วธ.ประกาศยกย่อง187'บูรพศิลปิน'

วธ.ประกาศยกย่อง187'บูรพศิลปิน'

วธ.ประกาศยกย่อง “บูรพศิลปิน” ศิลปินผู้ล่วงลับและสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าต่องานศิลปวัฒนธรรมของชาติ จากยุคสุโขทัย ถึงรัตนโกสินทร์187คน

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.ได้ดำเนินโครงการ ยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเกียรติยศสำหรับใช้ประกาศเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน” ซึ่งมีความหมายว่า ศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วที่ควรค่าแก่การยกย่อง ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ได้พิจารณาคัดเลือกศิลปินผู้ล่วงลับที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม

ในการยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยได้จำแนกบูรพศิลปินไปตามยุคสมัย ได้แก่ สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบูรพศิลปินที่ได้รับคัดเลือกสามารถแบ่งระดับได้ 5 ระดับ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุ ขุนนาง และสามัญชน ซึ่งผลของการพิจารณาตัดสินมีศิลปินที่ได้รับการประกาศยกย่องในครั้งนี้ รวม 187 คน

ด้าน ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการคัดเลือกบูรพศิลปิน กล่าวว่า คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกบูรพศิลปิน จากทำเนียบนามที่ได้รวบรวมข้อมูล ประวัติและผลงานของศิลปินทุกสาขาไว้อย่างเป็นระบบ โดยยึดตามคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินผู้ล่วงลับในสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ จนได้รายชื่อของบูรพศิลปินตามยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัย กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ยกตัวอย่าง เช่นยุคสมัยกรุงสุโขทัย พระยาลิไท ทรงนิพนธ์หนังสือ ไตรภูมิกถาหรือ พระสิริมังคลาจารย์ ผู้ประพันธ์จักกวาฬทีปนี สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ สมุทโฆษคำฉันท์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทรงนิพนธ์ “กาพย์เห่เรือ” และนันโทปนันทสูตรคำหลวง สมัยกรุงธนบุรี เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ๔ ตอน หรือ หลวงสรวิชิต(หน) ประพันธ์ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์และยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงเป็นศิลปินและทรงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เริ่มตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องอุณรุท และนิราศรบพม่าท่าดินแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่องอิเหนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง สังข์ศิลป์ชัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามเดินดง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่า ลิลิตนิทราชาคริต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูด พระนลคำหลวง มัทนะพาธา

ม.ร.ว.จักรรถ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีศิลปินที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีผลงานโดดเด่น เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนศิลปินที่เป็นสามัญชนก็มีเป็นจำนวนมาก อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งมีผลงานการแต่งเพลงมากมาย หรือครูแก้ว อัจฉริยะกุล ท่านทั้งสองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ เป็นต้น

นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.พร้อมจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติ “บูรพศิลปิน”ในวันที่ 21 ก.ค. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยในภาคเช้า จะมีพิธีเปิดนิทรรศการ หลังจากนั้นจะเป็นพิธีสงฆ์โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ บูรพศิลปิน ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ สำหรับภาคบ่ายจะมีการเสวนา เรื่อง บูรพศิลปิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติไทยให้คงอยู่สืบไป

หลังจากนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือบูรพศิลปิน ที่จะรวบรวมประวัติและผลงานชิ้นเด่นๆ ของบูรพศิลปิน ทั้ง 187 คน ไว้อย่างเป็นระบบ และจัดทำทำเนียบนาม ชีวประวัติ ผลงานเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า และเป็นหลักฐานที่สำคัญของชาติต่อไป

สามารถตรวจสอบรายชื่อบูรศิลปิน ทั้งหมดได้ที่ www.culture.go.th