บุษบัญชลี

บุษบัญชลี

'งานดอกไม้สด' อันเกี่ยวเนื่องด้วยงานพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

บุษบัญชลี หรือ ‘การอัญชลีด้วยดอกไม้’ คือ การพนมมือสักการะด้วยดอกไม้ เป็นชื่อนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2558

นิทรรศการดอกไม้เทิดพระเกียรติครั้งพิเศษนี้ คือการน้อมนำพระราชกรณียกิจใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเผยแพร่โดยร้อยเรียงเรื่องราวผ่าน งานดอกไม้สด อันเกี่ยวเนื่องด้วยงานพระราชกรณียกิจ และพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แทนพระองค์เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน งานประกวดผ้าไหมที่จังหวัดสกลนคร งานพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาทิ สกุล อินทกุล นักจัดดอกไม้และผู้ก่อตั้ง 'พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้' ซึ่งถวายงานจัดดอกไม้และรับหน้าที่ออกแบบงานดอกไม้และงานนิทรรศการครั้งนี้ กล่า่ว

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปรียบกับแม่เรือน พอมีแขกไปใครมา ทรงดูแลความเรียบร้อยทุกเรื่องในการรับแขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งงานดอกไม้ก็ทรงให้ความสำคัญ แม้ว่าเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย เช่นเดียวกับอาหาร การตกแต่งสถานที่ก็มีความสำคัญในการรับรองแขก” คุณสกุลให้เหตุผลทำไม ‘ดอกไม้’ จึงเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้

ในการถวายงานจัดดอกไม้แต่ละครั้ง คุณสกุลทำงานภายใต้การดูแลของ ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร และ ม.ล.ปิภาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

“การถวายงาน คือการทำงานกับ ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร ซึ่งดูแลเรื่องการตกแต่งดอกไม้ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ ช่วยดูแล ผมเชื่อว่ามีการถวายรายงานเป็นขั้นตอนในทุกครั้งที่มีการทำงาน ทรงใส่พระทัยในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นข้อสังเกตส่วนตัวของผมเองนะ คือทุกครั้งที่ได้คุยเรื่องธีมสีดอกไม้กับคุณชายยงสวาสดิ์ ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็จะเป็นสีในทิศทางเดียวกัน” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ กล่าว

นิทรรศการ บุษบัญชลี แสดงผลงานการจัดดอกไม้ถวายในวาระต่างๆ จำนวน 12 ชิ้นงาน เช่น ชิ้นงานประดับผนัง งานดอกไม้ประดับบนโต๊ะพระราชทานเลี้ยง งานประดับในห้องพระสุธารส ออกแบบโดยคุณสกุล อินทกุล ในลักษณะของ ‘งานจำลองงานดอกไม้สดจากผลงานจริง’ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดดอกไม้ประดับบางส่วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้นำมาจัดแสดง พร้อมอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจน้้นๆ หรือขณะทรงงาน มาจัดแสดงด้วย เช่น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และการจัดประกวดผ้าไหมที่จังหวัดสกลนคร

ผลงานชิ้นสำคัญคือ การจัดดอกไม้ประดับงานเลี้ยงถวายพระราชอาคันตุกะ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง ในปีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2549

“งานดอกไม้สดประดับผนังภายใน พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นงานดอกไม้สดในลักษณะอินสตอลเลชั่นประดับตกแต่งผนัง ในกรอบไม้สีทองขนาด 2 คูณ 4 เมตร งานดัดโลหะเป็นลวดลายแบบไทยและฝรั่งแล้วประดับด้วยงานประดิษฐ์ดอกไม้สดแบบไทยขึ้นไป อาจนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีชิ้นงานดอกไม้สดประดับผนังปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมดอกไม้ไทย” คุณสกุล ยกตัวอย่าง ‘งานดอกไม้’ ในนิทรรศการครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมี งานดอกไม้ไทย ออกแบบเพื่อ ประดับตกแต่งโต๊ะเสวย ณ บริเวณหน้าที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร (งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี) รูปพระอินทร์ในส่วนกลางและดวงตราดารานพรัตน์ทั้งสี่ ประดิษฐ์จากกลีบดอกบานไม่รู้โรยตากให้แห้ง แล้วนำมาย้อมสี จากนั้นจึงค่อยนำมาติดด้วยกาวบนแบบที่ได้ร่างไว้ทีละกลีบโดยอุตสาหะ

รูปพระอินทร์เปรียบดั่งการอัญเชิญพระอินทร์เทพผู้ปกครองสรวงสวรรค์ให้เสด็จมาประทานพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนดวงตราดารานพรัตน์เป็นโบราณมงคล มีที่มาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชิ้นงานชิ้นสำคัญนี้เป็นชิ้นงานจริงที่ใช้ตกแต่งในวันงานสำคัญดังกล่าว ปกติได้รับพระมหากรุณาธิคุณจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชื่นชมอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ แต่เนื่องในวาระพิเศษนี้จึงนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘บุษบัญชลี’ เป็นกรณีพิเศษ

อีกหนึ่งชิ้นงานที่ชาวไทยยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนคือ งานดอกไม้ประดับงานพระราชทานเลี้ยงคณะรัฐบาลจีน ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นตัวแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2543 ออกแบบโดยนำสัญลักษณ์มงคลของทั้งไทยและจีนมาใช้เป็นองค์ประกอบ คือกลิ่นหอมของ กล้วยไม้ แทนมิตรภาพที่หอมหวานและยั่งยืนยาวนาน, สาย หลิว คือตัวแทนแห่งไมตรีอันดีต่อกัน และ กิ่งสน เป็นสัญญลักษณ์ของการมีอายุยืนนาน, มาลัยเกลียว สัญลักษณ์ของไทย เปรียบเกลียวไมตรีร้อยรัดมิตรภาพไทยและจีนเข้าไว้ด้วยกัน, ดอกบานไม่รู้โรย อันคือความเคารพนับถือที่มิตรพึงมีต่อกันอย่างไม่เสื่อมคลาย

งานจัดดอกไม้ทั้ง 12 ชิ้นงาน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการจัดดอกไม้แบบโบราณของไทยซึ่งมีความประณีตละเอียดอ่อนหลายรูปแบบ เช่น ตาข่ายดอกไม้ งานอุบะทรงเครื่อง งานร้อยมาลัยดอกพุด งานพุ่มดอกไม้ การทำงานเย็บแบบ นำองค์ประกอบเหล่านี้มาปรุงใหม่ให้เกิดเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ โดยใช้ดอกไม้ไทยหลายชนิด เช่น ดอกรัก ดอกพุด กล้วยไม้ และบางส่วนที่เป็นดอกไม้ประดิษฐ์เนื่องจากต้องจัดแสดงเป็นเวลาหลายวัน

“ศิลปะการจัดดอกไม้แบบโบราณของไทยหาชมได้ยาก เป็นงานในอดีตซึ่งเรานำมาจัดแสดงให้ชมอีกครั้งในรูปแบบนิทรรศการ ได้ชื่นชมในพระบารมีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อยากให้เด็กๆ มาดูกันเยอะๆ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจ ได้ทราบซึ้งในความเป็นไทย ได้รู้จักสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในแบบที่คนรุ่นก่อนๆ ได้รู้จัก” คุณสกุล กล่าว

การจัดนิทรรศการ ‘บุษบัญชลี’ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ฯ, จิม ทอมป์สัน เอื้อเฟื้อผ้าไหมไทยร่วมประดับตกแต่ง, พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ดูแลในเรื่องงานนิทรรศการ และ ดิ เอ็มโพเรียม เอื้อเฟื้อสถานที่จัดแสดงงาน ณ เอ็มโพเรี่ยม แกลอรี่ ชั้น M วันนี้-16 สิงหาคม 2558