'มิวสิคบั๊กส์'ฟ้อง'แกรมมี่-ลาบานูน' เรียกค่าเสียหาย50ล้าน

'มิวสิคบั๊กส์'ฟ้อง'แกรมมี่-ลาบานูน'  เรียกค่าเสียหาย50ล้าน

"มิวสิคบั๊กส์"ฟ้อง"แกรมมี่-ลาบานูน"ละเมิดลิขสิทธิ์ ใช้เพลงเก่า 7 อัลบั้มแสดงคอนเสิร์ต เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

นายชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ กรรมการบริษัท เพาเวอร์ เทรเซอร์ จำกัด ค่ายเพลงมิวสิคบั๊กส์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นฟ้องบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งศิลปินวงลาบานูน กับพวก รวม 6 คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพลงทั้ง 7 อัลบั้มของวงลาบานูนซึ่งเป็นสิทธิ์ของบริษัท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยทั้งหมด ระงับการนำพลงานเพลงลิขสิทธิ์โจทก์ ทั้ง 7 อัลบั้มไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าในรูปแบบใดๆโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ตนยังขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อห้ามนำเพลงทั้ง 7 อัลบั้มไปใช้ ซึ่งศาลนัดไต่สวนคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 4 เม.ย.นี้

"การฟ้องศาลในครั้งนี้ เพราะความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ไม่สุจริต และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงโดยบริษัทแกรมมี่ฯ ใช้สิทธิ์เกินกำหนดไว้ในสัญญา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ให้เกิดกับกลุ่มตัวเอง และเอาเปรียบกับบริษัทเล็กอย่างผม" นายชนินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยทั้งหก ที่ค่ายมิวสิคบั๊กส์ ยื่นฟ้อง ประกอบด้วย บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิช ซิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย น.ส.บุษา ดาวเรือง กก.ผจก. , กรรมการผู้จัดการสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด , บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)โดย น.ส.สุวิมล จึงโชติกะพิสิฐ กก.ผจก. , ศิลปินวงลาบานูนทั้ง 3 คนซึ่งปัจจุบันย้ายค่ายสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด เป็นจำเลยที่ 1-6

โดยคำฟ้อง บรรยายพฤติการณ์ระบุว่า บจก.เพาเวอร์ เทรเซอร์ ค่ายเพลงมิวสิคบั๊กส์ โจทก์ อนุญาตให้ บจก.จีเอ็มเอ็ม มิวสิคฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าตอบแทน และค่าเผยแพร่ผลงานด้านดนตรี สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศน์วัสดุ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโจทก์ จากสถานประกอบการร้านค้าหรือผู้ใช้งานเพลง โดยทำหนังสืออนุญาตให้จัดเก็บค่าเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณะ รวม 3 ฉบับ ในปี 2545 , 2547 และ 2549 ซึ่งสัญญาฉบับที่ 3 จะสิ้นสุดในวันที่ 4 ก.ค.60 โดยเจตนารมณ์ของสัญญา คือการที่โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดเก็บค่าตอบแทนจากบุคคลภายนอกเท่านั้น

แต่เมื่อปลายเดือน ส.ค.58 ภายหลังวงลาบานูนที่ได้ย้ายค่ายสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด ต้นเดือนต.ค.57 ได้ออกผลงานเพลงเชือกวิเศษ แล้วได้นำงานเพลงทั้ง 7 อัลบั้ม คือนมสด , 191 , คนตัวดำ , 24 ชั่วโมง , Clear , Keep Rocking  และสยามเซ็นเตอร์ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโจทก์ไปใช้ประกอบการแสดงในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 10 เพลงต่อรอบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันฟ้องวงลาบานูน ได้จัดการแสดงเพื่อประโยชน์การค้า ถึง 250 รอบ จึงเป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหาย ก่อนฟ้องโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสื่อแจ้งจำเลยทั้ง 6 ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมให้ยุติการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้ง 6 ยังเพิกเฉย

โดยศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ทป. 21/2559 ซึ่งศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ 09.00น.