ธุรกิจออกแบบฟอนต์ ปั้นอักษรเงินล้าน!

ธุรกิจออกแบบฟอนต์  ปั้นอักษรเงินล้าน!

ใครๆ ก็อยากได้ความแตกต่างเมื่อยุคนี้แค่ชื่อโลโก้ สี หรือ ดีไซน์ ก็ไม่เพียงพอที่จะแยกเราออกจากคู่แข่งได้ ถึงเวลาของธุรกิจฟอนต์ อักษรเงินล้าน

ตลาดกว้าง ความต้องการมีมาก แต่คนทำกลับมีแค่ไม่กี่เจ้า!

แม้แต่เพื่อนบ้านเออีซี แอบส่องดูในแต่ละประเทศ ก็พบผู้เล่นอยู่เพียง 1-2 ราย เท่านั้น

นี่คือเรื่องจริงไม่อิงนิยายของ “ธุรกิจออกแบบตัวอักษร” หรือที่หลายคนเรียก “ฟอนต์” ที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรม จาก 4 ค่ายดัง คัดสรรดีมาก, กะทัดรัด, คราฟส์แมนชิพ และ โปรดิวซ์ บอกเล่าให้เราฟัง ระหว่างการรวมตัวเฉพาะกิจที่ สโมสรอักษรศิลป์และอักขรศิลป์กรุงเทพฯ (TAB) ทองหล่อ ซอย 4

ธุรกิจฟอนต์ เป็นการขายลิขสิทธิ์​ซอฟต์แวร์ (Software Licenses) แบบตัวอักษร ให้กับนักออกแบบและแบรนด์ ต่างๆ นำไปใช้สื่อสาร ทั้งในสื่อทั่วไปและสื่อดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มหลัก คือ Custom Font ฟอนต์ที่ออกแบบเฉพาะให้กับองค์กรต่างๆ กับ Retail Font ฟอนต์ที่ขายให้คนทั่วไป ใครก็สามารถซื้อหามาใช้ได้

อุตสาหกรรมน้องใหม่เริ่มต้นในไทยเมื่อกว่าสิบปีก่อน หลังการเข้ามาฟาดฟันกันของธุรกิจโทรคมนาคม เมื่อค่ายมือถือต่างเริ่มตระหนักว่า แม้ แบรนด์ สี หรือ โลโก้ ต่างกัน แต่ถ้ายังใช้ฟอนต์เหมือนๆ กัน ก็ไม่สามารถฉีกตัวเองออกจากคู่แข่งได้ ที่มาของการสร้างแบบตัวอักษรที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะขององค์กรขึ้น (Custom Font) เพื่อสร้างคาแรคเตอร์และ “น้ำเสียง” ของแบรนด์ให้เด่นชัด เสริมอัตลักษณ์ตัวเองให้โดดเด่น

วันนี้โลกของพวกเขายังเปิดกว้าง เมื่อธุรกิจใหญ่ ไล่ไปจนเอสเอ็มอี เริ่มให้ความสำคัญกับแบบตัวอักษรมากขึ้น มีความเข้าใจเรื่อง “ลิขสิทธิ์” กว่ายุคก่อน เลย “ยอมจ่าย” ให้กับฟอนต์ที่แตกต่าง เพื่อนำมาสร้างอัตลักษณ์ที่เหนือชั้นให้ตัวเองได้ บวกการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทยที่เท่าทวีขึ้นตลอดที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนมีแบบอักษรเฉพาะของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องการดีไซน์ฟอนต์ไทยเพื่อให้ล้อไปกับภาษาของบ้านเขา เลยส่งอานิสงห์ให้ธุรกิจฟอนต์ไทยเติบโตตามไปด้วย

“ผมมีลูกค้ารายหนึ่ง เป็นบริษัทเคมีสัญชาติไทยที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราไปปรับภาพลักษณ์และทำ Custom Font ไปให้เขาด้วย เขาจึงมีตัวอักษรที่ใช้สื่อสารไปในทุกๆ สื่อ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้กราฟฟิคในการสื่อสารเท่านั้น เพราะแค่พิมพ์ตัวอักษรหนึ่งตัว ก็รู้ทันทีว่าคือแบรนด์นี้ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่ โลโก้ หรือ ชื่อ แต่ ฟอนต์ ก็สามารถแยกความแตกต่างระหว่างแบรนด์ได้”

