กสท.ไฟเขียวแผนหยุดระบบอนาล็อกฟรีทีวี

กสท.ไฟเขียวแผนหยุดระบบอนาล็อกฟรีทีวี

กสท.เห็นชอบแผนยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก "ไทยพีบีเอส-ททบ.5-ช่อง11-ช่อง9"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เห็นชอบแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทัพบก (ททบ.5) กรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) และบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) (ช่อง 9 modern nine) ตามที่ทั้ง 4 ช่องได้ส่งมา และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งรัดการส่งแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของประเทศไทย ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

แผนการยุติการับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของไทยพีบีเอส เสนอมา 6 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 วันที่ 1 กันยายน 2558 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 2 สถานี

ระยะที่ 2 วันที่ 16 มิถุนายน 2558 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 12 สถานี

ระยะที่ 3 วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 11 สถานี

ระยะที่ 4 วันที่ 16 มิถุนายน 2560 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 13 สถานี

ระยะที่ 5 วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 11 สถานี

ระยะที่ 6 วันที่ 16 มิถุนายน 2561 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 3 สถานี

แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของช่อง 5 เสนอมา 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกจำนวน 4 สถานี

ระยะที่ 2 16 มิถุนายน 256 จะยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก จำนวน 37 สถานี

แผนการยุติการับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของช่อง 11 เสนอมา 1 ระยะ คือ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 50 สถานี

ทั้งนี้ แผนการยุติการับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกของช่อง 9 เสนอมา 1 ระยะ คือ 16 กรกฎาคม 2561 จำนวน 36 สถานีที่ประชุม กสท. มีมติไม่รับข้ออุทธรณ์คำสั่ง กสท. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ของกรมประชาสัมพันธ์ กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตการติดตั้งตั้ง ขยายโครงข่ายและให้บริการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยหากไม่ดำเนินการจะใช้มาตรการทางปกครองให้ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 20,000 บาท และหากยังไม่สามารถทำตามตามเงื่อนไขได้ ก็จะพิจารณามาตรการทางปกครองที่สูงขึ้น และให้จัดทำมาตรการเยียวยาช่องรายการที่ใช้บริการโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ และให้ทำการประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภคให้ทราบถึงสาเหตุของความล่าช้า

นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท. ไม่รับหนังสือขอความเป็นธรรมของบริษัท ทีวี จำกัด หรือช่องพีซทีวี โดยที่ประชุม กสท. พิจารณาแล้วว่าคำสั่งของ กสท. ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ หากช่อง พีซ ทีวี ไม่พอใจในมติของ กสท. สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไปได้