'สุรชัย กิจกำจาย' เกมชนะ 'แกมโบล'

'สุรชัย กิจกำจาย' เกมชนะ 'แกมโบล'

สตาร์ทธุรกิจล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี แต่พันธมิตรไม่เคยทิ้ง เพราะซื่อสัตย์ สู้ทุกปัญหา ผลลัพธ์ธุรกิจเติบใหญ่ของซีอีโอบิ๊กสตาร์ เจ้าของแบรนด์รอง

ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญา หรือมีฐานะสวยหรู เป็น “ต้นทุน” ชีวิตเริ่มจากศูนย์ ทั้งฐานะทางบ้านแร้นแค้น ความรู้ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ความมุมานะในชีวิต ก็มอบ “ของขวัญล้ำค่า” นั่นคือความสำเร็จ ให้กับเขา “สุรชัย กิจกำจาย” บอสใหญ่บิ๊กสตาร์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์รองเท้าแตะวัยรุ่นอย่าง “แกมโบล” ให้ขึ้นแท่นท็อปทรี (1 ใน 3) ของตลาดรองเท้าแตะมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

รองเท้าวัยรุ่น “แกมโบล” น้อยคนที่จะรู้ว่าเจ้าของ นักธุรกิจที่ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมสูงนัก เพราะ “สุรชัย” เพิ่งเปิดตัวต่อสาธารณชนเพียงไม่กี่ปี

จนวันนี้กับการ “รีแบรนด์” ครั้งใหญ่ ในรอบ 12 ปี  สุรชัยเริ่มบอกเล่าที่มาของธุรกิจ “พันล้าน” “บิ๊กสตาร์” ถือเป็นกิจการกงสี หรือธุรกิจของครอบครัว และไม่ใช่มีแค่แบรนด์ “แกมโบล” เท่านั้น แต่ยังมี “กีโต้” เป็นอีกแบรนด์ในเครือที่ “น้องชาย” ของเขาเป็นผู้ดูแล แถมต้อง “ขับเคี่ยว” แข่งขันกันเอง เพื่อผลักดันไปสู่จุดหมายเดียวกันคือ “การเติบโต” ในธุรกิจรองเท้า 

ในบรรดาพี่น้อง 6 คน สุรชัย เป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว เขาก้าวมาสู่การทำธุรกิจได้ เพราะความขัดสนบีบคั่น ชนิดที่เรียกว่าอายุ 6-7 ขวบ ต้องมานั่งช่วยครอบครัวพับถุงขาย รับจ้างห่อลูกอมตั้งแต่วัยเด็ก สุรชัย ย้อนอดีตในยุคปากกัดตีนถีบ 

หยิบจับงานมาหลายอย่าง  กระทั่งเข้าสู่ธุรกิจรองเท้า โดยรับซื้อรองเท้าแบรนด์ต่างๆจากโรงงานมา “จำหน่าย” แบบซื้อมาขายไป มีเพียงจักรยานเป็นยานพาหนะ ปั่นพาสินค้าไปป้อนผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายถึงที่  “

เริ่มจากศูนย์เลย ไม่มีอะไร ตอนนั้นขี่จักรยานไปขายรองเท้า แบกะดิน”

ก่อนที่ในปี 2531 ครอบครัวจะคิดการใหญ่ “สร้างโรงงาน” เป็นของตัวเอง เพราะการซื้อมาขายไป อยากได้กำไรเท่าไหร่ก็ต้อง “บวกลบ” ราคาขายกันเอง แต่ถ้ามีโรงงานเป็นของตัวเอง ควบคุมต้นทุนการผลิต แน่นอนน่าจะทำกำไรได้มากกว่า   

เงินทุน 200-300 ล้านบาท เป็นงบก้อนโตที่ทุ่มไปกับการสร้างโรงงาน เพื่อเดินเครื่องการผลิต “รองเท้าคู่แรก” ในปี 2532 แต่งบก็บานปลาย เพราะเริ่มต้นจากความไม่ชำนาญ ขาดองค์ความรู้ ทำให้ 5-6 ปีแรก ค่อนข้างสาหัส

“เกือบตาย !! ตอนนั้นมีปัญหามาก เราบริหารการผลิตไม่ได้ ผลิตสินค้าไม่ได้ตามคำสั่งซื้อ ช่วงแรกๆ เราทำไม่เป็น เพราะเราเก่งซื้อมาขายไป” เขาเล่าวิบากธุรกิจ  

โจทย์โหดบนเส้นทางธุรกิจไม่หมดแค่นั้น เพราะระยะแรก “เงินทุน” ก็เป็นปัญหา 

“ที่โหดสุดคือตอนไม่มีทุน เกือบจะเจ๊งเลยก็ว่าได้ บวกกับไม่ชำนาญอีก” 

ทว่า บริษัทก็ฟันฝ่าผ่านมาได้ และครั้งนั้นเป็นบทเรียนสอนให้ปรับ แก้ไขโครงสร้างธุรกิจใหม่ สิ่งไหนทำไม่ได้ ขาดทุน ก็ต้องตัดทอนทิ้ง ทำให้ธุรกิจค่อยๆ อยู่รอด 