“ขวัญชัย อัครธรรมกุล” นักออกแบบอักษร จาก คราฟส์แมนชิพ บริษัทออกแบบตัวอักษรที่เน้นใช้งานบนสื่อดิจิทัล บอกโอกาสธุรกิจที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ “โปรดิวซ์” ค่ายฟอนต์ผู้ผลิตตัวอักษรไทยและละติน สำหรับการใช้งานแบบดิสเพลย์ ที่ “วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ” บอกเราว่า พวกเขาขยายบริการจากบริษัทรับออกแบบ ทำแบรนดิ้ง กราฟฟิคดีไซน์ และภาพลักษณ์องค์กร มาเพิ่มบริการ Custom Font เพื่อตอบสนองลูกค้าให้ครบวงจรขึ้น ผลที่ได้คือ คนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น และจ่ายในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ธุรกิจฟอนต์ยังคงหอมหวาน ดูได้จากตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 25% ต่อปี ขณะโอกาสทำเงินก็มีทั้งในไทย และ ตลาดโลก พวกเขายกตัวอย่าง นักออกแบบอักษรไทย ที่ไปฝากฟอนต์ขายอยู่ในเว็บสโตร์ต่างประเทศ ซึ่งสามารถทำเงินได้อย่างงดงาม จากการแวะเวียนมาช็อปของลูกค้าทั่วโลก ที่สำคัญช่องทางนี้ขายได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมดอายุ ส่วนราคาขาย (Retail Font) มีตั้งแต่ระดับ 5 เหรียญ ไปจนกว่า 100 เหรียญ

แต่ถ้าอยากได้ฟอนต์ลิขสิทธิ์เฉพาะตัว ไม่ต้องกลัวซ้ำใคร ก็คิดกันเบาะๆ ตั้งแต่ หลักแสน ไปจนหลักล้าน!

เห็นโอกาส และอยากทำ แต่คนในสนามบอกตรงๆ ว่า ธุรกิจนี้ “ไม่หมู” มีแต่โจทย์หินพร้อมปราบเซียนอยู่รอบด้าน

ว่ากันตั้งแต่ศาสตร์การออกแบบฟอนต์ไม่มีสอนในไทย มีแต่ไปแปะอยู่กับวิชาออกแบบอื่น องค์ความรู้ในเรื่องนี้เลยน้อยนิด ไม่แพร่ในวงกว้าง อาชีพนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้ แต่ต้องเป็นคนที่มีส่วนผสมสองด้าน คือ รู้เรื่อง “ศิลปะ” และ “เทคโนโลยี”

ทำงานนี้ได้ “ใจต้องยาว” เพราะออกแบบฟอนต์แต่ละชุด ว่ากันเป็นปีๆ กว่าจะได้งานที่เนี้ยบ คุณภาพสมดั่งใจหวัง พวกเขายกตัวอย่าง อักษรภาษาอังกฤษ A-Z มี 26 ตัว มีตัวเล็ก ตัวใหญ่ รวมน้ำหนัก หนา เอียง เบาะๆ ก็ประมาณ 300 ตัว ภาษาไทยรวมน้ำหนักก็ปาไป 500 ตัว ภาษาจีนว่ากันที่พันๆ ตัว มาเต็มขนาดนี้ เลยกินเวลาทำยาวเป็นปีๆ เร็วสุดก็ 3 เดือน

“บ้านเรานักออกแบบฟอนต์มีเยอะนะ แต่ส่วนใหญ่จะทำเป็นงานอดิเรกมากกว่า เพราะพอทำไปสักพักจะเริ่มหมดสนุก และหายไปจากวงการเอง”

“ศุภกิจ เฉลิมลาภ” และ “ธนรัชฏ์ วชิรัคกุล” สองผู้ก่อตั้ง กะทัดรัด บริษัทออกแบบฟอนต์เพื่อเอสเอ็มอี บอกอุปสรรคสำคัญที่สกัดดาวรุ่งในวิชาชีพออกแบบฟอนต์ ที่ดู “ใจ” จะมีความสำคัญเอามากๆ ถึงขนาดที่ทั้งสองย้ำว่า คนที่มาทำต้อง “ใจรัก” และอดทนก้าวข้ามความสนุกไปให้ได้ เพราะต้องเจอช่วงเวลาที่น่าเบื่อแน่นอน โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเทคนิค ย่อมสนุกน้อยกว่าช่วงออกแบบเป็นไหนๆ แต่ทว่าถ้าผ่านมันไปได้ พวกเขาฟันธงว่า จะอยู่สบายในธุรกิจนี้

ขณะที่ “สมิชฌน์ สมันเลาะ” พี่ใหญ่ จาก คัดสรรดีมาก บอกเราว่า ทำฟอนต์ต้องมีเงื่อนไขความรู้ และความเข้าใจ ทำอย่างไรให้ฟอนต์ได้มาตรฐาน พิมพ์ได้ ใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ ทุกเครื่องมือการสื่อสาร และถูกต้องตามมาตรฐานของผู้ใช้

“ทำงานนี้ต้องรักและเข้าใจในตัวอักษร ต้องรู้ว่ามันมีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาที่ยาวนาน ที่สำคัญต้องมีความอุตสาหะด้วย” เขาบอก

พวกเขาย้ำว่า “ใจ” และ “แรง” สำคัญกว่า “เงินทุน” เพราะแค่มีความรู้อยู่ในตัวก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจนี้ได้ แต่สำคัญคือ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ เนื่องจาก ฟอนต์ก็มีวันหมดอายุ ถ้าไม่สามารถปรับให้ใช้งานกับสื่อยุคใหม่ได้ ก็จบข่าว! นักออกแบบต้องหาแรงบันดาลใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะทำฟอนต์ให้ขายได้นาน อย่าพึ่งสไตล์ พึ่งแฟชั่นให้มาก เพราะอายุความนิยมจะสั้นกว่าฟอนต์ประเภทกลางๆ ที่ติดตาตรึงใจผู้คนไปได้เรื่อยๆ

ใครที่มั่นใจว่าสอบผ่านทุกข้อ ข่าวดีคือวันนี้ทำธุรกิจฟอนต์ง่ายขึ้นมาก เมื่อมีช่องทางขายทั้งในไทยและต่างประเทศ ใครอยากโกอินเตอร์ ลองไปฝากขายได้ที่เว็บไซต์อย่าง Linotype, Fontshop และ Myfont ฯลฯ หรือในไทยก็มีสโตร์ขายฟอนต์ดังๆ อย่าง Katatrad(www.katatrad.com), Cadson (cadsondemak.com) หรืออย่าง Produce เป็นต้น โดยฝากขายฟรี แต่หากขายได้ จะแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายให้สโตร์ ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละที่ เช่น 50:50 หรือ 60:40 เป็นต้น 

ล่าสุดยังมี Google Fonts แพลตฟอร์มน้องใหม่ ที่จะให้คนทำฟอนต์ไปแชร์ผลงานของตัวเองได้อย่างอิสระกับกูเกิล เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ฝีมือแก่สายตาคนทั่วโลก เพื่อต่อยอดโอกาสนำพาธุรกิจฟอนต์ไทย ไปเฉิดฉายในตลาดโลก

อีกหนึ่งธุรกิจหวานๆ ที่คนทำย้ำว่า ต้องอาศัย บุพเพสันนิวาส อยู่พอตัว เพราะถ้าไม่รักกันจริง ก็คง ‘ทิ้งไว้กลางทาง’ มาถึงคำว่า “สำเร็จ” ไม่ได้!

.............................................

Key to success
โอกาสธุรกิจออกแบบฟอนต์

๐ คนทำน้อย ตลาดยังกว้าง ความต้องการมีมาก
๐ สามารถขายได้ทั้งในไทยและตลาดโลก
๐ อาเซียนยังมีโอกาส คู่แข่งไม่มาก
๐ ธุรกิจใหญ่ เล็ก บริษัทต่างชาติ ก็พร้อมเป็นลูกค้า
๐ ราคาขายฟอนต์ลิขสิทธิ์มีตั้งแต่หลักแสน-ล้าน
๐ ใจและแรงสำคัญกว่าเงินทุน ตัวคนเดียวก็เริ่มธุรกิจได้