์ตก็จะลุกขึ้นมาปรบมือไม่หยุดเลย เรารู้สึกได้รับการยอมรับจริงๆ”

 

สู่กลิ่นของตัวเอง

  โอกาสและประสบการณ์ที่เชียงใหม่ได้หล่อหลอมหญิงสาวผู้เคยท้อแท้กับความผิดหวัง ให้กลับมายืนบนเวทีเดิมอย่างแข็งแกร่งขึ้น การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนั้นได้กอบกู้ความมั่นใจของตัวเธอ และเป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่เปิดประตูโลกทางดนตรีของเธอให้กว้างขึ้น

“หลังจากเรากลับจากต่างประเทศ การแสดงครั้งนั้นทำให้เรามีความมั่นใจขึ้นมาก เราไม่ได้คิดอีกแล้วว่าเราไม่สวย หรือมีความไม่มั่นใจแบบแต่ก่อน ขอแค่เสียงเราโอเค ทุกคนก็จะพอใจกับเรา”

หลังกลับจากปารีส เธอก็มีแรงบันดาลใจที่จะทำอัลบั้มของตัวเอง อัลบั้มแรกจึงออกมาผ่านการทำงานของคนสองคนคือ รัสมี เวระนะ ผู้ถ่ายทอดผ่านเสียง กับ ก้อง สาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ที่จัดเจนศาสตร์ของโลกดนตรีสากล โดยขณะนั้นทั้งสองยังไม่ได้ตั้งวงดนตรีอย่างเป็นทางการ การทำเพลงส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะและผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของรัสมีและสาธุการ และความช่วยเหลือจากพี่น้องในวงการดนตรี

“ก้องไม่ค่อยรู้จักดนตรีอีสานมาก่อน แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้จักนี่แหละ จึงทำให้ดนตรีของเรามีความพิเศษ เพราะบางทีความรู้ก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหากเรารู้เยอะ เราก็จะติดอยู่ในกรอบและไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ เราทำงานด้วยความไม่รู้นี่แหละ ซึ่งนั่นอาจทำให้ดนตรีของเราไม่ถูกต้องตามทฤษฎีสำหรับบางคน แต่สำหรับเราคือมันโอเค มันลงตัว ทำแล้วมีความสุข”

ผ่านกระบวนการต่างๆ รัสมีและสาธุการใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ก่อนจะคลอดมินิอัลบั้มแรกออกมาสู่โลกของดนตรี ผลงานชุด Isan Soul EP. เป็นสีสันและความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ของวงการดนตรีไทยเนื่องจากมีการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล อีกทั้งมีกลิ่นการเล่าเรื่องแบบหมอลำที่เฉพาะตัวของรัสมี

“อีสานโซลคือจิตวิญญาณที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมที่เราหยิบขึ้นมาถ่ายทอด ผ่านบทเพลงที่เป็นเรื่องราวหมอลำและเรื่องราวส่วนตัว” อัลบั้มนี้เรื่องราวในบทเพลงต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของรัสมี อย่างเพลง ‘อ้ายอยู่ไส’ ก็เป็นเพลงที่เธอพูดถึงความโหดร้ายของค่ายกักกันเขมรแดง เพลง ‘ลำดวน’ ที่มีคุณยายของเธอเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้ หรือเพลง ‘เมืองชุดดำ’ ที่เธอแต่งจากประสบการณ์ที่ได้ไปเล่นดนตรีในต่างประเทศ

กลิ่นอายใหม่ทางดนตรีของ Isan Soul EP. ได้รับการกล่าวถึงมากมายจากคนรักเสียงเพลง คำวิจารณ์หล่นจากปากนักวิจารณ์และอาจารย์ด้านดนตรีหลายแห่ง แน่นอนขึ้นชื่อว่า คำวิจารณ์ย่อมต้องมีหลากหลายด้าน แต่บนความเชื่อและหัวใจที่แข็งแกร่ง เธอย่อมจะนำคำวิจารณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ได้อย่างดี

 

สีสันแห่งเมืองชุดดำ

  “ในเมืองใหญ่ ที่มาไกลเพื่อฝัน

  เอาเสียงของฉัน มาเปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นสุข

  สีดำของเธอเจอสีของฉันแล้วจะลืมทุกข์

  เชิญออกมาร้องเต้นสนุก จงอย่ามีทุกข์นะเมืองชุดดำ” - จากเพลง ‘เมืองชุดดำ’ เพลงที่สองจากอัลบั้ม Isan Soul EP.

ผ่านระยะเวลาของการสั่งสมประสบการณ์และวัตถุดิบมาเนิ่นนาน วันหนึ่งรัสมีก็ได้กลายเป็นที่จับตาของคนดนตรีมากมาย อาศัยความคิดสร้างสรรค์และความกล้าหาญในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ดอกไม้จากแดนที่ราบสูงได้ผลิบานเป็นสีสันใหม่ของเมือง จากเมืองที่ค่อนข้างเงียบเหงาก็พลันมีความสนุกสนานขึ้นมา

ภายในร้าน ร.ศ. 234 เวลานี้ จากบรรยากาศเคร่งขรึมในก่อนหน้านี้ ตอนนี้หลายคนลุกออกมาเซิ้งและเต้นรำไปบนจังหวะแปลกใหม่อันคุ้นเคยที่รัสมีนำมาเสนอ และเมื่อการแสดงดำเนินมาถึงช่วงท้าย หลังจากโน้ตดนตรีตัวสุดท้ายหยุดลง เสียงปรบมือเกรียวกราวของผู้ชมก็ดังขึ้นต่อเนื่องยาวนาน

แววตาของรัสมีกล่าวทุกอย่างแทนคำขอบคุณ เรามิอาจบรรยายความหมายของแววตานั้นได้อย่างลุ่มลึก แต่อาจสรุปอย่างคร่าวว่า นั่นเป็นแววตาแห่งความภูมิใจของเธอ

  รัสมีมิใช่ดอกไม้ที่พลัดหลงจากป่า แต่เธอเป็นดอกไม้ที่นำพาป่าทั้งป่ามาให้เราได้สัมผัส จากประสบการณ์ของเรา - รัสมี เวระนะ เธอเป็นนักดนตรีที่สร้างบรรยากาศเช่นนั้นได้อย่างอัศจรรย์

เรื่อง : คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในส่วนจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559