ทนายชี้ยึดทรัพย์แกนนำพธม.และฟ้องล้มละลายได้ หากคดีถึงที่สุด

ทนายชี้ยึดทรัพย์แกนนำพธม.และฟ้องล้มละลายได้ หากคดีถึงที่สุด

ทนาย ชี้ หากคดีแกนนำพันธมิตรฯปิดสนามบินซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ชดใช้เงินกว่า 522 ล้านบาทให้กับบ.ท่าอากาศยานไทย ถึงที่สุดแล้วเป็นความจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่เอกสารผ่านสื่อโซเชียลในอินเตอร์เน็ต อ้างว่า คดีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย  จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต จำลอง ศรีเมือง  ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล  ,นายพิภพ ธงไชย ,นายสุริยะใส กตะศิลา  ,นายสมศักดิ์  โกศัยสุข ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์  ,นายสมเกียรติ  พงษ์ไพบูลย์  ,นายอมร อมรรัตนานนท์ ,นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง ,นายสำราญ รอดเพชร ,นายศิริชัย ไม้งาม , นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี เป็นจำเลยที่ 1-13  ได้ถึงที่สุด ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558  ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากกรณีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  พาผู้ชุมนุมปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้ง 13 ราย ชดใช้เงินจำนวน 522.16 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย 

อย่างไรก็ตามคดีนี้ทางจำเลยและทางทนายจำเลย ได้ออกมาระบุว่า ยังอยู่ในช่วงขอขยายเวลายื่นฎีกาต่อสู้คดี คดีจึงยังไม่ถึงสุด และขณะนี้ได้รวบรวมค่าธรรมเนียมศาลที่จะใช้ในการยื่นฎีกา จำนวน 7 ล้านบาท ได้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางศาลว่า คดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่   

นายเจษฎา อนุจารี   ผ.อ.สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ  สภาทนายความ กล่าวว่า  หากข่าวที่ว่าคดีแกนนำพันธมิตรฯ ถูกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ชดใช้เงินจำนวน 522.16 ล้านบาท ให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย  ถึงที่สุดแล้ว เป็นความจริง  บริษัท ท่าอากาศยานไทย  ซึ่งเป็นโจทก์  สามารถยื่นขอให้ศาลออกคำบังคับให้ทางจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน  หากจำเลยไม่ชดใช้เงินตามคำพิพากษาภายในกำหนด โจทก์ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีกับจำเลยได้ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะทำการยึดทรัพย์จำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้กับทางโจทก์  

"เนื่องจากคดีนี้ จำเลยต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้จำนวนกว่า 522 ล้านบาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถเลือกยึดทรัพย์เอากับจำเลยที่เป็นเป้าหมายเนื่องจากเห็นว่าเป็นคนมีฐานะให้ชดใช้เงินเต็มจำนวนได้ เช่นจากคนๆเดียว หรือ สองคน  หรือจะยึดทรัพย์ทั้ง  13 คน ก็ได้ และตราบใดที่ยังยึดทรัพย์สินได้ไม่ครบตามจำนวนหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถติดตามยึดทรัพย์จำเลยที่มีขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีการออกหมายบังคับคดีได้"  

ทนายเจษฎา กล่าวต่อไปว่า  หากในคดีนี้ บรรดาจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้้ตามคำพิพากษาได้  บริษัท ท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นโจทก์  ก็สามารถยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้ ต่อศาลล้มละลายเป็นคดีล้มละลายตามมาได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจาก ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้  และหากศาลเห็นว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง ก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย  เพื่อให้บริษัท ท่าอากาศยานไทยและเจ้าหนี้อื่นของจำเลยถ้าหากมี ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อตกลงกันว่าใครจะได้รับชำระหนี้ก่อนหลัง ซึ่งตามกฎหมายก็จะมีการจัดลำดับชั้นของหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนหลังอยู่ ขณะเดียวกันลูกหนี้ก็ต้องยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามา เช่น  ขอชำระหนี้แค่ 100 ล้านบาท  หากเจ้าหนี้ยอม ตกลงกันได้ ลูกหนี้ก็จะไม่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากลูกหนี้ไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามา หรือ ยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามาแต่ตกลงกันไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย  แต่จำเลยก็ยังยื่นขอประนอมหนี้หลังศาลพิพากษาศาลล้มละลายได้อีก แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ และผลจากเป็นบุคคลล้มละลาย ทำให้ไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆได้ , ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ได้    

"อย่างไรก็ตามคนที่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย  เมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษา กฎหมายให้ปลดบุคคลนั้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต คือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อให้ไม่ต้องชำระหนี้ กฎหมายให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี จึงจะพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ก็สามารถทำนิติกรรมต่างๆได้เหมือนเดิมและหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ถือว่าหมดสิ้นไป" นายเจษฎา กล่าว