จากจุดแรกเริ่ม ผลิตรองเท้ากีฬา และรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ให้กับแบรนด์ดังต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nike, Puma, Hush Puppy  จนสุดท้ายรักษาไว้เพียงการผลิตรองเท้าแตะที่เป็นความ “ถนัด” โดยมีแต้มต่อจาก “GBOLD Technology™” ซึ่งเป็นคุณสมบัติการแปรรูปวัตถุดิบและผลิตที่สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า 

สร้างจุดขายที่ว่า  “ดูก็สวย หยิบก็เบา ใส่ก็สบาย”

“เราเป็นผู้พัฒนาตลาด จากเดิมรองเท้าแตะธรรมดา ก็ใช้เทคโนโลยี GBOLD ผสมวัตถุดิบเม็ดพลาดสติกและยางพาราให้แตกต่าง จนตอนนี้เราได้เปรียบคู่แข่ง และพัฒนาไปเร็วกว่าคู่แข่ง” เขาย้ำ

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจรุดหน้าไปไกล คือ“การทุ่มเททำงานหนัก”

“ผมทำงานมากกว่าเวลาพักผ่อน คือ ตื่นก่อน นอนทีหลัง รู้ว่าตัวเองรักอะไร ชอบอะไร แล้วก็มุ่งมั่นไปกับมัน ซึ่งผมชัดเจนกับสิ่งที่ทำมาตลอด 42 ปี ก่อนที่จะสร้างโรงงาน ไม่มัวแต่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาอยู่เรื่อย ผมเชื่อว่าทุกอย่างประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น หากแต่จะต้องมีความรู้กับสิ่งที่ทำ ขยัน และอดทนให้มาก เท่านั้นสิ่งที่หวังไว้ก็จะค่อย ๆ เห็นผลได้ไม่ยาก” 

ปัจจุบันบิ๊กสตาร์ สร้างแบรนด์ “แกมโบล” อย่างจริงจัง โดยเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ต้องขึ้นเป็น “ผู้นำตลาด” รองเท้าแตะวัยรุ่น จากปัจจุบันเขายืนยันว่าเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจผู้บริโภค( Top of mind) แล้ว

มองในมุมส่วนแบ่งทางการตลาด เรียกว่า 3 แบรนด์แรก หายใจรดต้นคอกันอยู่ เพราะมาร์เก็ตแชร์ห่างกัน 2-3% เท่านั้น โดยมีแอ๊ดด้า เป็นเบอร์ 1 ตามด้วยกีโต้ และแกมโบล เบอร์ 3 ด้วยแชร์ 15%  แต่ 2 ปีมานี้ ตลาดหดตัวราว 10% จากภาวะเศรษฐกิจ เทียบกับอดีตที่ตลาดโตกว่า 10%     

“ปีนี้ใครจะมีกำไรดีหรือไม่ดี อยู่ที่ความสามารถและศักยภาพของแต่ละบริษัท” 

ขณะที่แกมโบล ปีนี้ยังตั้งเป้าหมายโต เพื่อไต่เพดานสู่เบอร์ 1  โดยจะมุ่งขยายตลาดใหม่ๆให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558 หรือกระทั่งตลาดตะวันออกกลางที่ยอดขายค่อนข้างดี

หากขึ้นเป็นเบอร์ 1 หมายความว่าจะต้อง “แซง” แบรนด์กีโต้ อีกยี่ห้อของกงสี 

เรื่องนี้ เจ้าตัวบอกว่า “เราต้องแข่งกันเองจะได้โต แต่เราไม่ได้ฆ่ากันให้ตาย” สุรชัยย้ำ โดยมี “ศักดิ์ดา โตรื่น” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด สำทับว่า... 

“ในมุมของการตลาดเราไม่รู้ความเคลื่อนไหวของกันนะครับ แต่ต้องการแชร์การเติบโต”   

สุรชัย ยังบอกว่า ที่ผ่านมา รองเท้าแกมโบลเคยใช้ศิลปินมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ นั่นเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้ยอดขายวิ่ง “เร็ว” ขึ้นก็จริง แต่เป็นระยะสั้น  วูบวาบ 

จุดกลยุทธ์เด่นที่เขาตระหนัก คือ “โปรดักท์” หรือผลิตภัณฑ์รองเท้าที่ดี มีการออกแบบและคุณภาพที่ดี จึงจะ “ขายได้ด้วยตัวเอง” แบบยั่งยืน

“สินค้าขายดีหรือไม่ดีอยู่ที่การออกแบบ” เพราะแกมโบลบางรุ่นสามารถยืนหยัดในตลาดได้นานถึง 5 ปี จากปกติ 1 ปี สินค้าก็เริ่มออกจากตลาด ทำให้บริษัทต้องออกสินค้าใหม่เฉลี่ย 5 แบบต่อเดือน เพื่อปลุกตลาด ขณะที่สินค้าในมือมีมากหลักพันรายการ(เอสเคยู) และแอ๊คทีฟในตลาด 200-300 เอสเคยู 

40 กว่าปี ในวงการรองเท้า นอกจากจะปลุกปั้นธุรกิจจากศูนย์จนเติบใหญ่ สิ่งหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจไม่แพ้ความสำเร็จ คือ .. 

การผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดัง ๆ ที่ตีตรา “Made In Thailand” ส่งออกไปขายทั่วโลก รวมถึงการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองอย่าง “แกมโบล”   ถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว